คำถามที่เป็นคำตอบ

นับเป็นเรื่องน่าดีใจกรณีการแก้ปัญหาชีวิตบนตึกสูงของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น มีพัฒนาการคืบหน้าในทางที่ดีเอามากๆ


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงค์       

นับเป็นเรื่องน่าดีใจกรณีการแก้ปัญหาชีวิตบนตึกสูงของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น มีพัฒนาการคืบหน้าในทางที่ดีเอามากๆ

“เห็นฝั่ง” นั่นคือปัญหามีทางออก และเป็นทางออกที่ให้ผลลัพธ์สุดสวย คือวิน-วินด้วยกันทุกฝ่าย

ทั้งฝ่ายเจ้าหนี้คือธนาคารไทยพาณิชย์ ฝ่าย PACE เองที่จะหลุดจากวงจรสภาพคล่องทางการเงิน แถมตัวตนก็ยังมีอยู่ และฝ่ายที่เข้ามาซื้อทรัพย์สิน PACE คือ บริษัท แสนสิริก็ได้สินทรัพย์คุณภาพในระดับราคาที่น่าพอใจไปต่อยอดธุรกิจของตัวเอง

เพซ ดีเวลลอปเมนท์ เป็นเจ้าของอาคารมหานคร ตึกที่จะทำสถิติสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นอาคารแบบ “มิกซ์ ยูส” มีส่วนของอาคารพักอาศัยระดับหรูภายใต้แบรนด์ริทซ์ คาร์ลตัน หอคอยชมเมือง และโรงแรมระดับ 5-6 ดาว

นอกจากนี้ยังเป็นเจ้าของโครงการนิมิตหลังสวน ซึ่งก่อสร้างฐานรากแล้ว และมียอดจองแล้วประมาณ 90% โครงการมหาสมุทร คอนโดมิเนียมตากอากาศหัวหิน และร้านอาหารระดับโลกดีน แอนด์ เดลูก้า

หนี้สินของ PACE ตกอยู่ในระดับกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้รายใหญ่คือธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่โครงการใหญ่ระดับนี้ ต้องเผชิญกับอุปสรรคที่คาดไม่ถึงมามากมาย ปัญหาเงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นปัญหาคุกคามหนักที่สุด

ยิ่งปล่อยให้ยืดเยื้อยาวนานก็จะยิ่งเป็นเนื้อร้ายกัดกร่อนขึ้นทุกวัน

สูตรสำเร็จของการแก้ปัญหา PACE คงหนีไม่พ้นไปจากสูตรเพิ่มทุนและตัดขายสินทรัพย์ ดังพาดหัวข่าว นสพ.ข่าวหุ้นธุรกิจ วันที่ 9 พ.ย.ศกนี้ว่า “ผ่าตัด PACE หมดจด เพิ่มทุน-ขายสินทรัพย์ : SIRI เหมานิมิตฯยกโครงการ-ซื้อห้องชุดเดอะริทซ์”

แต่การจะทำให้เกิดสูตรนี้ขึ้นมาได้นี่สิ ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก

“เงินไม่ใช่สิ่งชี้ขาดทั้งหมดแน่” เพราะหากจะใช้เงินถมเงินเข้าไป ก็คงจะถมไม่เต็ม แล้วก็คงจะพังไปด้วยกันทั้งเจ้าหนี้-ลูกหนี้ในที่สุด

การแก้ปัญหาเพซคราวนี้ ผมอยากจะเรียกว่าเป็น “นวัตกรรม” ของธนาคารพาณิชย์ยุคใหม่ ที่ไม่ใช่สักแต่หากินอยู่กับ “ส่วนต่างดอกเบี้ย” ที่รีดเอาไปจากลูกค้า และหากลูกค้ามีปัญหาก็ฟ้องยึดทรัพย์เท่านั้น

แต่แบงก์ไทยพาณิชย์ ทำหน้าที่เป็น “มิตรคู่คิด” แก่ลูกหนี้ด้วย

เริ่มจากการใช้ศักยภาพที่มีลูกค้าทั้งประเภทแข็งแรงและลูกค้าที่มีปัญหา เข้าจัดการให้เกิดการร่วมมือทางธุรกิจช่วยเหลือกัน เพราะทั้ง SIRI และ PACE ต่างก็เป็นลูกค้า SCB ด้วยกันทั้งคู่

นายธนาคารอย่างอาทิตย์ นันทวิทยา จัดการให้ SIRI เข้าซื้อทรัพย์สินบางส่วนหรือทั้งหมดในบางโครงการของเพซ ที่จะทำให้ SIRI นำไปต่อยอดทางธุรกิจสร้างผลกำไรได้

นั่นก็เป็นหลักประกันเปลาะหนึ่งว่าเพซอยู่รอดปลอดภัยแล้ว จากนั้นก็ทำการเพิ่มทุนให้เพซซึ่งแน่นอนราคาหุ้นอาจจะต่ำไปนิด แต่ในทางอนาคตระยะยาว เพซกลับมามีอนาคตแจ่มใสได้แน่

การประพฤติตนเยี่ยง “มิตรคู่คิด” ของนายแบงก์ใหญ่เที่ยวนี้ถือเป็นแบบควรค่าแก่การศึกษา

ส่วนหลักคิดที่ว่า ผู้มีความตั้งใจดีบวกกับมีศักยภาพควรได้รับซึ่งโอกาส ยังสามารถใช้ได้ดีหรือไม่คงถูกพิสูจน์ออกมาในอีกไม่ช้า

นี่คือเรื่องร้ายกลายเป็นดีในภาคเอกชน ที่ภาคเอกชนสามารถจัดการคลี่คลายปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยรัฐไม่ต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือแต่อย่างใด

แต่พอแว่บๆ มาฟัง 6 คำถามใหม่ของนายกฯตู่ (4 คำถามเดิม) ก็ได้แต่ทอดถอนหายใจ…เฮ้อ! เอาอีกแล้วหรือเนี่ย มันเป็นคำถามที่เป็นคำตอบในตัว

ไม่รู้จะถามไปทำไม คำตอบก็อยู่ในคำถามแล้วนี่ ไม่สร้างสรรค์!

Back to top button