PACE อนาคตของนักฝัน

เสี่ยยิ่ง หรือ นายสรพจน์ เตชะไกรศรี เป็นบุคคลในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสงสารที่สุดคนหนึ่ง...แต่ไม่ใช่คนเดียว....ของปี 2560 นี้อย่างแน่นอน


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เสี่ยยิ่ง หรือ นายสรพจน์ เตชะไกรศรี เป็นบุคคลในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสงสารที่สุดคนหนึ่ง…แต่ไม่ใช่คนเดียว….ของปี 2560 นี้อย่างแน่นอน

เหตุผลที่ชะตากรรมของเสี่ยยิ่งต้องมาถึง “หมากตาอับ” ยามนี้ มีรากฐานมาจากตัวตนของเขาเอง ไม่ใช่คนอื่น….ความเป็นนักฝันที่เหลือเชื่อ….Impossible Dreams นั่นเอง

โครงการมหานคร คือหนึ่งในความฝันที่ริเริ่มโดยเสี่ยยิ่ง และยังไม่บรรลุผลทั้งหมดจนครบถ้วน….แต่ความฝันยิ่งใหญ่ที่สร้างขึ้นมานี้แหละกลายเป็นมหาวิบากของเสี่ยยิ่งและบริษัทที่เขาถือหุ้นใหญ่คือ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE ต้องเข้าตาจนเพราะขาดสภาพคล่องรุนแรงและมีหนี้ท่วมตัว

เหตุมาจากการรับรู้รายได้เกิดขึ้นน้อยกว่าการลงทุนเป็นสำคัญ และมีตัวเลขที่แสนขี้เหร่ จากการที่มีหนี้เงินกู้ตามที่มีคนประเมินว่า ต้องชำระภายใน 1 ปี จำนวนประมาณ 15,500 ล้านบาท ขณะที่มีเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมแค่ 2,200 ล้านบาท และมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่ติดลบ 332 ล้านบาท

เสี่ยยิ่งดิ้นรนมาตลอดทั้งปีนี้ เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่สุมรุมรอบตัวอย่างหนัก ท่ามกลางคำถามมากมายเกี่ยวกับความชัดเจนของงบการเงิน และอนาคตธุรกิจ

หนึ่งในคำถามนี้ มาจาก ก.ล.ต. ที่ได้มีจดหมายเมื่อต้นเดือนตุลาคม ให้ PACE ชี้แจงการทำสัญญาร่วมทุนกับนักลงทุน 3 ราย ในรูป Consent Conditions Undertaking (CCU) ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทมีภาระผูกพันในการซื้อหุ้นบุริมสิทธิคืนจากคู่สัญญา และผลกระทบต่อภาระหนี้สินของบริษัท ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2560

ที่มาของคำถามจาก ก.ล.ต. เกิดจากกรณีที่ PACE รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ระบุว่า มีกำไรสุทธิมโหฬาร 5,310,48 ล้านบาท จากระยะเดียวกันปีก่อน ที่มีติดลบ 640.54 ล้านบาท ทำให้งวด 6 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิรวม 4,734.84 ล้านบาท ตรงข้ามกับขาดทุนสุทธิปีก่อนที่ 572.99 ล้านบาท รอดพ้นจากการที่จะมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบไปได้หวุดหวิด

แม้จะมีความพยายามตอบคำถาม แต่ความคลุมเครือยังคงเกิดขึ้นและเป็นแรงกดดันต่อไปไม่จบสิ้น จนกว่าความชัดเจนจะเกิดขึ้นจนสิ้นสงสัย

ท้ายสุด ก็….ไม่มีทางเลือกอื่นใด ต้องยอมรับสภาพตามที่ “เจ้าหนี้รายใหญ่ผู้แสนกรุณา” อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ให้คำชี้แนะ

การหาทางออกจากปัญหาหนี้ท่วม และขาดสภาพคล่อง ด้วยการตัดขาดสินทรัพย์บางส่วนในมือ และการเพิ่มทุน เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ 1) เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่สถาบันการเงิน 2) เพื่อการบริหารสภาพคล่องของบริษัท และ 3) การพัฒนาโครงการต่างๆ ของบริษัทในอนาคต

มติล่าสุดของ PACE ในการเพิ่มทุนมากกว่า 250% ล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของการ “ผ่าทางตัน” ที่ไม่มีทางเลือกอื่นเหลือให้มากนัก

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท PACE ครั้งที่ 11/2560 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา อนุมัติแผนการปรับโครงสร้างเงินทุนของบริษัท รวมถึงการจัดหาแหล่งเงินทุนของบริษัท โดยมีมติให้นำเสนอต่อที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 14 ธันวาคม 2560 เพื่อจัดหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม โดยการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทเดิม จากจำนวน 4,078.028 ล้านบาท เป็น 3,758.028 ล้านบาท โดยวิธีการตัดหุ้นที่จำหน่ายไม่ได้ แล้วเพิ่มทุนจดทะเบียนใหม่อีกไม่เกิน 13,024.619 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท รวมมูลค่าทุนจดทะเบียนใหม่ทั้งสิ้น 13,024,619,803 บาท

ทุนที่เพิ่มใหม่นี้ แบ่งออกเป็น

– จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวนไม่เกิน 7,516,056,394 หุ้น ในอัตราการจัดสรร 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 2 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 0.50 บาท

– จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) จำนวนไม่เกิน 1,500 ล้านหุ้น ไม่ระบุราคาขาย

– ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 1 (PACE-W1) จำนวนไม่เกิน 1,503.211 ล้านหน่วย เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ในอัตราส่วน 5 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ต่อ PACE-W1 จำนวน 1 หน่วย มีอายุ 6 เดือน โดยไม่คิดมูลค่า และมีราคาใช้สิทธิที่ 0.80 บาทต่อหุ้น โดยออกหุ้นเพิ่มทุนรองรับจำนวนเท่ากัน

– ออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท รุ่นที่ 2 (PACE-W2) เพื่อจัดสรรให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทที่จองซื้อและได้รับจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ออกใหม่ จำนวนไม่เกิน 2,505.352 ล้านหน่วย ในอัตราส่วน 3 หุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่ ต่อ PACE-W2 จำนวน 1 หน่วย มีอายุ 2 ปี โดยไม่คิดมูลค่า และมีราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญที่ 2 บาทต่อหุ้น โดยออกหุ้นเพิ่มทุนรองรับจำนวนเท่ากัน

การเพิ่มทุนมหาศาลกว่า 239.91% ในราคาขายแค่ 0.50 บาท ทำให้มีคำถามเกี่ยวกับส่วนต่ำมูลค่าหุ้น และส่วนของผู้ถือหุ้นที่อาจจะลดลง รวมทั้ง…ราคาหุ้นที่จะถดถอยลงเพราะ price dilution ในขณะที่รายได้จากการแปลงสิทธิ PACE-W1 และPACE-W2 ยังคงเป็นคำถามในอนาคตว่า จะมีคนแปลงสิทธิมากน้อยแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ยังไม่มีคนตอบ

หวังว่าเสี่ยยิ่ง จะเป็นคนตอบได้ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเดือนธันวาคมนี้

ไม่เพียงเพิ่มทุน ยังมีมติของบอร์ดว่าด้วย 1) การปรับโครงสร้าง Dean & DeLuca, Inc. โดยอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจัดกลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน ทำให้สามารถแบ่งแยกรายได้และค่าใช้จ่ายของแต่ละธุรกิจได้ดีกว่าโครงสร้างในปัจจุบัน 2) PACE และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทู จำกัด (บริษัทย่อย) ได้ลงนาม MOU กับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เพื่อการเจรจาซื้อขายและทำดิว ดิลิเจนซ์ โครงการนิมิต หลังสวน (ทั้งโครงการ) ห้องชุดที่พักอาศัยในโครงการเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน เรสซิเดนเซส บางกอก และส่วนที่เหลือทั้งหมด (จำนวน 53 ห้องชุด) ในโครงการอาคารชุดมหานคร

การผ่าทางตันดังกล่าวมา ยังเป็นแค่ “แสงสว่างปลายอุโมงค์” เท่านั้น….ยังไม่ใช่แสงสว่างที่แท้จริง เพราะยังมีคนวิเคราะห์ต่อไปว่า PACE ยังต้องมีปริศนาธรรมว่าด้วย การจัดการกับสินทรัพย์ทีเหลือที่ยังไม่มีคำตอบคือ

– ธุรกิจร้านอาหารและกาแฟ Dean & Deluca ซึ่งมีปัญหาขยายการลงทุนมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ไม่สำเร็จ ยังผลให้มีต้นทุน และค่าใช้จ่ายสูง มีส่วนทำให้กิจการขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องเป็นภาระแสนสาหัส

– คอนโดมิเนียมมหานคร ยังเหลือโอนอีกประมาณ 3 พันล้านบาท ซึ่งยังเป็นส่วนของ PACE ในส่วนจุดชมวิว แม้ในอนาคตจะมีกำไรเข้ามา แต่ก็ติดเรื่องเงินปันผลที่ต้องจ่ายให้กับ Apollo และ Goldman Sac ปีละ 2 พันล้านบาท และสะสมได้หากปีนั้นจ่ายไม่ได้

– วิลล่ามหาสมุทร มูลค่า 4 พันล้านบาท ขายได้ประมาณ 26.3% รอโอนกรรมสิทธิ์อยู่ และการขายสมาชิกในอนาคต

– โครงการคอนโดมิเนียม Windsel ที่ ถ.นราธิวาสฯ มูลค่า 3 พันล้านบาท ปัจจุบันยังขายไม่มาก

แค่นี้ ก็ทำให้นักฝันผู้ยิ่งใหญ่ระดับ ดอน กิโฮเต้ อย่าง เสี่ยยิ่ง ดูน่าสงสารมากขึ้นกว่าเดิม แม้จะพยายามผ่าทางตันเต็มที่แล้ว

แต่วววววว!!!

Back to top button