พาราสาวะถี
ปล่อยให้ลุ้นกันว่าการประชุมคสช.เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่แล้ว น่าจะมีข่าวดีเรื่องการปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม แต่หลังประชุมครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันหนักแน่น ที่ประชุมคสช.ได้ประเมินสถานการณ์ยังมีปัญหาหลายประการ แต่ขอย้ำทุกอย่างเดินตามโรดแมป ก่อนที่จะเติมความชัดเจนลงไปว่าไม่ต้องห่วงว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการไม่ทัน เพราะตนมีอำนาจในการขยายเวลาให้ได้
อรชุน
ปล่อยให้ลุ้นกันว่าการประชุมคสช.เมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่แล้ว น่าจะมีข่าวดีเรื่องการปลดล็อคพรรคการเมืองทำกิจกรรม แต่หลังประชุมครม. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันหนักแน่น ที่ประชุมคสช.ได้ประเมินสถานการณ์ยังมีปัญหาหลายประการ แต่ขอย้ำทุกอย่างเดินตามโรดแมป ก่อนที่จะเติมความชัดเจนลงไปว่าไม่ต้องห่วงว่าพรรคการเมืองจะดำเนินการไม่ทัน เพราะตนมีอำนาจในการขยายเวลาให้ได้
เป็นอันว่าจากนี้ไปไม่ต้องมาทวงถามกันให้เกิดความรำคาญและหงุดหงิดหัวใจ เมื่อท่านผู้นำเปิดออปชั่นพิเศษว่าด้วยการทดเวลาบาดเจ็บ นักการเมืองและพรรคการเมือง ก็ควรเลิกกังวลได้แล้ว แต่น่าเสียดายที่ความจริงผู้มีอำนาจน่าจะเลือกวิธีการบอกให้ชัดเจนไปเลยว่า จะปลดล็อคให้เมื่อใด เหมือนที่เรื่องเงื่อนเวลาของการเลือกตั้ง
พอเป็นอย่างนี้ฝ่ายที่สงสัยก็ยังอดที่จะตั้งคำถามไม่ได้ อย่างกรณีของ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช.ที่มองว่า เมื่อกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองบังคับใช้มากว่า 1 เดือนแล้ว ผู้มีอำนาจไม่ควรจะถ่วงรั้งเอาไว้ ไม่เช่นนั้นสิ่งที่ท่านผู้นำพูดมาตลอดว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายจะกลายเป็นเรื่องหลักลอย เชื่อไม่ได้ ทั้งนี้ เรื่องนี้น่าจะมีข้อยุติด้วยเหตุผลมากกว่าการแสดงอารมณ์ เพราะกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ตามความพอใจของใครหรือคนกลุ่มไหนได้
เป็นการแหย่เบาๆ แต่ก็คงจะไร้ความหมายเมื่อหัวหน้าคสช.ยืนยันมาอย่างนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว แม้จะไม่มีการปลดล็อคพรรคการเมืองที่มีอยู่ก็คงจะต้องเตรียมการในเรื่องที่สามารถทำได้ไว้ล่วงหน้าไปก่อน มิเช่นนั้น เมื่อถึงเวลาอาจจะดำเนินการในเรื่องต่างๆไม่ทัน ที่น่าเห็นใจคงหนีไม่พ้นพรรคที่เตรียมจะตั้งใหม่จะมีเวลาเตรียมตัวเพียงพอและทันการณ์หรือไม่
แต่หากเป็นพรรคที่จะต้องตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ของการต่อท่ออำนาจปัจจุบัน คงไม่มีปัญหาอะไร ทั้งจากเงื่อนไขการทดเวลาบาดเจ็บ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคงเป็นประเด็นการติดต่อทาบทามอดีตส.ส.ของพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วให้เปลี่ยนสีเสื้อเข้าไปร่วมสังกัด ซึ่งการพกดีกรีพรรคที่มีอำนาจปัจจุบันหนุนหลังน่าจะเพิ่มแรงจูงใจได้
ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งและเวลานี้ยิ่งคึกคักมากขึ้น คงหนีไม่พ้นการเจรจาต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมว นักการเมืองผู้หิวโหยและต้องการที่จะเกาะกุมกับกลุ่มที่เชื่อว่าจะเข้าไปมีอำนาจในการบริหารประเทศ ย่อมตาลุกวาวและคิดคำนวณถึงความคุ้มค่า แต่ว่าก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่พอมองไปยังฐานเสียงที่ตัวเองมีอยู่ก็เกิดอาการหวั่นไหว ไม่แน่ใจว่าตีจากพรรคเดิมไปแล้วจะได้รับเลือกกลับมาหรือเปล่า
แต่เพื่อความมั่นใจฝ่ายผู้เจรจาย่อมมีข้อเสนอสุดพิเศษทั้งเรื่องของกระสุนดินดำและพลังพิเศษ ที่ทำให้เชื่อว่าจะสามารถอุ้มคนเหล่านั้นเข้าไปนั่งในสภาได้อย่างแน่นอน ยิ่งเห็นวิธีการเลือกตั้งและกระบวนการต่างๆ ซึ่งผู้ยกร่างกติกาไว้แล้ว ยิ่งเอื้อให้มีโอกาสมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เห็นอาการของบางพรรคการเมืองที่จากเดิมคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหาร ต้องปรับท่าทีกันอุตลุด
งานนี้เป็นที่ชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่า ผู้ทำการรัฐประหารไม่ประสงค์ที่จะยืมจมูกใครหายใจในการสืบทอดอำนาจ การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้มีอำนาจต้องการเดินเกมและเดิมพันการเลือกตั้งด้วยตัวของตัวเอง ดังนั้น ประเด็นการตั้งพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นเสียงวิจารณ์ว่าเป็นพรรคของคสช.หรือพรรคทหารจึงไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลจากความเป็นจริง
แม้หลังประชุมครม.สัปดาห์ก่อน พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะยืนยันหนักแน่นว่าคสช.ไม่มีการตั้งพรรคการเมือง หรือสนับสนุนการจัดตั้งพรรคพลังชาติไทยที่กำลังเป็นกระแสข่าวอยู่เวลานี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นพี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์เพิ่งบอกนักข่าวไปหมาดๆว่า จะตั้งพรรคหากมีความจำเป็น ซึ่งเมื่อมองไปยังความจำเป็นที่บิ๊กป้อมสื่อแล้วมันค่อนข้างจะชัดเจนว่า พรรคของผู้มีอำนาจจะต้องเกิดขึ้น
เพียงแต่ว่า หากพิจารณาจากเงื่อนเวลาแล้ว พรรคพลังชาติไทยที่ปรากฏเป็นข่าวอาจเป็นแค่ตัวหลอก หรือเป็นพรรคการเมืองที่เตรียมจะจัดตั้งขึ้นจริง ภายใต้เครือข่ายของทหารที่เคยใกล้ชิดคนในคสช. เป็นการหยั่งเชิงแต่ไม่ใช่พรรคที่มีการเตรียมการกันอย่างแท้จริง เพราะพรรคที่จะเกิดขึ้นนั้นโครงสร้างมันจะเดินด้วยนายทหารทั้งหมดไม่ได้
เมื่อเห็น 6 คำถามบิ๊กตู่แล้ว ยิ่งชวนให้ติดตามว่าโฉมหน้าพรรคของคสช.นั้นจะเป็นอย่างไร ที่แน่ๆฟังจากเสียงของ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันได้ว่า พรรคทหารเกิดขึ้นแน่ เพราะเวลานี้ในพื้นที่ภาคใต้เริ่มมีการเดินสายหาเสียงกันแล้ว เพียงแต่สิ่งที่นิพิฏฐ์ขอร้องคือ อย่าอาย อย่าแอบ ขอให้ประกาศชัดๆว่าเป็นพรรคของใคร เพราะถนนสายเลือกตั้งยินดีต้อนรับทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคของใคร
ข่าวคราวการปรับครม.ท่านผู้นำบอกมาแล้ว ไม่ใช่เพราะมีใครทำงานบกพร่อง แต่ปรับย้ายให้เข้ากับสถานการณ์ รวมทั้งปฏิเสธการปรับลดโควตาทหารในคณะรัฐมนตรี และบอกอีกว่า ทำไมต้องรังเกียจทหาร ก่อนจะยืนยันจะทำให้ดีที่สุด เพื่อให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมย้ำการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาไม่เสียของ
ประเด็นทหารหรือนายพลจะลดจะเพิ่มเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แต่ข่าวที่หลุดออกมาถึงการเดินทางไปประเทศจีนของ มีชัย ฤชุพันธุ์ และ วิษณุ เครืองาม พร้อมนักธุรกิจนักการเมืองคณะหนึ่งเป็นสิ่งที่ชวนให้จับตามอง เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ตามมาว่าเป็นการเดินทางไปเพื่อพูดคุยและทาบทามดึงนักการเมืองเหล่านั้นมาร่วมรัฐบาลคสช.
แม้มีชัยจะบอกว่าไม่เป็นความจริง และคนเหล่านั้นก็เป็นกลุ่มก๊วนที่พบปะและเดินทางด้วยกันเป็นประจำ แต่พอเห็นรายชื่อทั้ง ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ และ กรพจน์ อัศวินวิจิตร ก็ทำให้เห็นนักการเมืองใหญ่ที่ยืนอยู่ข้างหลังทันที ถึงแม้ไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี แต่เชื่อว่าคอการเมืองทั้งหลายก็พอจะมองเห็นกันบ้างแล้วว่า พรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือพรรคการเมืองไหนบ้างที่จะสนับสนุนคนนอกมาเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า