BANPU กำไรสวย ช่วยไม่ไหว?

กลายเป็นหุ้นที่เข้าสูตร "กำไรสวย แต่ราคาย่ำแย่" ไปเต็มตัวเสียแล้ว สำหรับหุ้นของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เพราะแม้จะกำไรสวยสดงดงามทั้งไตรมาสสามและงวด 9 เดือน แม้จะยังไม่ครบสิ้นงวดปี ก็มีกำไรสุทธิสูงที่สุดในรอบ 5 ปีแล้ว แต่ราคาหุ้นกลับ "ไม่หือไม่อือ"....แถมทำท่าจะไหลลงเสียอีก


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

กลายเป็นหุ้นที่เข้าสูตร “กำไรสวย แต่ราคาย่ำแย่” ไปเต็มตัวเสียแล้ว สำหรับหุ้นของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เพราะแม้จะกำไรสวยสดงดงามทั้งไตรมาสสามและงวด 9 เดือน แม้จะยังไม่ครบสิ้นงวดปี ก็มีกำไรสุทธิสูงที่สุดในรอบ 5 ปีแล้ว แต่ราคาหุ้นกลับ “ไม่หือไม่อือ”….แถมทำท่าจะไหลลงเสียอีก

ตำราว่าด้วย Let profit run ใช้การไม่ได้กับหุ้นตัวนี้แล้วหรืออย่างไร….ทำไมหุ้นที่กำไรโดดเด่น กลายเป็นหุ้น “ที่ถูกเมิน” เช่นนี้….เป็นปริศนาข้อใหญ่ที่ต้องขบคิด

ผลประกอบการของ BANPU ที่ประกาศออกมาล่าสุด โดยนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ระบุว่า มีกำไรสุทธิ 2,025 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 2,792% เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 70 ล้านบาท ส่งผลให้ภาพรวมงวด 9 เดือนแรกมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 5,719 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 3,304% จากช่วงปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 168 ล้านบาท

รายละเอียดของการทำกำไรมากมายมาจากทางกลุ่มบริษัท มีรายได้จากการขายรวม 720 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,674 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 23% จากช่วงปีก่อน ด้วยแรงหนุนจากราคาตลาดถ่านหินที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าหงสา และ BLCP ยังเป็นไปตามแผน

กำไรสุทธิที่โดดเด่น ทำให้อนาคตยังคงสดใสตามแผนงานต่อไป ด้วยการเดินหน้าลงทุนในธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ตามกลยุทธ์ Banpu Greener & Smarter ที่วางไว้ เช่น ขยายกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น การวางระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบครบวงจรในไทยของ บ้านปู อินฟิเนอร์จี การเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในซันซีป กรุ๊ป และการลงทุนเพิ่มเติมของธุรกิจก๊าซธรรมชาติในสหรัฐอเมริกาเป็นแหล่งที่ 5

โดยเฉพาะการลงทุนเพิ่มเติมเป็นแหล่งที่ 5 (NEPA หรือ Northeast Pennsylvania) ในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของแหล่งก๊าซธรรมชาติ Marcellus shale ในมลรัฐเพนซิลเวเนีย เป็นจำนวนเงิน 210 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,196 ล้านบาท เพื่อถือครองผลประโยชน์ในฐานะผู้ดำเนินการผลิต และเป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนในแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สร้างกระแสเงินสดอยู่แล้ว มีกำไรที่รับรู้ได้ทันที มีความเสี่ยงต่ำ จึงเป็นปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มระยะยาวให้แก่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติของบ้านปู

กำไรจากธุรกิจหลัก 2 ด้าน ในการซื้อขายถ่านหิน และโรงไฟฟ้าหลายแนวทาง ภายใต้บริษัทลูก บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ซึ่งมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 27 โครงการ ในหลายประเทศทั้ง ไทย สปป.ลาว จีน และญี่ปุ่น กำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 2,789 MW และมีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 14 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,068 MW ทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินราคาหุ้นเป้าหมายไว้ที่ระหว่าง 25.00 – 31.50 บาท…..แต่ราคาเป้าหมายก็ยังเป็นแค่เป้าหมายที่ไปไม่ยอมถึงอยู่ดี

หลายเดือนมาแล้วที่ราคาหุ้น BANPU ทำท่าขยับขึ้นเหนือ 20.00 บาท แต่ก็ไม่รอดสันดอน เพราะท้ายสุดก็ไม่สามารถฝ่าแนวต้านเหนือ 18.00 บาทขึ้นไปได้ กลายเป็นหุ้นที่ฉับไวต่อข่าวร้าย และเฉยชาต่อข่าวดี…โดยปริยาย

น้ำท่วมในจีน หรือ ออสเตรเลีย….ก็เป็นจุดถล่มราคา โดยข้ออ้างประเภทถ่านหินกลัวน้ำ

ราคาถ่านหินร่วง…..ก็อ้างว่าเป็นพลังงานสกปรกที่ไร้อนาคต เพราะทำให้โลกร้อน

โรงไฟฟ้าปิดซ่อม…ก็อ้างเหตุว่ารายได้หด

จะหาข้ออ้างดีๆ มาดันราคาหุ้น….ไม่ได้เลยรึไง เพราะขนาดกำไรมหาศาล ยังร่วงหรือไม่ขานรับเอาเสียเลย….งึดดดดดีแท้น้อ

ดูเหมือนว่านักลงทุนที่ถือหุ้น BANPU ในปัจจุบันนี้ จะเป็นคนละพวกกับสาวกหุ้นตัวนี้ที่ราคาระดับ 800.00 ก่อนการแตกพาร์ครั้งใหญ่ เมื่อ 4 ปีก่อน…ชนิดคนละขั้ว หรือไม่ก็เป็นคนเดิมแต่มีจิตสำนึกคนละแบบที่ไม่เหมือนเดิม 

ถ้าความทรงจำของนักลงทุนไม่ผิดพลาดหรือเลอะเลือนเกินขนาด เพราะติดเชื้ออัลไซเมอร์เข้าขั้นรุนแรง นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ในอดีต ล้วนถือเอาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เป็นหุ้น “ต้องเชียร์” มายาวนานในอดีต

ขนาดราคาร่วงจากเหนือ 800.00 บาท ลงมาที่ระดับ 200.00 บาทก่อนแตกพาร์ และแตกพาร์พร้อมกับเพิ่มทุนมโหฬาร แถมออกตั๋วบี/อี กู้เงินไปหมุนหนี้ระยะสั้นมหาศาล….นักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดก็ยังพากันเชียร์ซื้ออีก ด้วยข้ออ้างว่า การเติมสภาพคล่องหุ้นในตลาด จะทำให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้น

จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ที่เริ่มมีการปรับลดท่าทีลงไปมาก ทำให้บรรดานักลงทุนจำนวนหนึ่งที่เคยเชื่อว่าตนเองเคย “นอนกอดหุ้นทองคำ” เริ่มเปลี่ยนมุมมองไปมาก….ส่วนหนึ่งเพราะถูกสภาพบังคับ ต้องเลือกเอาระหว่างการตัดขาดทุน กับ ยอมตนมอบตัวเป็นประกันให้กับหุ้นที่ยังไม่รู้ว่าจะกำไรหรือไม่ในอนาคต..ทำให้หุ้นกลายสภาพจากหุ้น “ร้อน” เป็นหุ้น “เย็น” โดยปริยาย

ไม่เย็นธรรมดา แต่ยังเผลอยะเยือกเสียอีกในยามที่จะขึ้น แต่กลับ….ร้อนยามปรับตัวลง

อย่าได้แปลกใจว่า ทำไมกำไรสวย ราคาหุ้นร่วง….เพราะมันมีที่มา และที่ไปน่ะสิ….ถามได้

แล้วก็โปรดอย่าถาม…ว่าฉันเป็นใคร เมื่อในอดีตเลย….และโปรดอย่าถาม ว่าอดีตฉันเคยรักใคร….เพราะตอบไม่ได้(ว่ะ)

อิ อิ อิ

Back to top button