พาราสาวะถี
บรรยากาศการเปิดให้ประชาชนตอบคำถาม 6 ข้อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมานั้น เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคำถาม 4 ข้อก่อนหน้าเปิดให้ประชาชนร่วมตอบเกือบครึ่งปี มีคนสนใจแค่ล้านกว่าราย และเมื่อเป็นการใช้กลไกของระบบราชการทุกอย่างจึงเงียบเชียบและเรียบร้อย จนคนลืมกันไปหมดแล้ว
อรชุน
บรรยากาศการเปิดให้ประชาชนตอบคำถาม 6 ข้อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านเครือข่ายของกระทรวงมหาดไทย ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมานั้น เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคำถาม 4 ข้อก่อนหน้าเปิดให้ประชาชนร่วมตอบเกือบครึ่งปี มีคนสนใจแค่ล้านกว่าราย และเมื่อเป็นการใช้กลไกของระบบราชการทุกอย่างจึงเงียบเชียบและเรียบร้อย จนคนลืมกันไปหมดแล้ว
อานิสงส์ที่หัวหน้าคสช.อยากได้คือการสร้างความชอบธรรมต่อการอยู่ต่อ ทั้งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองที่จะชูธงนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้าสู่สนามเลือกตั้ง และการเสียสัตย์เพื่อชาติเพื่อเข้ามากุมบังเหียนบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าจะให้มีศักดิ์ศรีและสง่างาม คนที่มาตอบคำถามควรจะต้องมีจำนวนมากพอ อาจถึงระดับ 10 ล้านคน เหมือนที่ท่านใช้อ้างในการชูรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยว่าชอบธรรมเพราะผ่านการทำประชามติของประชาชนนั่นปะไร
อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องสิทธิในการสนับสนุนพรรคการเมืองของคสช. นักวิชาการหรือนักการเมืองที่ได้ตอบคำถามดังกล่าวไปแล้ว ก็มีแง่มุมที่น่าสนใจ แต่รายของ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ยังสวมหัวโขนกกต.รักษาการอยู่ยิ่งน่าสนใจมากกว่า ต้องตีความหมายว่าคสช.หมายถึงสมาชิกคสช.ในฐานะที่เป็นตัวบุคคล หรือคสช.ที่เป็นหนึ่งในอำนาจรัฐ
หากคสช.หมายถึงแค่ตัวบุคคลแต่ละคน ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลในการสนับสนุนพรรคการเมือง ตามที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.ให้สัมภาษณ์ แต่หากคสช.หมายถึงองค์อำนาจที่ชี้เป็นชี้ตายในเรื่องต่างๆ ของบ้านเมืองได้ และการที่คสช.จะประกาศว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด คงไม่เหมาะสมและต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายในหลายมาตรา
หากเป็นช่วงเวลาที่มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สมชัยพูดอย่างนี้คงได้รับเสียงปรบมือดังกึกก้อง แต่พอมาพูดในยุคที่มีมาตรา 44 อยู่ในมือผู้มีอำนาจและตัวเองก็ถูกเซตซีโร่ไปแล้ว น้ำหนักมันจึงลดน้อยถอยไป มิหนำซ้ำ พวกที่เคยเป็นกองเชียร์กกต. เวลานี้กลับหลงชื่นชมและเชียร์รัฐบาลรัฐประหารอย่างไม่ลืมหูลืมตา คนที่เคยสร้างวลีทำการใหญ่ให้ต้องเอียง จึงได้แค่พูดเพื่อระบายเท่านั้น
จะว่าไปแล้วถ้าไม่มีประเด็น 6 คำถามโผล่มาในห้วงนี้ กระแสเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี ด้วยการโฟกัสไปยังบุคคลที่อยู่ในข่ายคงจะร้อนแรงกว่าใครเพื่อน ก็ถือเป็นยุทธวิธีของท่านผู้นำทั้งการโยนหินถามทางและเบี่ยงกระแส แย่งชิงพื้นที่ข่าวได้อย่างน่าชื่นชม กระนั้นก็ตาม ว่ากันด้วยการเขย่าเก้าอี้รัฐมนตรี ก็มีหลายเสียงที่เสนอแนะและวิจารณ์อย่างน่าสนใจ
โดย สุริยะใส กตะศิลา มองว่า ต้องยอมรับ 3 ปีกว่าที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีหลายกระทรวงสอบไม่ผ่าน และพิสูจน์พอแล้วว่าการเอาทหารมาเป็นรัฐมนตรีมากเกินไปไม่ตอบโจทย์ ทำให้ปัญหาพุ่งกดดันไปที่ตัวพลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว เพราะยังมีต้นทุนมากกว่าคนอื่นอยู่ ที่สำคัญการปรับครม.โค้งสุดท้ายต้องไม่ใช่แค่เปลี่ยนตัวคนหรือย้ายสลับเก้าอี้ แต่ต้องกล้าเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองในการแก้ปัญหาด้วย
ไม่เพียงแค่แนะแนวทางการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลเท่านั้น สุริยะใสยังเสนอวิธีบริหารจัดการด้วยว่า นอกจากรัฐมนตรีแต่ละคนต้องรับผิดชอบงานในกระทรวงของตัวเองแล้ว ควรบูรณาการกลุ่มงานครม. เพื่อรับผิดชอบปัญหาในแต่ละกลุ่มงาน เช่น กลุ่มงานปฏิรูปประเทศ กลุ่มงานแก้ปัญหาปากท้องเฉพาะหน้า กลุ่มงานแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลุ่มงานปรองดองสมานฉันท์ แหม!ถ้าถึงขนาดนี้ ก็ขอเสนอให้บิ๊กตู่ดึงบักใสมาร่วมครม.เลยแล้วกัน
จะว่าไปหลายเสียงที่วิจารณ์นั้น จำนวนไม่น้อยเหมือนจะเต็มไปด้วยความหวังดีและมีนัยแอบแฝง แต่รายของ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี อดีตที่ปรึกษาของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แม้จะเป็นฝ่ายตรงข้ามหรือปฏิปักษ์ต่อคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน ก็ยังถือว่าเป็นความเห็นที่น่าคิดอยู่ไม่น้อย การปรับครม.ควรคิดเรื่องงานของประเทศชาติมากกว่าเพื่อนรักรู้ใจ ต้องรอดูว่านายกฯ จะจับย้ายเพื่อนรักไปไว้กระทรวงไหน
ก่อนหน้านี้พอโดนด่าจากกระทรวงนี้ก็สลับไว้กระทรวงโน้น ไปอยู่ไหนก็ทำงานไม่ได้ หากเป็นรัฐบาลเลือกตั้งให้พักไปแล้ว นี่คือความแตกต่างอย่างเด่นชัดของรัฐบาลที่ประชาชนเลือกกับรัฐบาลรัฐประหาร ไม่เพียงแต่จะอุ้มเพื่อนเท่านั้น ตามข่าวยังแว่วมาด้วยว่า ที่มีเสียงเรียกร้องให้ปรับรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจ ทำไปทำมา นอกจากจะเปลี่ยนในลักษณะโยกสลับแล้ว ยังมีข่าวแว่วมาว่า การบริหารจัดการวางตัวครม.หนนี้ ท่านผู้นำยังให้ความไว้วางใจต่อหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในการเลือกสรรคนมาร่วมงานอีกต่างหาก
บางทีก็ต้องเห็นใจ จะเปลี่ยนครั้งใหญ่ จะไปหาใครที่ยอมเอาชื่อเสียงมาเสี่ยงคงยาก ก็ต้องใช้ของเก่าที่มีอยู่ แล้วก็ไปเจรจาดึงเอาพลเรือนบางส่วนที่ภาพไม่เสียหาย และบางรายอาจเป็นอดีตนักการเมืองมาร่วมทัพ เพื่อทำให้คนเห็นว่า ผู้นำรัฐประหารไม่ได้รังเกียจนักการเมืองอย่างที่มีการกล่าวหากัน หรืออีกทางก็เป็นการแสดงไมตรีทอดสัมพันธ์ต่อท่อกันไปจนถึงหลังเลือกตั้งเพื่ออุ้มนายกฯคนนอกมาสืบทอดอำนาจตามความต้องการ
วิธีบริหารแบบผู้นำกองทัพของบิ๊กตู่นั้น อาจจะดีในช่วงแรกแต่พอนานวันคนน่าจะเริ่มเบื่อ เหมือนอย่างที่พลเอกพัลลภระบุว่า เห็นทุกวันศุกร์พลเอกประยุทธ์ออกมาอบรมประชาชนเหมือนพูดฝึกทหารใหม่ ยืนหยัดพูดมา 3-4 ปี ชาวบ้านก็ปิดทีวีกันหมด จะฝึกประชาชนให้เหมือนทหารไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องบอกกันก็คือ ยิ่งกับประชาชนยุคโซเซียลมีเดีย ยิ่งครอบงำหรือชี้นำได้ยาก
ไม่ต่างจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่พูดถึงกรณีทหารเชิญตัวแกนนำชาวสวนยางที่จังหวัดตรังเข้าค่ายทหารเพื่อไม่ต้องการให้มาประท้วงที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า ที่ว่าธรรมชาติของทหารผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องฟังผู้บังคับบัญชานั้น ปัญหาของประชาชนจะใช้ระบบบังคับบัญชาเพื่อแก้ไขปัญหาคงจะไม่ได้ เช่นเดียวกับการปรับครม. ถ้าเปลี่ยนคนแล้วนโยบายยังเหมือนเดิมก็ได้ผลเท่าเดิม สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าพรรคเก่าแก่ไม่ได้บอกก็คือ ถ้าเปลี่ยนคนเป็นคนใหม่ก็อาจจะพอได้ แต่ถ้าเป็นคนเดิมแค่เปลี่ยนกระทรวงนั่นจะยิ่งหนักกว่าคนใหม่และนโยบายเดิมเสียอีก