ต้องเร่งขยายสนามบิน
ใจหายนะครับ ใจหายเลยที่ทีมฟุตบอลอิตาลีตกรอบ ไม่ได้ไปเวิลด์ คัพรอบสุดท้ายที่รัสเซีย เป็นการตกรอบครั้งแรกในรอบ 60 ปี ซึ่งตอนนั้น ผู้เขียนยังอายุแค่ 4 ขวบเท่านั้น
ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงค์
ใจหายนะครับ ใจหายเลยที่ทีมฟุตบอลอิตาลีตกรอบ ไม่ได้ไปเวิลด์ คัพรอบสุดท้ายที่รัสเซีย เป็นการตกรอบครั้งแรกในรอบ 60 ปี ซึ่งตอนนั้น ผู้เขียนยังอายุแค่ 4 ขวบเท่านั้น
ช่วง 6 ทศวรรษ ชื่อเสียงฟุตบอลอิตาลีจะเป็นรองก็แค่บราซิลเท่านั้น เคยได้แชมป์เวิลด์ คัพ 4 สมัย เป็นรองแชมป์ 2 สมัย สไตล์บอลอิตาลี คือเล่นไปเรื่อยๆ เน้นรับเหนียว คอยจังหวะคู่แข่งเปิดช่อง แล้วอาศัยกองหน้าจัดจ้าน เช่น บักโจ้ เข้าทำ
ภาพที่เห็นอิตาลีจนชินตา คือรอบแรกๆ จะเล่นอืดเฉื่อยเนือย แต่พอเข้ารอบลึกๆ ก็จะค่อยเก่งขึ้นๆ แล้วก็ขึ้นไปคว้าถ้วยแชมป์ในที่สุด แต่บอลโลกคราวนี้ อิตาลีสปีดฉีกหนีแรงเฉื่อยไม่ทัน ต้องตกรอบคัดเลือกไปอย่างน่าเสียดาย
สีสันเวิลด์คัพที่รัสเซียปีหน้าคงจะขาดหายไปไม่น้อย เมื่อขาดทีมจอมอืดอย่างอิตาลี
ช่วงนี้ งบดำเนินการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายแหล่ก็ได้รับการประกาศออกมากว่า 90% แล้ว ผมสนใจหุ้นกลุ่มสายการบินครับว่า ยังคงเวียนว่ายตายเกิดหรืออยู่ดีเป็นไฉนเพียงใด
กลุ่มหุ้นสายการบินในตลาดหลักทรัพย์มีอยู่ด้วยกัน 4 บริษัท นั่นคือ การบินไทย หรือ THAI, ไทยแอร์ เอเชีย หรือ AAV, บางกอก แอร์เวย์ หรือ BA และ นกแอร์ หรือ NOK
ปรากฏว่ายังคงซมพิษขาดทุนเสีย 3บริษัท คือ THAI, BA, NOK และเหลือรอดกำไรเพียงบริษัทเดียวคือ AAV แต่ก็เป็นกำไรที่ถดถอยลง
THAI ขาดทุน 1,814 ล้านบาท งวด 9 เดือนปีนี้ขาดทุนรวม 3,853 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 3,879 ล้านบาท
NOK ภายหลังเปลี่ยนตัวซีอีโอ มีผลขาดทุนลดลงมา ไตรมาสนี้ขาดทุน 689 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24% ส่วนงวด 9 เดือน ขาดทุนรวม 1,598 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20%
BA ขาดทุน 157 ล้านบาท ขณะช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 662 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือนพลิกมาขาดทุน 142 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนกำไร 2,087 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งเดียวของสายการบินที่กำไร คือ แอร์เอเชีย มีกำไร 260 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 34% และงวด 9 เดือนมีกำไร 1,001 ล้านบาท ลดลงมาจากงวดเดียวกันของปีก่อนถึง 45%
ภาพรวมก็มาจากเหตุปัจจัยในเรื่องของต้นทุนน้ำมันที่แพงขึ้น และสงครามราคา คงต้องรอลุ้นกันต่อไปในไตรมาส 4 แหละครับ
แต่ธุรกิจคู่ขนานสายการบิน นั่นคือสนามบิน ซึ่งถึงแม้ขณะนี้งบงวดปี (สิ้นสุดเดือน ก.ย. 60) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะยังไม่ออก แต่ก็เชื่อขนมกินได้เลยว่าสวยสดงดงามแน่
ผลประกอบการ AOT ขยายตัวมาทุกไตรมาส และทำสถิตินิวไฮตลอดเวลา ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าประเทศ และความนิยมในการเดินทางด้วยเครื่องบินในประเทศ
ลองดูสนามบินต่างๆ ในความดูแลของ AOT เถอะครับ อยู่ในสภาพแออัดยัดทะยานแทบปริแตกกันทั้งนั้น
ท่าใหญ่อันดับหนึ่งคือ สุวรรณภูมิ รวมตัวเลขเบ็ดเสร็จออกมาปรากฏว่า จำนวนนักท่องเที่ยวทะลักเกินความสามารถในการรองรับเข้าไปถึง 14 ล้านคน จาก ‘คะแพซิตี้’ 45 ล้านคน
ท่าใหญ่อันดับสอง ดอนเมือง ก็แสดงตัวเลขออกมาเป็นที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ เกินขีดจำกัดไป 7.18 ล้านคน จากความสามารถในการรองรับได้ 30 ล้านคน
รองลงมาเป็นสนามบินหลักในภูมิภาคอย่าง ภูเก็ต ตัวเลขทะลุเกินไปเกือบ 4 ล้านคน จากความสามารถในการรองรับที่มีเพียง 12.5 ล้านคน
และหากว่านี่ยังไม่เพียงพอ…
ขยับลงใต้ไปอีกหน่อยคือ หาดใหญ่ หรือจะเบนเข็มขึ้นเหนือไปสำรวจที่ เชียงใหม่ ก็พบว่าตัวเลขล่าสุดทะลักเกินไปเกือบ 2 ล้านคน จากจำนวนที่รองรับได้น้อยนิดเพียง 2.5 ล้านคน และ 8 ล้านคน ตามลำดับ
ครับ ข้างต้นเป็นข้อมูลเชิงปริมาณสามารถใช้ในการบ่งชี้ วิกฤต ของ AOT คือ ความแออัดยัดทะยาน หรือปัจจัยนำมาซึ่งความล่าช้าในการให้บริการ
ขณะเดียวกัน ข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ โอกาส ของ AOT ด้วยก็คือ การขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญของฐานผู้ใช้บริการ หรือปัจจัยนำมาซึ่งการเติบโตของรายได้
ปัญหามีความชัดเจนอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า สนามบินหลักๆ ทั้งหลาย ไม่สามารถรองรับการขยายตัวของผู้โดยสารและเที่ยวบินต่างๆ ได้อย่างมาก
คงต้องเร่งมือขยายสนามบินต่างๆเป็นการใหญ่แล้วล่ะครับ อะไรที่เป็นอุปสรรคไม่ว่าข้อกฎหมาย ปัญหาทางเทคนิคต่างๆเช่นราคากลาง ที่ไม่สอดคล้อง ก็ต้องเร่งขจัดให้สิ้นไป
ไม่เช่นนั้น สนามบินไทย ไม่ว่าสุวรรณภูมิ ดอนเมือง รวมทั้งสนามบินหลักในภูมิภาค คงจะแตกในไม่ช้า