BSM ฉลาดซื้อไม่ใช้เงินสด

การเข้าซื้อโครงการแบบไม่ใช้เงินสดครั้งล่าสุดของบริษัท บิวเดอสมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ BSM บริษัทที่มีธุรกิจหลักค้าวัสดุตกแต่งภายใน ที่กำลังพยายามรุกขยายเข้าสู่โครงการอสังหาริมทรัพย์ทางลัด ไม่ใช่ "การเปิดบริสุทธิ์" ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่สอง....ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งที่สองที่ไม่เหมือนเดิม


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

การเข้าซื้อโครงการแบบไม่ใช้เงินสดครั้งล่าสุดของบริษัท บิวเดอสมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ BSM บริษัทที่มีธุรกิจหลักค้าวัสดุตกแต่งภายใน ที่กำลังพยายามรุกขยายเข้าสู่โครงการอสังหาริมทรัพย์ทางลัด ไม่ใช่ “การเปิดบริสุทธิ์” ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่สอง….ที่น่าสนใจคือเป็นครั้งที่สองที่ไม่เหมือนเดิม

ทำอย่างกับสาวน้อยใจแตกที่มีประสบการณ์ “เสียสาว” มาแล้วโชกโชนงั้นแหละ ทั้งที่ว่ารายละเอียดของครั้งหลังสุดนี้ ไม่เหมือนเดิมครั้งแรก ที่ไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่เพราะเรื่องของถูกพักซื้อขายหุ้น หลังจากออกข่าวเพิ่มทุนมาหยกๆ เพื่อสว็อปหุ้นกับเจ้าของโครงการเดิม….นั่นเป็นปัญหาเทคนิคเล็กน้อย ของการสื่อความปกติที่เกิดขึ้นได้ธรรมดา

คณะกรรมการบริษัท BSM ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน มีมติอนุมัติรายการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ชื่อ The Teak Sukhumvit 39 จากเจ้าของโครงการเดิม บริษัท แอล เค เอช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด

The Teak เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมสูง 8 ชั้น จำนวน 70 ยูนิต สำหรับเป็นที่พักอาศัยในย่านใจกลางสุขุมวิท มีมูลค่าซื้อขายที่ตีราคากันระดับ 145 ล้านบาท รวมค่าที่ดินและค่าใช้จ่ายเตรียมการเบื้องต้น อาทิ ค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการควบคุมงานก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายทางการตลาด เป็นต้น

โครงการดังกล่าว ถือว่าขายได้ดี เพราะปัจจุบันมียอดการจองซื้อจำนวน 68 ยูนิต จาก 70 ยูนิต หรือคิดเป็น 97.14% ของจำนวนห้องชุดทั้งหมด แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต้องสร้างต่อก่อนส่งมอบ

วิธีการเข้าซื้อโครงการ อาศัยวิศวกรรมการเงินเข้าช่วย ด้วยการที่ BSM จัดตั้งบริษัทย่อย ชื่อ บริษัท ทีค ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1.0 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 10,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท โดย BSM ถือหุ้น 99.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

การเข้าซื้อดังกล่าว ไม่มีการใช้เงินสด โดยที่ BSM ทำการออกหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น ตีราคาขายหุ้นละ 0.65 บาท (มูลค่าพาร์หุ้นละ 0.10 บาท) ให้กับผู้ถือหุ้นของ บริษัท แอล เค เอช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในลักษณะของการทำสว็อปหุ้น โดยจัดสรรหุ้นให้แก่ นายวรุตม์ ภาณุพัฒนพงศ์ จำนวน 140 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลืออีก 60 ล้านหุ้น แบ่งเฉลี่ยให้กับอีก 3 คนคือ นายวิศวัฒน์ แสงอรุณ, นายภูริชญ์ กูลโฆษะ และนายพรรษนนท์ ฉินทองประเสริฐ

วิศวกรรมการเงินดังกล่าวทำให้ทรัพย์สินของบริษัท แอล เค เอช ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กลายมาเป็นทรัพย์สินของบริษัทย่อยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของ BSM โดยที่บริษัทแม่ไม่ต้องปรับแก้โมเดลธุรกิจใหม่ แต่ได้เพิ่มสินทรัพย์เข้ามาผ่านทางบริษัทย่อยในเครือข่ายแทน

ที่สำคัญการสว็อปหุ้น ทำให้เป็นการเทคโอเวอร์โครงการโดยไม่ใช้เงินสด (หรือใช้น้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญ) อีกครั้ง

ผลของการสว็อปหุ้น ทำให้ BSM ต้องเพิ่มทุนอีก 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 9.5% ของจำนวนหุ้นเดิมในราคาที่สูงกว่าพาร์ ก็ไม่ได้ทำให้เสียหายอะไรเพราะ 1) ไม่เกิดผลกระทบเชิงลบต่อราคาหรือ price dilution 2) ส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเพราะขายหุ้นในราคาสูงกว่าพาร์ มีส่วนเหลื่อมมูลค่าหุ้นเพิ่ม….แม้จะต่ำกว่าราคาหน้ากระดาน ก็ไม่ใช่ประเด็น

ก่อนหน้านี้ในต้นปี 2559 มีการตัดสินใจสำคัญก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม โดย BSM เข้าร่วมลงทุนในลักษณะเดียวกันในโครงการ แซน-สรา ที่หัวหิน ประกอบไปด้วยที่พักอาศัยแบบวิลล่า และคอนโดมิเนียมสไตล์รีสอร์ท ที่มีการบริการ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ต่อจากพาร์ตเนอร์ร่วมพัฒนาโครงการหลักๆ 3 ราย ได้แก่ แบล็คเมาเทนท์, เดอะโบว์มอนท์พาร์ทเนอร์ชิป และ IMG เพื่อเน้นเป็นสไตล์ Retirement Village ที่ตอบโจทย์คนวัยเกษียณ ที่มีการเติบโตสูง

โครงการดังกล่าว แม้จะน่าสนใจและคาดหมายผลตอบแทนระยะยาวได้ดีมาก เพราะสร้างบนพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ เป็นวิลล่า 13 ยูนิต พื้นที่ใช้สอยประมาณ 180 ตารางเมตร และคอนโดมิเนียม 30 ยูนิต และเพนท์เฮาส์ 13 ยูนิต พื้นที่ใช้สอย 120-180 ตารางเมตร ราคาขายเฉลี่ยยูนิตละ 8-13 ล้านบาท….และศึกษารูปแบบโครงการมานานกว่า 2 ปี แต่ผลพวงของโครงการขนาดใหญ่ที่ไม่ชำนาญการมาก่อน เกิดมาเป็นทางลบชั่วคราวเพราะมีขนาดใหญ่กว่าการลงทุนอื่นๆ ของ BSM ทำให้งบกำไรขาดทุนปี 2559 ของ BSM ติดลบที่ระดับ 10.64 ล้านบาท เทียบกับปี 2558 ที่มีกำไรสุทธิ 14.62 ล้านบาท

นานกว่า 1 ปีที่ราคาหุ้น BSM ร่วงไปขี้เหร่แถวๆ 0.40 บาท มายาวนานหลายไตรมาส เพราะฤทธิ์ของการเพิ่มทุนมหาศาลกว่า 100% แถมมีวอร์แรนต์เป็นหางว่าวอีก นอกเหนือจากการก่อหนี้ด้วยการออกตราสารหนี้ตามมา

โมเดลตอนต้นปี 2559 ไม่ต่างกันจากครั้งนี้มากนัก เพราะ BSM ก็ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา โดยมีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แล้วเข้าถือหุ้นทั้ง 100% โดยแหล่งเงินทุนในการลงทุนโครงการนี้จะมาจากเงินที่ได้จากการออกวอร์แรนต์ 60 ล้านบาท เงินกู้จากสถาบันการเงินที่บริษัทยังมีความสามารถในการกู้ได้อยู่ถึง 150 ล้านบาท…รวมทั้งเพิ่มทุนแบบ RO 300 ล้านหุ้น หรือ 150 ล้านบาท และการออกหุ้นกู้อีก 200 ล้านบาท มาสนับสนุนโครงการ

การเลือกช่วงจังหวะลงทุนใน The Teak นี้ เป็นจังหวะเดียวกันกับที่งบการเงินของ BSM เริ่มกลับมาเทิร์นอะราวด์สวยงามอีกครั้ง หลังจากที่ซวนทรุดในปี 2559 มายาวนาน…ส่วนหนึ่งเกิดจากธุรกิจเดิมของบริษัท ดีแอนด์ดับบลิว (เอเชีย) จำกัด (D&W) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายประตู หน้าต่าง กลับมามีผลกำไร หลังจัดการต้นทุนที่ดี….จึงเป็นจังหวะเหมาะ เพราะไม่เข้าข่าย “จับปลาหลายมือ…แล้วจะถือได้อย่างใด” แม้แต่น้อย

งานนี้ถือว่าคู่หู “แฝดคนละฝา” อย่าง นายสุเรซ ซูบรามาเนียม ประธานกรรมการบริหาร และนายสัญชัย เนื่องสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ….ฝีมือดีอย่างมืออาชีพ ถนัดทั้งสร้างโอกาส และป้องกันความเสี่ยง ตามสูตร “รุกก็คม รับก็เหนียว”…. ไม่แข็งทื่อมะลื่อเป็นปูแช่แข็งอลาสก้า

มิน่า …. ราคาหุ้น BSM ไม่ยอมลงใต้ 0.70 บาทสักที….ตรงนี้แหละน่าเบื่อ เหมือนดูทีมของโชเซ่ มูรินโญ่ เล่น…ยังไงยังงั้น         อิ อิ อิ

Back to top button