พาราสาวะถี

สะท้อนปัญหากันไว้ตั้งแต่เห็นโฉมหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับลงเรือแป๊ะแล้วว่า ทุกอย่างจะเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะหนทางตามครรลองของประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ไม่ว่าก่อน ระหว่างหรือหลังหย่อนบัตร ล้วนแล้วมีอุปสรรคหรือกับดักวางไว้ทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่เพราะคนร่างกฎหมายผิดพลาด แต่เจตนาให้เป็นเช่นนั้นแต่ต้น


อรชุน

สะท้อนปัญหากันไว้ตั้งแต่เห็นโฉมหน้าของรัฐธรรมนูญฉบับลงเรือแป๊ะแล้วว่า ทุกอย่างจะเต็มไปด้วยปัญหา โดยเฉพาะหนทางตามครรลองของประชาธิปไตยที่ว่าด้วยการเลือกตั้ง ไม่ว่าก่อน ระหว่างหรือหลังหย่อนบัตร ล้วนแล้วมีอุปสรรคหรือกับดักวางไว้ทั้งสิ้น นั่นไม่ใช่เพราะคนร่างกฎหมายผิดพลาด แต่เจตนาให้เป็นเช่นนั้นแต่ต้น

มิหนำซ้ำ ระหว่างการรณรงค์เพื่อลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ผู้คนที่หวังดี คนที่มองเห็นปัญหากลับไร้พื้นที่ในการสะท้อนปัญหา ขนาดตั้งศูนย์เพื่อช่วยปราบโกงยังถูกดำเนินคดีเป็นความผิดด้านความมั่นคง เมื่อทุกอย่างเลือกใช้อำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปิดช่องทางของคนเห็นต่าง ปิดปากคนที่จะวิจารณ์ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามต้องการ ดังนั้น ผลลัพธ์หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ต้องยอมรับสิ่งที่จะตามมา

เห็นวิธีคิดคำนวณ จำนวนส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์หรือบัญชีรายชื่อ จากระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่กรธ.จับมือกับกกต.ชี้แจงไปเมื่อสุดสัปดาห์ บรรดานักการเมืองต่างออกมาส่ายหน้ากันเป็นแถว ไม่เว้นแม้กระทั่งพรรคที่แทงกั๊กช่วงประชามติอย่างประชาธิปัตย์ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ตั้งข้อสังเกตสารพัด แต่ไม่วายค่อนแคะไปถึงพรรคคู่แข่งอย่างเพื่อไทยตามสไตล์คนพรรคเก่าแก่

ความเห็นของนิพิฏฐ์คือ ระบบนี้ไม่ทำให้พรรคไหน ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งหรือแบบถล่มทลายได้ การปัดเศษคะแนนแบบที่ผู้ร่างคิดขึ้นมา จะทำให้เกิดการคิดแบบศรีธนญชัย เชื่อว่ามีบางพรรคการเมือง คิดวิธีรับมือไว้ โดยจะแตกย่อยพรรคแม่พรรคลูก แยกกันเดินแยกกันตี แล้วไปรวมเสียงกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลัง ถ้าพรรคใหญ่บางพรรคกล้าทำแล้วเกิดผลที่ว่าจริง เขาจะได้เสียงเกิน 250 เสียงแน่นอน

อาจจะได้ 270 เสียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพรรคเดียว เพราะนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา 375 เสียง ปัญหาคือ กลายเป็นว่าจะเกิดฝ่ายค้านที่มีเสียงมากกว่ารัฐบาล แบบนี้มันดูกลับตาลปัตร แต่ก็อีกนั่นแหละ ไม่ใช่แค่ประชาธิปัตย์คิด แต่พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยก็มองแบบเดียวกันคือ พรรคใหญ่ไม่หวังเป็นนายกฯกันแล้ว เพราะไม่ว่าใครก็เป็นรัฐบาลไม่ได้

แค่ไม่เกิน 3-4 เดือน หลังจากรัฐบาลใหม่ที่มีเสียงข้างน้อยเข้ามา แล้วเสนอกฎหมายงบประมาณต่อสภา ก็จะถูกฝ่ายค้านเสียงมากกว่าคว่ำกฎหมาย ถ้ากฎหมายงบถูกคว่ำ รัฐบาลก็ต้องยุบสภาหรือลาออก ปัญหาหลังเลือกตั้ง จึงไม่ใช่การหานายกฯไม่ได้ แต่คือรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ไม่มีเสถียรภาพ หรือความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ต่างชาติไม่เชื่อมั่น ไม่มีใครลงทุนคบค้าด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นนิพิฏฐ์ยังมองอีกว่า อาจต้องมีการยึดอำนาจอีก ถ้าเป็นปัญหาแบบที่ว่า จะไปต่อไม่ได้ ต้องโทษคนออกแบบกฎหมายแบบนี้ ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ไม่ได้ ปัจจัยตัวที่จะทำให้เกิดวิกฤตอีกอย่างคือส.ว.ลากตั้ง 250 คน ที่คสช.แต่งตั้ง จะยอมเลือกรายชื่อนายกฯที่ถูกเสนอชื่อรอบแรกจากส.ส.หรือไม่ ถ้าไม่เลือก ก็แสดงว่าส.ว.จะไปเลือกคนที่มาจากเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร

ถ้าส.ว.ไม่เลือกก็เกิดวิกฤตอยู่แล้ว จากนั้นความชอบธรรมของการยึดอำนาจก็เกิดขึ้น แล้วคนก็จะรังเกียจนักการเมืองอีก คนจะมองว่านักการเมืองเป็นตัวปัญหาทำให้เกิดการยึดอำนาจอีก แต่หารู้ไม่ว่าคนวางระบบ วางกับดักไว้อย่างนี้  แน่นอนว่า ขนาดพรรคที่พยายามหลิ่วตาข้างกับการร่างกฎหมายสูงสุดแบบมีเป้าหมายลับ ลวง พราง ยังมองเช่นนี้

พรรคที่เป็นเป้าหมายโดยตรงอย่างเพื่อไทย ย่อมมองเห็นอะไรมากกว่านั้น โดย ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคนายใหญ่ชี้ว่า ระบบนี้ถูกคิดขึ้นมาโดยมีเป้าหมายทางการเมือง และนำสูตรอย่างอื่นบวกเข้ามาอีก เช่น นายกฯไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. ให้ส.ว.แต่งตั้งร่วมเลือกนายกฯ จึงเป็นการสร้างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการรัฐประหารและต้องการสืบทอดอำนาจกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ชูศักดิ์ยังมองโลกในแง่ดี ไม่คิดว่าแผนการดังกล่าวจะสำเร็จได้ง่ายๆเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ และมองว่าจิตสำนึกความรับผิดชอบกับระบอบประชาธิปไตยของพรรคการเมืองทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย ส่วนผลกระทบกับเพื่อไทยนั้นมันชัดเจน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคจะยอมจำนน ซึ่งก็มีแผนที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงเกิน 250 ที่นั่งได้ เพียงแต่ขออุบไต๋ไว้ก่อนว่าจะใช้แผนใด

บางทีอาจจะเป็นไปอย่างที่นิพิฏฐ์ว่าก็เป็นได้ ขณะที่ นพดล ปัทมะ กูรูด้านกฎหมายอีกรายของพรรคนายใหญ่ตั้งคำถามกลับไปที่กรธ.ว่า ระบบเลือกตั้งและนับคะแนนแบบนี้สะท้อนเจตจำนงของประชาชนหรือไม่ มีเหตุมีผลหรือไม่ และเป็นธรรมแล้วหรือไม่  เช่นเดียวกับ นิกร จำนง จากชาติไทยพัฒนา ที่มองไม่ต่างกัน หลังเลือกตั้งปัญหารออยู่แน่ๆ

แต่การเมืองหลังการเลือกตั้งที่ประเมินได้แน่ๆ ก็คือ เสียง ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ประชาชนเลือกมาจะไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯที่เป็นส.ส.ได้ ยกเว้น พรรคการเมืองที่ขัดแย้งกันจะรวมกันได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้อีก และนั่นก็หมายถึงการเปิดทางให้คนนอกที่ไม่ได้เป็นส.ส.เข้ามาเป็นนายกฯตามที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เปิดช่องไว้

นั่นเท่ากับว่า โจทย์ที่ต้องการจะสร้างดุลยภาพแก้ความขัดแย้งนั้น จะแก้ได้บ้างหรือไม่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลอ่อนแอไร้เสถียรภาพ ปัญหาทุกอย่างจะแก้ไม่ได้ เพราะระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมถูกผูกเงื่อนตายไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เป็นเพียงการเขียนขึ้นตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แทบทำจะไม่ได้ เพราะมีค่ายกลเจ็ดดาวล็อคไว้อย่างแน่นหนา พอเห็นแต่ปัญหารอไว้เช่นนี้ บางทีก็ชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยหรือนี่คือความจริงที่ว่า ความขัดแย้งคือเครื่องมือหากินของใครบางคนบางพวก

Back to top button