TAPAC ตาดีได้ ตาร้ายเสียค่าโง่

คำถามสำหรับนักลงทุนระดับแมงเม่าที่บังเอิญพลัดหลงเข้าไปติดกับดักถือหุ้นบริษัท ทาพาโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TAPAC ที่ราคาเหนือกว่า 23-25 บาท แล้วต้องนั่งมองราคาหุ้นร่วงหนักใจใต้ 16.00 บาท หรือร่วงลงมากว่า 30% ...อยู่ที่การตัดสินใจว่าควร ถัวเฉลี่ย หรือ ขายทิ้งตัดขาดทุน


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

คำถามสำหรับนักลงทุนระดับแมงเม่าที่บังเอิญพลัดหลงเข้าไปติดกับดักถือหุ้นบริษัท ทาพาโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TAPAC ที่ราคาเหนือกว่า 23-25 บาท แล้วต้องนั่งมองราคาหุ้นร่วงหนักใจใต้ 16.00 บาท หรือร่วงลงมากว่า 30% …อยู่ที่การตัดสินใจว่าควร ถัวเฉลี่ย หรือ ขายทิ้งตัดขาดทุน

ว่าไปแล้วถือเป็นเรื่องยากพอสมควรสำหรับหุ้นตัวนี้ เพราะข้อมูลของบริษัทย้อนแย้งกันอย่างมาก ทั้งด้านบวกและลบ

ด้านลบมีข่าวอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ร่วมสมคบคิดกับมาร์เกตติ้งของบริษัทหลักทรัพย์ร่วมกันปั่นหุ้นเมื่อปี 2558 จนถูก ก.ล.ต.ลงโทษปรับรวมกันมากกว่า 3.1 ล้านบาท ตามด้วยข่าวการเพิ่มทุนหลายครั้งในทุกปี รวมทั้งปีนี้ที่ส่งผลให้บุ๊คแวลูของหุ้นมีมูลค่าลดลงโดยปริยาย

เพียงแต่ด้านบวกก็ไม่เลวร้าย เพราะผลประกอบการ (แม้จะชวนให้ตั้งคำถาม) งวดไตรมาสสามและงวด 9 เดือนของปีนี้ กลับโดดเด่นอย่างผิดสังเกต

ก่อนหน้าที่ผู้บริหารของ TAPAC จะถูกกล่าวโทษจาก ก.ล.ต. บรรดานักวิเคราะห์พากันกลายเป็น “คนเชียร์แขก” สำหรบหุ้นตัวนี้กันมาต่อเนื่อง ด้วยคำอธิบายที่เร้าใจยิ่งว่า “ต้องซื้อ” เพราะมีเหตุผลสำคัญ คือ โมเดลธุรกิจใหม่ในต่างประเทศกำไรสวยบาดตาบาดใจ

เดิมทีนั้น ฐานรากธุรกิจของ TAPAC คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกวิศวกรรมเกรดพิเศษแบบ OEM ในทุกขั้นตอน โดยลูกค้าหลัก คือ ผู้ผลิตเครื่องโทรสารและเครื่องพิมพ์ ซึ่งคิดเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมด ที่เหลือก็เป็นชิ้นส่วนรถยนต์ 11.47%

ธุรกิจที่ว่ามีส่วนต่างทางการตลาดที่ไม่คุ้มเหนื่อย เพราะเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่ขายสินค้าให้กับรายใหญ่มากๆ สิ่งที่ตามมาก็คือถูกต่อรองราคา จนเหลือกำไรบางเบา

ดังนั้นนับตั้งแต่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เก่าแก่อย่าง Ecology & Rebirth Limited ตัดสินใจขายหุ้นในมือทิ้งไป 8.7% เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 (ซึ่งกลุ่มผู้ซื้อหุ้นต่อไป ล้วนเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมทั้งสิ้น ไม่ได้มีคนนอกเพิ่มเติม) ความพยายามย้ายฐานสร้างแหล่งรายได้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการเพิ่มทุนมาเป็นระยะพร้อมกันไปด้วย

บังเอิญเหลือเกิน….3 เดือนก่อนหน้าการเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวเป็นทางการ ราคาหุ้นของ TAPAC ถูกใช้ข้อมูลวงในสร้างราคาหุ้น เป็นตราบาปในอีก 2 ปีภายหลัง

ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 17 มีนาคม 2558 กลุ่มผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วย นายสุรชัย สุวรรธนะกุล, นายสมศักดิ์ สราวุธวัฒนากร ร่วมกับ นางอรทัย แซ่ตั้ง ผู้ถือหุ้นใหญ่คนสำคัญ และนางสาวพิชญฎา พิชญรมณ์ (เดิมชื่อนางสาวสุธาสินี นันทภัคประสิทธิ์) ผู้แนะนำการลงทุน (มาร์เก็ตติ้ง) ของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ร่วมกันปั่นหุ้น TAPAC ด้วยการส่งคำสั่งซื้อขายกันภายในกลุ่มเพื่อผลักดันราคาหุ้น ให้นักลงทุนทั่วไปหลงผิดคิดว่าหุ้นมีการซื้อขายมากเป็นพิเศษ …จนตลาดหลักทรัพย์ฯต้องส่งความผิดปกติให้ ก.ล.ต.ดำเนินการสอบสวนเชิงลึก

ความพยายามค้นหา “ทะเลสีคราม” ของ TAPAC เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น พร้อมกับการเพิ่มทุนใหม่ โดยออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ เข้าซื้อบริษัท C4 ที่ทำธุรกิจก่อสร้างและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สวีเดน ซึ่ง….ทำได้ดีซะด้วย

จากตัวเลขในงบการเงินปี 2559 พบว่ารายได้จากสวีเดน แซงหน้าทะลุรายได้หลักดั้งเดิมไปหมดจดงดงาม คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของรายได้รวม และมีกำไรดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ

โมเดลธุรกิจใหม่ที่ไปได้สวย ตอกย้ำว่าการโตทางลัดนี้….ยิ่งกว่าถูกทาง

ตัวเลขผลประกอบการไตรมาสสองปี 2559 ที่สวยงาม จึงผลักดันให้ราคาหุ้นวิ่งรับข่าวแรงพร้อมกันไปจากที่มีรายงานตัวเลขทำรายได้เติบโตไปกว่า 2 เท่าจากยอดเดิม ทำให้เดือนสิงหาคมอันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประกาศงบราคาหุ้น TAPAC พุ่งแรงทะลุเหนือ 22.80 บาท เป็นราคาสูงสุดในรอบ 8 เดือน แต่….นั่นเป็นแค่จุดเริ่มเท่านั้น

ในเดือนตุลาคม 2559 ราคาหุ้นของ TAPAC ทะยานขึ้นต่อเนื่องแทบไม่มีหยุดพัก จนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ที่เกือบทะลุเหนือ 35.00 บาทได้สำเร็จ ….รวมแล้วใช้เวลา 5 เดือน ดันราคาหุ้นบวกขึ้นไปถึง 70%

แม้จะมีความพยายามดันราคาเหนือ 22.00 บาทในไตรมาสที่สามก็ไม่เป็นผล แม้แรงเชียร์ซื้อจากนักวิเคราะห์จะระงมกันต่อมาเป็นระยะๆ ตามผลประกอบการที่แค่ช่วง 9 เดือน ก็มากกว่าปีที่แล้วทั้งปี…..เป็นการบริหารธุรกิจข้ามชาติต่างวัฒนธรรมที่เก่งไม่ธรรมดา….(ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง)

ข่าวการเพิ่มทุนไตรมาส ที่ไม่ใช่ข่าวดีของราคาหุ้น ยังถูกซ้ำเติมในไตรมาสสี่ เมื่อ ก.ล.ต. สรุปผลเชิงลึกกรณีปั่นหุ้น เมื่อต้นปี 2558 โดยเปรียบเทียบปรับ นายสุรชัย เป็นเงิน 1.63 ล้านบาท และปรับ นายสมศักดิ์ นางอรทัย แซ่ตั้ง และนางสาวพิชญฎา คนละ 5 แสนบาท

พร้อมกันนั้นก็สั่งห้าม นายสุระชัย เป็นกรรมการและผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเป็นเวลา 2 ปี ส่วนนายสมศักดิ์ถูกห้ามเป็นเวลา 1 ปี…ถึงกับต้องเปลี่ยนตัว ประธาน กรรมการผู้มีอำนาจ และกรรมการอื่นๆ กะทันหัน อุตลุด

คำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นไล่เลี่ยกันกับช่วงที่จำนวนหุ้นใหม่ของ TAPAC จำนวน 23,862,267 หุ้นเข้าเทรดพอดี พร้อมกับวอร์แรนต์ (ราคาแปลงสิทธิ์ 6.00 บาท) จำนวนเท่ากัน……ราคาหุ้นของ TAPAC เลยร่วงชนิดเกือบหาก้นเหวไม่เจอ

ราคาหุ้นที่ดิ่งสวนทางกับผลประกอบการ ซึ่งโดดเด่นยิ่ง มีสภาพคล่องดี มีกำไรสะสม 265.97 ล้านบาท และได้รับการรับรองจากผู้สอบบัญชี ว่า….. “ไม่พบสิ่งที่เป็นเหตุให้เชื่อว่าข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลดังกล่าวไม่ได้จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 34 เรื่อง “งบการเงินระหว่างกาล” ในสาระสำคัญจากการสอบทาน”…แม้จะมีข้อสังเกตว่า “…การสอบทานนี้มีขอบเขตจำกัดกว่าการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถได้ความเชื่อมั่นว่าจะพบเรื่องที่มีนัยสำคัญทั้งหมดซึ่งอาจพบได้จากการตรวจสอบ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่อาจแสดงความเห็นต่อข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลที่สอบทานได้….”

ข้อมูลที่ย้อนแย้งกันในตัวเองอย่างนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองนักลงทุนแต่ละคนแล้วล่ะ….ตาดีได้ ตาร้ายเสียค่าโง่

อิ อิ อิ

Back to top button