อนาคตธุรกิจหลักทรัพย์ไทย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก.ล.ต. ออกประกาศฉบับหนึ่ง ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานพาดหัวให้ดูสละสลวยว่า “ปลดล็อคทุนขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันและรายใหม่” แต่ชื่อจริงของประกาศ มีคำเรียกเป็นทางการว่า “ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ทุนจดทะเบียนชำระแล้วของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า”
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ก.ล.ต. ออกประกาศฉบับหนึ่ง ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานพาดหัวให้ดูสละสลวยว่า “ปลดล็อคทุนขั้นต่ำ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจปัจจุบันและรายใหม่” แต่ชื่อจริงของประกาศ มีคำเรียกเป็นทางการว่า “ประกาศปรับปรุงหลักเกณฑ์ทุนจดทะเบียนชำระแล้วของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า”
สาระสำคัญของคำประกาศคือ ยกเลิกเงื่อนไขเดิมว่าด้วยทุนจดทะเบียนสำหรับประเภทใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 4 ประเภทคือ แบบ ก.(ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ทุกประเภท ได้แก่ ธุรกิจนายหน้าค้า จัดจำหน่าย และธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุน ฯลฯ (เดิมกำหนดว่า ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 500 ล้านบาท) และใบอนุญาต แบบ ข.(นายหน้า ค้า จัดจำหน่ายตราสารหนี้) แบบ ค.(ธุรกิจจัดการกองทุน) และ แบบ ง.(ธุรกิจนายหน้า ค้าจัดจำหน่าย หน่วยลงทุน ฯลฯ) รวมทั้ง สัญญาซื้อขายล่วงหน้าสำหรับใบอนุญาตแบบ ส-1
การยกเลิกสำคัญคือ ยกเลิกทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 500 ล้านบาท ไม่ต้องมีอีกต่อไป สำหรับใบอนุญาตแบบ ก. แต่ให้เอามารวมกลุ่มเดียวกันกับประเภท ข. ค. และ ง. ที่ระดับเท่ากัน ขั้นต่ำ 100 ล้านบาท (ไม่รวมธุรกิจทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร)
พร้อมกันนั้น ก็มีการเพิ่มหลักเกณฑ์ใหม่และจำแนกประเภทธุรกิจใหม่ขึ้นคือ
- ธุรกิจการจัดการกองทุนรวม หรือ กองทุนส่วนบุคคล และผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 25 ล้านบาท
- ธุรกิจประกอบธุรกิจหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้าอื่นใดที่ไม่เข้าลัษณะ 1 2 3 และ 4 (ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร)มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ก็มีการคงหลักการเดิมสำหรับทุนจดทะเบียนธุรกิจที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยคือ
- ธุรกิจซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรคงเดิมที่ขั้นต่ำ 50 ล้านบาท
- ธุรกิจจัดการกองทุนรวม หรือกองทุนส่วนบุคคลที่ให้บริการเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน และธุรกิจผู้จัดการเงินทุนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ให้บริการแก่กองทุนรวม ทุนจดทะเบียนขันต่ำ 10 ล้านบาท
การปรับประเภทธุรกิจใหม่ และทุนจดทะเบียนขั้นต่ำใหม่ จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป แต่เชื่อล่วงหน้าได้เลยว่า จะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น เพราะต้องรอหลักเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.จะออกมาใหม่ว่าด้วยการดำรงเงินกองทุน และสภาพคล่องของธุรกิจที่ยังจัดทำไม่แล้วเสร็จ และคาดว่าจะเริ่มมีผลใช้ตั้งแต่ต้นปีหน้า
ความไม่ชัดเจนของคำประกาศดังกล่าว (แม้จะมีการพยายามสร้างผังไดอะแกรมมาประกอบ) ทำให้เมื่อวานนี้ นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต.ต้องมาอรรถาธิบายเพิ่มเติม เพื่อสร้างความชอบธรรมในคำประกาศเพิ่มเติม
คำอธิบายระบุว่า ประกาศดังกล่าวมีจุดหมายหลัก คือ ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ต่ำลง และมีความคล่องตัวมากขึ้น สามารถพัฒนา-นำเสนอสินค้าและบริการที่หลากหลาย ตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้ลงทุนได้รับความสะดวกและเข้าถึงบริการได้ง่าย ด้วยต้นทุนที่ถูกลง
เบื้องหลังคำประกาศเกิดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการคือ
- เพื่อเตรียมความพร้อมธุรกิจหลักทรัพย์รับมือกับการแข่งขันจากทั้งในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) โดยส่งเสริมควบคู่ไปกับการปรับปรุงเกณฑ์เพื่อลดอุปสรรคการประกอบธุรกิจทั้งรายปัจจุบันและรายใหม่ในการนำเสนอบริการรูปแบบต่างๆ โดยเน้นหลักการให้เกิด ease of doing business
- ระบบใบอนุญาตใหม่ เปิดทางให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเลือกขอได้ตามรูปแบบการทำธุรกิจของตน และสามารถรองรับธุรกิจหลักทรัพย์ที่จะเกิดใหม่ในอนาคต โดยไม่ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต upfront
- ปรับเกณฑ์เกี่ยวกับที่ปรึกษาการลงทุน เพื่อให้สามารถให้บริการข้อมูลสำหรับผู้ลงทุนและต่อยอดได้ครบวงจรมากขึ้น
- เปิดทางให้เกิดแนวโน้มให้บริการด้าน wealth เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบเดิมเพื่อเข้าถึงนักลงทุนกลุ่ม high networth และการใช้ FinTech เพื่อเข้าถึงกลุ่มรายย่อยมากขึ้น รวมถึงจะมีการพาลูกค้าออกไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีเพียง 19 ราย
- แนวโน้มของรายได้และกำไรในธุรกิจหลักทรัพย์มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่มีรายได้หลักมาจากธุรกิจนายหน้า โดยคิดเป็น 74% ของรายได้ทั้งหมด และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดการแข่งขันจนมีการตัดราคาค่านายหน้า จนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยค่านายหน้าเฉลี่ยปี 60 ลดลงอยู่ที่ 11%
นางปะราลี ระบุว่า สำนักงาน ก.ล.ต.คาดว่าแนวโน้มรายได้และกำไรของบริษัทหลักทรัพย์ในปีนี้ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 37,842 ล้านบาท และ 6,789 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ปี 2559 อยู่ที่ 42,788 ล้านบาท และ 9,646 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งที่ตลาดทุนมีขนาดใหญ่กว่าปีก่อนมาก แต่การปรับปรุงกติกาใหม่นี้ คาดว่าจะเกิดผลชัดเจนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านบริการอย่างมากในตลาดทุน โดยการแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์จะเน้นที่รูปแบบบริการมากกว่าด้านราคา
วิสัยทัศน์และกติกาใหม่ที่ ก.ล.ต.ประกาศใช้นี้ จะดีมาก-น้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักทรัพย์จะต้องเรียนรู้และปรับตัว เพราะว่ายุคสมัยที่กำลังก้าวไป ถือว่า หมดเวลาของ “มนุษย์ทองคำ” ที่เคยมีการเรียกขานแล้ว