กัลฟ์ น่าลงทุนไหม
บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ถูกกล่าวถึงเยอะมากในช่วงนี้ นักลงทุนบางกลุ่มบอกน่าลงทุน แต่ก็มีอีกหลายคนส่ายหน้า
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (06) ถูกกล่าวถึงเยอะมากในช่วงนี้
นักลงทุนบางกลุ่มบอกน่าลงทุน
แต่ก็มีอีกหลายคนส่ายหน้า
เพราะพวกเขาอาจมองว่าราคาแพงไป เพราะกำหนดไอพีโอระหว่าง 40-45 บาท และพี/อีสูง (36 – 41 เท่า)
วานนี้ กัลฟ์ มีการเคาะราคาหุ้น “ไอพีโอ” ออกมาแล้ว คือ 45 บาท
หุ้นที่มีการเสนอขายจำนวนไม่เกิน 533.30 ล้านหุ้น หรือเท่ากับว่า กัลฟ์จะได้เงินจากการระดมทุนครั้งนี้ราวๆ 2.39 หมื่นล้านบาท
ที่ปรึกษาทางการเงินของกัลฟ์ ประกอบด้วย บล.บัวหลวง บล.กสิกรไทย และบล.ไทยพาณิชย์
กัลฟ์ใช้ราคาไอพีโอที่กำหนดไว้สูงสุด
เหตุผลคือ ได้สำรวจความต้องการจองซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบัน (Book Building) พบว่า นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศได้แสดงความต้องการซื้อหุ้น IPO ที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 45 บาท เกินกว่าจำนวนหุ้นที่จัดสรรไว้ให้แก่นักลงทุนสถาบันสูงถึง 18 เท่า
หุ้นกัลฟ์ จะเริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ 6 ธ.ค.นี้ เป็นวันแรก ใช้ชื่อย่อว่า “GULF”
จากข้อมูลที่เข้าไปดู
พบว่า นักลงทุนสถาบันแห่สนใจจองหุ้นตัวนี้เยอะมาก
กัลฟ์ยังมีการจัดสรรหุ้นให้กับนักลงทุนรายใหญ่ด้วย
ส่วนรายย่อย หรือนักลงทุนทั่วๆ ไป ก็ได้รับการจัดสรรไปตามสัดส่วนของการจองที่ยื่นเข้ามา และกลุ่มลูกค้าของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน
หุ้นกัลฟ์ อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ “เก็งกำไร” และเล่นแบบฉาบฉวย
นักลงทุนบางคนอาจชื่นชอบกับหุ้นที่มีการจัดสรรจำนวนที่ไม่มากนัก ระดมทุนแค่หลัก 300-500 ล้านบาท ทำให้จำนวนหุ้น “ไม่หนัก” มาก
และมองว่าหุ้นเหล่านี้ “เจ้ามือ” ลากได้ง่ายในวันแรกของการเข้าซื้อขาย
กัลฟ์ น่าจะเหมาะกับนักลงทุนสไตล์ VI มีเงินเย็นอยู่ในประเป๋า ถือกันไปยาวๆ
กัลฟ์ แม้ว่าจะกำหนดราคาหุ้นไอพีโอไว้ 45 บาท และพี/อี แถวๆ 40 เท่า
แต่หากดูอัตราการเติบโตของธุรกิจโรงไฟฟ้า ก็จะพบว่า จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หรือ Growth Stock ที่ดี และมีการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ COD เข้ามาเป็นระยะ
ต่างกับหุ้นหลายๆ ตัวที่แม้พี/อี จะต่ำ แต่หา Growth แทบไม่ค่อยได้
กัลฟ์ นั้น ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2554
ลักษณะของธุรกิจคือเป็น Holding Company ที่เข้าไปถือหุ้นในบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า
และจากจำนวนหุ้นที่เข้าไปถือยังบริษัทผลิตไฟฟ้าต่างๆ
ทำให้ปัจจุบัน กัลฟ์ เป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าที่ใหญ่สุดของประเทศไทย
กัลฟ์ เขามีการแบ่งบริษัทที่เข้าไปถือหุ้นเป็น “บริษัทย่อย” และ “บริษัทร่วม”
อย่างบริษัทย่อยมีจำนวนรวม 19 โครงการ
ทั้งหมดมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,889 เมกะวัตต์ และมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของ 4,646.9 เมกะวัตต์
ในจำนวน 19 โครงการนี้ มี COD แล้ว 8 โครงการครับ
ส่วนโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการโดยบริษัทร่วมมีรวม 9 โครงการ กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,236.6 เมกะวัตต์
และมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนความเป็นเจ้าของของกัลฟ์ 1,682.3 เมกะวัตต์
ในส่วนนี้ COD แล้วทุกโครงการ
มาดูตัวเลขสำคัญทางการเงินอื่นๆ กัน
เริ่มจากกำไรสุทธิที่ในช่วงปี 2557 – 2558 ยังเป็นผลขาดทุน 513.96 ล้านบาท และ 1,079 ล้านบาท
แต่ปี 2558 เริ่มมีกำไร 220 ล้านบาท
ปี 2559 กำไรสุทธิ 499.98 ล้านบาท และปี 2560 ช่วง 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.) มีกำไรสุทธิแล้ว 2,734 ล้านบาท
ด้านสินทรัพย์รวมจาก 10,254 ในปี 2557
เพิ่มมาเป็น 79,846.39 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2560
เงินที่ได้จากการระดมทุน จะนำไปใช้ด้านให้บริษัทย่อยและบริษัทร่วมกู้ยืม เพื่อนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ และบางส่วนนำไปชำระหนี้เงินกู้ต่างๆ
ในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้มีหุ้นโรงไฟฟ้าเข้าเทรดหลายตัว
และมีเพียง 2 ตัวเท่านั้นที่ราคาหลุดไอพีโอคือ GPSC และ TPIPP
ในส่วนของ GPSC พอผลิตไฟฟ้าได้ตามแผนงาน และ COD ราคาหุ้นก็วิ่งแบบเปิดไฟวิ่งชิดขวา จนนักลงทุนที่ขาย(หมู) กันไปก่อนหน้านี้ พากันเสียดาย
ขณะที่ TPIPP ก็เลยพ้นจองมาได้พักใหญ่แล้ว แต่ราคายังไม่ไกลนัก
BGRIM เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าอีกตัว ที่นักลงทุนบางส่วนบ่นว่าแพง
แต่ตอนนี้ราคาก็วิ่งไปไกลจากไอพีโอแล้วเช่นกัน หลังจากเข้าซื้อขายเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
นักลงทุนบางคนถึงกับบ่นว่าตกรถอีกแล้ว
หุ้นโรงไฟฟ้า นอกจากดูปัจจุบันแล้ว ก็ต้องดูอนาคต ดูโครงการที่มีอยู่แน่นอน และกำลังสร้างรายได้ให้กับบริษัท
EA เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าอีกตัวที่ช่วงเข้าใหม่ๆ แทบไม่มีกำไร
ตอนนี้ตกขบวนกันเป็นแถว
ราคามาไกลมากๆ