ทะเลสีคราม ยามค่าบาทแข็ง
ตัวเลขยอดเงินกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ปัจจุบันที่อยู่แถวๆ ระดับเฉียด 4.5 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่ธรรมดา นับตั้งแต่เริ่มต้นของการเปิดตลาดกองทุนแบบนี้จริงจังไม่กี่ปีนี้เอง
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ตัวเลขยอดเงินกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ปัจจุบันที่อยู่แถวๆ ระดับเฉียด 4.5 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขการเติบโตที่ไม่ธรรมดา นับตั้งแต่เริ่มต้นของการเปิดตลาดกองทุนแบบนี้จริงจังไม่กี่ปีนี้เอง
ความสำเร็จที่มากกว่าแค่ลองผิดลองถูก สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มปริมาณและคุณภาพในการทำกำไร ดูเหมือนว่าความช่ำชองของบรรดาผู้จัดการกองทุนของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมไทย มี “ตัวช่วย” มากกว่าในอดีตมาก
การเปิดตัวล่าสุดของ บลจ.ทิสโก้ จำกัด ด้วย กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส ไฟแนนเชียล (TUSFIN-A) มูลค่ากองเริ่มต้น 2.0 พันล้านบาท ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมธุรกิจการเงินสหรัฐฯชั้นนำที่อยู่ในดัชนี S&P500 โดยนำเสนอจุดขายของกองทุนอย่างน่าสนใจว่า สัญญาณบวกจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับมีปัจจัยเอื้อให้การเติบโตเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่น การปฏิรูปภาษี และการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลบวกโดยตรงกับกลุ่มธุรกิจการเงินในสหรัฐฯที่คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมไปถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการปฏิรูปภาษี เนื่องจากเดิมเคยเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่นและดัชนีโดยรวม
การหอบเงินลงทุนจากไทยไปยังตลาดทุนนี้เป็นการเข้าซื้อกองทุนหลักเพียงกองทุนเดียว คือ กองทุน Financial Select Sector SPDR Fund ซึ่งเป็นกองทุน ETF ในตลาดนิวยอร์ก บริหารจัดการโดย SSGA Funds Management, Inc. ใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เรียกว่า Replication Strategy เพื่อสร้างผลตอบแทนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี Financial Select Sector ในดัชนี S&P500
กระบวนการลงทุนของ FIF โดยผ่านกองทุนต่างประเทศอีกต่อนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ สำหรับกองทุนรวมประเภทเดียวที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สามารถระดมเงินจากผู้ลงทุนในประเทศไทยไปลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้ เพื่อเป็นการกระจายการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการแสวงหาผลตอบแทนจากสถานการณ์ในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยในบางช่วง
การออกไปลงทุนในต่างประเทศของ FIF ช่วยเปิดวิสัยทัศน์ให้นักลงทุนเรียนรู้ว่าในตลาดทุนต่างประเทศทั่วโลกนั้นมีตราสารและหลักทรัพย์ต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่หลากหลาย โดยสามารถที่จะเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศที่มีแนวโน้มที่ดีกว่าได้
หลักการสำคัญของ FIF มีอยู่ข้อเดียวคือต้องเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีหน้าตักยืดหยุ่นพอสมควรสำหรับรับมือกับความเสี่ยงในตลาดที่เข้าไปหาโอกาส
โดยพ้นฐาน FIF ของไทยมีรูปแบบแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ 1) บริษัทจัดการไทยเป็นผู้บริหารกองทุนด้วยตนเอง ซึ่งมีน้อยและทำได้ยากมากเพราะลงทุนโดยตรงในตลาดที่ไม่ชำนาญ 2) นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ หรือเป็นการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศ ในลักษณะกองเดียว (การลงทุนแบบ Master-Feeder) หรือ หลายๆ กอง (ซึ่งอาจจะมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกันหรือมีนโยบายต่างกันก็ได้ โดย บลจ.ไทยจะเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเงินไปลงทุนในกองใดบ้าง สัดส่วนเท่าใด และจะปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความเหมาะสมภายใต้เกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด)
ในปีนี้ FIF ที่นักลงทนไทยนิยมและคุ้นเคยกัน ส่วนใหญ่กว่า 80% ยังคงเน้นหนักที่การลงทุนแบบ Master-Feeder คือมีการทุนผ่านกองทุน Master Fund เพียงกองเดียว โดยพบว่ามีกองทุนไทยได้ลงทุนผ่าน บลจ.ชั้นนำของโลกกว่า 40 บริษัท โดยที่ บลจ.ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ PIMCO, JP Morgan, Deutsche, State Street และ BlackRock
หากมองย้อนกลับไป FIF ของไทย ได้เปลี่ยนจากตลาดที่หงอยเหงามาเป็นตลาดที่คึกคัก นับแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ตั้งแต่เมื่อนโยบายของ ธปท. ในต้นปี 2556 ที่ต้องการลดปัญหาเงินล้นเกินในประเทศ และบาทแข็งค่ามากกว่าปกติ มีผลบังคับใช้
ธปท.ทำการแก้ไขกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ที่พ้นยุค เป็นการยินยอมให้นำเงินไปลงทุนต่างประเทศหลายรูปแบบได้ นับแต่ 1) การลงทุนโดยตรง 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ 3) การรับฝากเงินในบัญชีต่างประเทศ (FCD) 4) การบริหารความเสี่ยงและการลดต้นทุน 5) ผ่อนคลายกฎกติกาธุรกิจตัวแทนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตรา
ผลพวงที่ตามมาเกิดขึ้นในปี 2557 ที่เริ่มมี บลจ.หลายรายได้พากันเริ่มต้นออกผลิตภัณฑ์และนำเสนอกองทุนรวมที่ลงทุนในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ภูมิภาคเอเชียเหนือ (ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้) โดยอาศัยจังหวะที่สถานการณ์การลงทุนในต่างประเทศในปี 2557 มีความน่าสนใจกว่าการลงทุนภายในประเทศ
ปีนี้ที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงเวลาที่โดดเด่นของ FIF ของไทย เพราะส่วนใหญ่สามารถรักษาผลตอบแทนจากการทะยานขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลก (โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ) ผลการดำเนินงานของกองทุนเฉลี่ยให้ผลตอบแทนมากถึง 26.6% ใกล้เคียงกับดัชนี NASDAQ-100
ดังนั้นการเริ่มขายกองทุน FIF ของ บลจ.ในยามนี้แต่เนิ่นๆ จึงเป็นการ “ตีเหล็กยามร้อน” ที่สำคัญ
เพียงแต่นักลงทุนจะต้องเข้าใจและเตือนตนเองให้ดีว่า ในท้องทะเลสีครามนั้น ไม่ได้สวยงามอย่างเดียว แต่มีความเสี่ยงที่เจือปนด้วย (ทั้งในน้ำและเหนือน้ำ) อย่างมีนัยสำคัญ บทเรียนจาก FIF ไทยที่ล้มเหลวในเกาหลีใต้และจีนหลายปีก่อน ไม่ควรถูกลืมกันไปหมด