‘บุญทักษ์’ – ‘ปิติ’ และ TMB
จริงๆ แล้ว “บุญทักษ์ หวังเจริญ” จะต้องอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB ไปจนถึงสิ้นปี 2561 ทว่าเจ้าตัวกลับขออยู่ในตำแหน่งนี้ เพียงสิ้นปีนี้เท่านั้น
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
จริงๆ แล้ว “บุญทักษ์ หวังเจริญ” จะต้องอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB ไปจนถึงสิ้นปี 2561
ทว่าเจ้าตัวกลับขออยู่ในตำแหน่งนี้ เพียงสิ้นปีนี้เท่านั้น
และทำให้คณะกรรมการหรือบอร์ดของธนาคารต้องแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ขึ้นมาแทน คือ “ปิติ ตัณฑเกษม” (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน TMB)
บุญทักษ์อยู่ในตำแหน่งซีอีโอของ TMB รวมเบ็ดเสร็จคือ 9 ปี
นั่นคือวาระ 4 ปี จำนวน 2 วาระ
และวาระพิเศษอีก 1 วาระ ( 2 ปี สิ้นสุดสิ้นปี 61 )
ในช่วงที่จะมีการต่อวาระพิเศษให้กับซีอีโอผู้พลิกฟื้นธนาคารแห่งนี้ขึ้นมาได้อย่างน่าอัศจรรย์นั้น
มีข่าวว่า “บุญทักษ์” อยากจะ “พักผ่อน” มากกว่า
แต่เข้าใจว่าคงถูกขอร้องให้ช่วย ที่เป็นการขอทั้งการกระทรวงการคลังและกลุ่มไอเอ็นจี
บุญทักษ์เลยยากต่อการปฏิเสธ
ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวออกมาบ้างแล้วว่า บุญทักษ์ นั้น อาจจะไม่ได้อยู่ในวาระ (พิเศษ) จนครบช่วงเวลา
และข่าวนั้นก็เป็นจริง
บุญทักษ์ บอกว่าเขาต้องการพักผ่อนไปท่องเที่ยวจริงๆ ตามที่ตั้งใจไว้สักทีครับ
และยอมรับด้วยว่าตลอดเวลาที่ทำงานค่อนข้างเครียด ความดัน (โลหิต) ขึ้นสูง และหมอบอกให้พักผ่อนได้แล้ว
สำหรับบุญทักษ์นั้น ก่อนจะมาอยู่กับ TMB เขาเคยอยู่กับแบงก์กสิกรไทย (KBANK)
เช่นเดียวกับ “ปิติ ตัณฑเกษม” ที่อยู่ KBANK มาก่อนเช่นกัน
สภาพของ TMB ก่อนที่กลุ่มไอเอ็นจีจะเข้ามาเพิ่มทุนแล้วถือหุ้นใหญ่ พร้อมกับดึงบุญทักษ์เข้ามาเป็นแม่ทัพใหญ่
ทราบกันดีว่าทีเอ็มบีในขณะนั้นอยู่ในสภาพร่อแร่มาก
หรือย่ำแย่ถึงขนาดมีการระบุแบบไม่ได้เป็นข่าวจากประธานบอร์ดสมัยนั้นด้วยการยอมรับว่า หากแบงก์ไม่ได้รับเงินเพิ่มทุนก็ต้องเจ๊งและพังลงไปแน่นอน
ขณะนั้นทีเอ็มบีมีผลขาดทุนสะสมกว่า 1 แสนล้านบาท
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 17-18% ถือว่าสูงอย่างมาก
ในเรื่องของเงินกองทุน และตัวเลขสำคัญทาวงการเงินต่างๆ ก็ย่ำแย่ไปหมด
มีเสียงแซวในขณะนั้นด้วยว่า สงสัยกลุ่มไอเอ็นจีจีถูกหลอก
แต่ผ่านมาถึงวันนี้ แทบไม่มีใครเชื่อว่าจากแบงก์ที่ใกล้จะล้ม มาสู่แบงก์ที่มีการเงินเกือบจะแข็งแกร่งสุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย
ปัจจุบันทีเอ็มบีมีกำไรสะสมกว่า 3.84 หมื่นล้านบาท
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จาก 17-18% ลงมาเหลือๆ ไม่ถึง 3%
มาร์เก็ตแคปหรือมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 1.22 แสนล้านบาท
ราคาหุ้นที่เคยอยู่บาทกว่าๆ
ปัจจุบันหรือล่าสุดวานนี้ปิดที่ 2.84 บาท
Coverage Ratio ขึ้นมาอยู่ที่ 142-145% และ BIS Ratio อยู่ประมาณ 18% มากเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มธนาคาร
รูปแบบการบริหารของบุญทักษ์ คือ การตั้งการ์ดให้แน่นหรือความเข้มแข็งของธนาคารจะต้องมาก่อน
เงินกองทุนจะอยู่ระดับสูงรองรับกับความผันผวน (ในอนาคต) ของเศรษฐกิจได้ไม่ประมาท
แต่ในด้าน “ผลตอบแทน” ของผู้ถือหุ้นก็สำคัญด้วยเช่นกัน
ล่าสุด Dividend Yield โดยเฉลี่ยของทีเอ็มบีอยู่ที่ 2.14%
มีการตั้งคำถามครับว่า หลังการเข้ามาของ ปิติ ตัณฑเกษม จะทำให้ทีเอ็มบีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
มีการวิเคราะห์ว่าสไตล์ของปิตินั้นก็ไม่น่าจะแตกต่างจากบุญทักษ์มากนัก โดยเฉพาะในด้านของการสร้างความมันคงของธนาคาร
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้บริหารทั้ง 2 คนของทีเอ็มบีก็ร่วมกันแถลงข่าวทิศทางของธนาคารในช่วง 5 ปีข้างหน้า
บุญทักษ์บอกกับผู้สื่อข่าวในงานวันดังกล่าวว่าประสบความสำเร็จตามแผนกลยุทธ์ที่ตั้งไว้
จากที่เคยมีผลการดำเนินงานขาดทุนก็กลับมามีกำไร และจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นอีกครั้ง
ในช่วงที่เข้ามาทำงานได้แบ่งแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 เฟส
เริ่มต้นด้วยเฟสแรกในการเปลี่ยนและสร้างรากฐานใหม่ให้กับธนาคารด้วยการ “เสริมสร้างฐานะการเงิน” ให้แข็งแกร่ง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร ปรับโครงสร้างการบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับโครงสร้างสาขา
และที่สำคัญ คือ พลิกโฉมธนาคาร
ภายใต้แนวคิด Make the difference