พาราสาวะถี

เสียงวิจารณ์การปรับครม.ประยุทธ์ 5 ยังคงตามมาต่อเนื่อง ทั้งชื่นชมและทักท้วง ที่น่าแปลกใจคงเป็นท่าทีของคนจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปในทิศทางให้โอกาสและเยินยอในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นอกเหนือจากพรรคเก่าแก่แล้ว ยังมีเสียงขานรับจากแกนนำชาวสวนยางดังกระหึ่ม


อรชุน

เสียงวิจารณ์การปรับครม.ประยุทธ์ 5 ยังคงตามมาต่อเนื่อง ทั้งชื่นชมและทักท้วง ที่น่าแปลกใจคงเป็นท่าทีของคนจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเสียงส่วนใหญ่โน้มเอียงไปในทิศทางให้โอกาสและเยินยอในบางตำแหน่ง โดยเฉพาะ กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นอกเหนือจากพรรคเก่าแก่แล้ว ยังมีเสียงขานรับจากแกนนำชาวสวนยางดังกระหึ่ม

อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า บนเวทีเสวนาบ้านเมืองมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เรื่องเศรษฐกิจไทยตกต่ำถึงจุดนี้ได้อย่างไร ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เกียรติ สิทธีอมร กลับมองในมุมที่แตกต่างจากสมาชิกพรรคส่วนใหญ่และฐานเสียงสำคัญของพรรคอย่างชาวสวนยางภาคใต้ โดยการตั้งคำถาม 9 ข้อไปถึงรัฐบาลคสช.

สิ่งที่เกียรติตั้งคำถามคือ นโยบายเกษตรจำนำไม่เอา ประกันรายได้ไม่เอา แล้วจะเอาอย่างไร โครงการธงฟ้า ไม่เคยเห็นตัวเลขว่าธงฟ้าช่วยคนได้เท่าไหร่ ดูเหมือนจะดีแต่ของขึ้นราคา โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องใช้บัตรคนจนซื้อ ขอให้ทบทวนเพราะไปเบียดการค้าขายของพ่อค้าแม่ค้าในชุมชน บัตรคนจนข้าราชการก็ได้รับ ทำให้สงสัยเรื่องการขึ้นทะเบียนบัตร และต้องระวังเรื่องข้อมูล

ขอให้เปลี่ยนสัดส่วนกรรมการโครงการ หนี้นอกระบบการขึ้นทะเบียนผู้กู้ใหม่ไม่ตอบโจทย์ แต่ไม่จัดการคนที่ปล่อยกู้นอกระบบ พ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นถูกเบียดด้วยร้านธงฟ้า และกทม.จัดระเบียบไม่ให้ค้าขายในบางพื้นที่ แต่ไม่บอกให้ไปขายที่ไหน นโยบายการเงินของประเทศจะเอาอย่างไร นโยบายพลังงานไม่กำกับดูแล เอื้อต่อบริษัทรายใหญ่ และสุดท้ายเรื่องเขตการค้าเสรี จะต้องควบคุมมาตรฐานการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตรมากกว่านี้

เรียกได้ว่าคำถามแต่ละดอกนั้น คนที่จะตอบต้องกุมขมับอยู่ไม่น้อย กระนั้นก็ตาม ด้วยรูปแบบของพรรคเก่าแก่ ดูเหมือนว่าจะมีธงที่ตรงกันอยู่ประการหนึ่งต่อการปรับครม.ของรัฐบาลคสช. นั่นก็คือ ปรับครม.อีกกี่ครั้งก็ไม่ช่วยอะไร หากไม่ปรับนโยบาย ซึ่งเรื่องนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ย้ำมาหลายหน โดยบอกว่าคนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ จุดใหญ่ใจความอยู่ที่แนวคิดและวิธีการต่างหากว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ทั้งๆ ที่รู้ว่าหลายเรื่องดันทุรังแล้วทำไม่สำเร็จ

แต่ปัญหาสำคัญคงอย่างที่เกียรติตั้งข้อสังเกตไว้กลางวงเสวนานั่นแหละ คนอื่นเตือนก็ไม่เคยฟัง เพราะอคติ คนที่หวังดีไม่ได้มีแต่นายกฯคนเดียว คนอื่นก็หวังดีกับบ้านเมือง เรื่องนี้ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่คงได้สัมผัสและเห็นแล้วว่าเป็นอย่างไร ไม่ฟังไม่ว่า คนที่เตือนด้วยความหวังดีมีโอกาสถูกเรียกไปปรับทัศนคติอีกต่างหาก

กรณีหลังคงใช้ไม่ได้สำหรับคนคนนี้ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ถูกเรียกเข้าค่ายทหารเป็นว่าเล่น บนเวทีเดียวกันเจ้าตัวก็มองการปรับครม.หนนี้ว่า การปรับถึง 18 ตำแหน่ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยอมรับผลงานที่ผ่านมาย่ำแย่ การบริหารราชการมีปัญหาถึงต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งมากขนาดนั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาใหญ่อยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจแต่กลับปรับครม.เศรษฐกิจน้อยมาก

ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าเป็นห่วงประการต่อมาในมุมของของพิชัยก็คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาลประกาศชัดแล้วว่า นโยบายจะไม่เปลี่ยน จึงสงสัยว่าเมื่อไม่ปรับเปลี่ยนคนและไม่ปรับนโยบาย แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างไร และสิ่งที่ชวนสงสัยเหมือนกับที่คนจำนวนไม่น้อยก็น่าจะกังขาคือ ที่สมคิดบอกว่าจะทำให้คนจนหมดไปในปีหน้าจะใช้วิธีการไหน

เพราะปีนี้รัฐบาลเพิ่งออกบัตรคนจนไปมากกว่า 11 ล้านใบ หรือตีความเอาง่ายๆ ว่าได้บัตรคนจนไปแล้ว ทุกคนก็จะไม่ยากจนอีก (ฮา) สิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยอยากให้รัฐบาลมองเห็นหรือยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงก็คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่บอกว่าดีขึ้นนั้น มันสะท้อนภาพที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหรือไม่

สภาวะความเป็นจริงอย่างที่เห็น จะให้โพลสำนักไหน จะใช้สำนักงานสถิติแห่งชาติหรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือกอ.รมน.ที่เพิ่งเพิ่มศักยภาพให้เมื่อไม่กี่วันก่อนไปสำรวจดูก็ได้ ณ ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ลำบากกันมาก และนั่นเป็นผลทำให้ความนิยมของรัฐบาลลดต่ำลง จนท่านผู้นำเองก็สัมผัสได้

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราจะได้ยินโฆษกรัฐบาลพูดถึงท่านผู้นำที่ขอให้คนยอมรับการปรับครม.เที่ยวนี้ และยืนยันว่าจะทำงานให้ฉับไว รวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันใจ นั่นเป็นเพราะไม่ว่าจะรัฐบาลหรือคสช. ไม่มีช่วงฮันนีมูนอีกแล้ว คนส่วนใหญ่ให้โอกาสมาเกือบจะครบ 4 ปี โดยเฉพาะกอง (หลับหูหลับตา) เชียร์จำนวนไม่น้อยยังเริ่มแสดงความไม่พอใจ

ตัวแทนของคนที่ไม่ด่ารัฐบาลคสช.อย่าง สุริยะใส กตะศิลา ยังตั้งข้อสังเกตต่อการปรับครม.ประยุทธ์ 5 ด้วยว่า ชะตากรรมของครม.ชุดนี้ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายและวิธีคิดของคสช. โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจนำทั้งในคสช.และรัฐบาล ที่สำคัญเฉพาะตัวของนายกฯคะแนนนิยมและความไว้วางใจจากประชาชนยังอยู่ในระดับที่ดูดีกว่าคนอื่น และสามารถล้วงลูกได้ทุกกระทรวง

ควรใช้จุดแข็งนี้กระตุ้นและประเมินงานรัฐมนตรีอย่างตรงไปตรงมาได้แล้ว แต่สิ่งที่สุริยะใสกระตุกคงตรงใจกับทุกคนทุกฝ่ายนั่นก็คือ ข้อผิดพลาดสำคัญที่รัฐบาลนี้ต้องเปลี่ยนคือวิธีคิดการเชื่อและฟังข้อมูลจากระบบราชการอย่างเดียว และมองข้ามไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทำให้ความนิยมในภาพรวมรัฐบาลลดลงเป็นลำดับ ต้องไม่ลืมว่า หากเข้าสู่โหมดเลือกตั้งและมีการปลดล็อกให้นักการเมืองและพรรคการเมืองทำกิจกรรมได้แล้ว เครดิตของผู้มีอำนาจและคณะจะถูกท้าทายมากกว่านี้ด้วย

Back to top button