ความเสี่ยงทางนโยบาย
และแล้วผู้บริหารของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัทในกลุ่มดีแทคก็คงซึ้งมากขึ้นกับคำว่า ความเสี่ยงทางนโยบาย อีกครั้งวานนี้ อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ของ กสทช.ได้สั่งการที่จะทำให้การทำสัญญาการอัพเกรดคลื่นความถี่ให้บริการไร้สายในย่านคลื่นความถี่ 2300 MHz สำหรับเปิดให้บริการ 4 จี แอลทีอี-ทีดีดี จำนวน 60 MHz ที่ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ต้องเลื่อนออกไป ไม่ทันกำหนดที่วางเอาไว้ในสิ้นปีนี้
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
และแล้วผู้บริหารของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัทในกลุ่มดีแทคก็คงซึ้งมากขึ้นกับคำว่า ความเสี่ยงทางนโยบาย อีกครั้งวานนี้ อนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ของ กสทช.ได้สั่งการที่จะทำให้การทำสัญญาการอัพเกรดคลื่นความถี่ให้บริการไร้สายในย่านคลื่นความถี่ 2300 MHz สำหรับเปิดให้บริการ 4 จี แอลทีอี-ทีดีดี จำนวน 60 MHz ที่ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ต้องเลื่อนออกไป ไม่ทันกำหนดที่วางเอาไว้ในสิ้นปีนี้
เหตุผลที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ระบุ ทีโอทียังขาดข้อมูลด้านเทคนิคในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหากจะให้บริการด้วยการโรมมิ่งก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุญาตไปก่อนหน้านี้ ดังนั้นจึงได้กำชับให้ทีโอทีประสานกับสำนักงาน กสทช.ส่งข้อมูลการใช้งานความถี่ให้ทันภายในต้นเดือน ธ.ค.
จากนั้นขั้นตอนต่อไป คือ ในช่วงกลางเดือนธันวาคม คณะนุกรรมการฯดังกล่าวจะต้องสรุปความเห็น ก่อนนำเข้าบอร์ด กสทช.อีกครั้ง โดยที่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาชัดเจน
เพียงแต่ท่าทีของ พ.อ.เศรษฐพงค์ ที่แสงความคลุมเครือว่า “…เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังไม่สรุปความเห็นมาเลยว่าทีโอทีและดีแทคสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องพิจารณาไปในส่วนความรับผิดชอบของเราไปก่อน…”
ท่าทีดังกล่าวทำให้โอกาสที่ร่างสัญญาระหว่างทีโอทีกับดีแทคที่คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ทันในปีนี้ตามแผนงานเดิมต้องติด “โรคเลื่อน” เป็นไปได้สูงยิ่ง
ปรากฏการณ์ “เตะถ่วง” ที่ว่ามา สอดรับกับเมื่อก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้รับข้อสรุปจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯในชั้นต้น ระบุว่ามีการใช้คลื่นความถี่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตไปก่อนหน้า จึงให้ทีโอที และ ดีแทค ไตรเน็ต ไปปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาคลื่นให้ตรงกับกฎหมายที่ กสทช.กำหนดไว้ก่อน จากนั้นนำเข้าจะพิจารณาอีกครั้ง
ปฏิกิริยาทันทีจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นจาก นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ที่แสดงความกังวลว่า ทีโอทีได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวที่จะเซ็นร่วมกับ ดีแทค ไตรเน็ต ให้ กสทช.พิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 60 ที่ผ่านมา แต่หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของทีโอทีในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 2561 โดยทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาทจากการให้ดีแทค เข้าพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์
ร่างสัญญาดังกล่าวมีที่มาหลังจากที่ต้นปีนี้ ทีโอที เห็นชอบให้ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทย่อยของ DTAC เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz หลังจากที่มีการพิจารณาข้อเสนอของผู้ประกอบรายอื่นๆ หลายรายที่เสนอตัวเข้ามาร่วมแบ่งผลประโยชน์และพัฒนาโครงข่ายบนคลื่นดังกล่าว ให้กลุ่มดีแทค เป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ทีโอที โดยทีโอทีเป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตนเองแค่ 40% และจะให้บริษัทในกลุ่มดีแทคใช้บริการ โดยทีโอทีจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาท จากการให้ดีแทคใช้งานโครงข่าย
ร่างสัญญาณดังกล่าวเกิดเป็นประเด็นขึ้น เพราะใครบางคนใน กสทช. มีมุมมองว่าเงื่อนไขร่างสัญญามี “วาระซ่อนเร้น” ที่สำคัญซ่อนเอาไว้ ในลักษณะได้รับอนุมัติให้ไปทำอย่างหนึ่ง แต่ตะแบงไปทำอย่างอื่น เข้าข่าย “ทำเกินกว่าได้รับอนุญาต”
เหตุที่ใช้คำว่า “เกิน” ก็เพราะ เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2558 ที่ประชุม กทค. (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม) ได้มีมติเห็นชอบให้ทีโอทีอัพเกรดการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz โดยมีเป้าหมายให้นำไปทำเป็นบรอดแบนด์ ด้วยเทคโนโลยี LTE ซึ่งมีอายุใบอนุญาตให้ใช้งานได้ถึงวันที่ 3 ส.ค. 2568 (เปลี่ยนจากที่ทีโอทีขอมา 64 MHz เนื่องจากตามแผนการจัดสรรความถี่ ต้องจัดสรรล็อตละ 5 MHz จึงอนุมัติให้ใช้ได้ไม่เกิน 60 MHz)
ในการอนุมัติของ กทค.ครั้งนั้นระบุเอาไว้ว่า
– เป็นการดำเนินการตามมาตรา 48 วรรค 3 ซึ่งกำหนดไว้ว่าให้ กสทช. ติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ และต้องปรับปรุงแผนแม่บทดังกล่าว
– การปรับปรุงคลื่นความถี่ของทีโอทีต้องคำนึงถึงประโยชน์กับหน่วยงานของรัฐในการที่จะใช้งานคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพิ่มรายได้ให้กับหน่วยงานของรัฐ ซึ่งก็จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไปอีก ไม่ใช่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง
ที่ผ่านมาก็ไม่มีเอกชนคู่แข่งของดีแทคกล่าวหาว่า ร่างสัญญาดังกล่าวจะทำให้เกิดอยุติธรรมกับรายอื่นๆ ก็ทำให้ชัดเจนว่าไม่ได้ทำให้ฝ่ายใดเสียหาย แต่คนที่ดูเดือดเนื้อร้อนใจมากที่สุด ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มสหภาพแรงงานของทีโอที ที่ออกโรงมา “ทุบหม้อข้าวตัวเอง” กล่าวหาร่างสัญญาดังกล่าว และ กสทช. ก็ “รับช่วง” มาดำเนินการต่อทันควัน
งานนี้ หากปฏิบัติการเตะถ่วงเกิดขึ้นจริงไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับทีโอที และดีแทคอย่างแน่นอน เพราะแผนธุรกิจที่วาดเอาไว้จะต้องติด “โรคเลื่อน” และอย่างเลวร้ายสุดคือ ยกเลิกไปเลย
ความไม่แน่นอนที่เป็นความเสี่ยงทางนโยบายเช่นนี้ ทำให้คนที่เคยคาดว่าจะมีรายการ “ค่าโง่ กสทช.” ก็คงต้องเปลี่ยนไปเป็นรายการ “ลากยาว”