เครื่องหมาย “C” มีมากกว่าคำเตือน

ประโยคที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” นับเป็นประโยคย้ำเตือนนักลงทุนได้ฟังและเห็นกันมาอย่างชินหูชินตา..เป็นประโยคบังคับที่ต้องเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนทุกบริษัท เสมือนเป็นการเตือนสตินักลงทุนว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง” อะไรทำนองนั้น..


พลวัตปี 2017 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)

ประโยคที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” นับเป็นประโยคย้ำเตือนนักลงทุนได้ฟังและเห็นกันมาอย่างชินหูชินตา..เป็นประโยคบังคับที่ต้องเขียนไว้ในหนังสือชี้ชวนทุกบริษัท เสมือนเป็นการเตือนสตินักลงทุนว่า “ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง” อะไรทำนองนั้น..

แต่ว่าสภาพความเป็นจริงของการลงทุน ประโยคดังกล่าวเป็นเพียง “เชิงสัญญาลักษณ์” ที่นักลงทุนส่วนใหญ่อ่านแบบผ่านๆ ไปก็เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญเท่ากับ “ผลตอบแทน” ที่จะได้จากบริษัทต่างๆ ซึ่งหากไม่โลกสวยกันจนเกินไป ก็ถือว่าเป็นธรรมชาติมนุษย์อยู่แล้ว

นัยสำคัญที่นักลงทุน “เข้าถึงแต่ไม่เข้าใจ” หรือ “เข้าใจยาก” นั่นคือ “ข้อมูลสำคัญเพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหาร” ผ่านเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายงานงบการเงินรายได้รายไตรมาส งบการเงินประจำปี รายงานคำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการที่มีความสลับซับซ้อน ต้องใช้ความสามารถเฉพาะทาง เพื่อทำความเข้าใจและหมิ่นเหม่ต่อการเข้าใจคลาดเคลื่อนอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่นแบบรายงาน 56-1 (ข้อมูลของบริษัทเริ่มตั้งแต่ภาพรวมว่าบริษัททำธุรกิจอะไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง งบการเงินเป็นอย่างไร รวมถึงโปรดักส์ต่างของบริษัท) ที่เปิดเผยข้อมูลสำคัญ 3 ส่วน ทั้งการประกอบธุรกิจ ครอบคลุมลักษณะบริษัทหรือกลุ่มบริษัท ที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน, การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ และส่วนวิเคราะห์คำอธิบายฐานะการ เงินบริษัท หากนักลงทุนที่ไม่ใช่นักบัญชีหรือการเงิน..อ่านแล้วไปไม่เป็นเลยทีเดียว

ปัจจุบันแม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีเครื่องมือต่างๆ เพื่อมาช่วยนักลงทุนในการแจ้งเตือนหรือป้องปรามนักลงทุน แต่ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่จะเป็นปลายเหตุซะมากกว่า..

ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมาย NP (Notice Pending) หรือบริษัทจดทะเบียนมีข้อมูลที่ต้องรายงานและตลาดหลักทรัพย์อยู่ระหว่างรอข้อมูลจากบริษัท, เครื่องหมาย NC (Non-Compliance) หรือหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน, เครื่องหมาย H (Trading Halt) หรือเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว, เครื่อง หมาย SP (Trading Suspension) หรือเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว..เป็นต้น

แต่ทว่า..เครื่องหมาย C (Caution) คำเตือนระดับสูง กำลังกลายเป็นเครื่องใหม่ เพื่อบ่งบอกกับว่านักลงทุนว่า “บริษัทนี้มีปัญหา” ไม่สมควรเข้าลงทุนหรือข้องเกี่ยวหรือต้องควบคุมลงทุนอย่างเข้มงวด ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ ปิดรับฟังความคิดเห็นไปแล้วและบังคับใช้ภายในปี 2561 โดยบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายการขึ้นเครื่องหมาย “C” ต้องมีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งที่ ตลท.กำหนดไว้ ได้แก่..

1) บริษัทที่มี Equity ลดลงต่ำกว่า 50% ของทั้งหมดหรือบริษัทที่ถูก ก.ล.ต. หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆ อาทิเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งแก้ไขธุรกิจ หรือระงับการดำเนินธุรกิจบางส่วน รวมทั้งบริษัทยื่นหรือถูกเจ้าหนี้ หรือหน่วยงานทางการสั่งฟื้นฟูกิจการ และศาลรับคำร้อง หรือบริษัทถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลายและศาลรับคำร้อง

2) บริษัทฯที่ผู้สอบบัญชีไม่ลงความเห็นงบการเงินเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขต โดยบริษัทหรือผู้บริหารบริษัทหรือแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง หรือ ก.ล.ต.สั่งให้แก้ไขงบหรือสั่งให้มีผู้สอบบัญชีพิเศษ (Special Audit)

3) บริษัทที่มีลักษณะธุรกิจเข้าข่าย Cash Company แต่ยังไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน

โดยบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ ได้เฉพาะบัญชี Cash Balance และต้องชี้แจงข้อมูลให้กับผู้ถือหุ้นรับทราบด้วย

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวทางการปรับรูปแบบรายงาน 56-1 และแบบแสดงรายการการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (59-2) สะท้อนถึงหลักเกณฑ์ภายใต้กฎหมายฉบับใหม่ อย่างกรณีของ 59-2 จากเดิมรายงานเพียงส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ของบริษัทเท่านั้น แต่รูปแบบใหม่กำหนดให้กรรมการ ผู้บริหาร และผู้สอบบัญชีรายงานการถือครองหุ้นสามัญ รวมถึงหลักทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่อ้างอิงกับหุ้นสามัญดังกล่าว อาทิ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในหุ้นรายตัวดังกล่าว (Stock Futures) เป็นต้น

นอกจากนี้ครอบคลุมทั้งการถือครองของตนเอง รวมถึงคู่สมรสตามกฎหมาย หรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือนิติบุคคลที่กรรมการและผู้บริการ ถือหุ้นเกินกว่า 30% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมด ต้องเปิดเผยข้อมูลโดยรายงานเกี่ยวกับการถือครองดังกล่าว

การขึ้นเครื่องหมาย C ของตลาดหลักทรัพย์ และการปรับเกณฑ์แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 59-2 ถือเป็นอีกหนึ่ง “พลวัตตลาดทุน” ที่นำเครื่องมือใหม่ เข้ามาช่วยกลั่นกรองบริษัทต่างๆ และช่วยการเข้าถึงข้อมูลสำคัญเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญเป็นการยกระดับการแก้ปัญหา “เข้าถึงแต่ไม่เข้าใจ” หรือ “เข้าใจยาก” ได้อีกหลายขั้นเลยทีเดียว

Back to top button