พาราสาวะถี

ต้องให้ชัด สรุปแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียใจหรือไม่ต่อการตะคอกใส่ชาวประมงซึ่งมาร้องเรียนในวันที่ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพราะแฟนเพจ Gen.Prayut Chan-o-cha ซึ่งเป็นเพจของทีมงานท่านผู้นำได้โพสต์ข้อความระบุ "นายกฯเสียใจที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย”


อรชุน

ต้องให้ชัด สรุปแล้ว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียใจหรือไม่ต่อการตะคอกใส่ชาวประมงซึ่งมาร้องเรียนในวันที่ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี เพราะแฟนเพจ Gen.Prayut Chan-o-cha ซึ่งเป็นเพจของทีมงานท่านผู้นำได้โพสต์ข้อความระบุ “นายกฯเสียใจที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย”

ไม่ต่างจาก สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่พยายามจะอธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า ไม่ใช่การตะคอกแต่เป็นเพราะท่านผู้นำพูดใส่ไมโครโฟนและเสียงดังจึงดูเหมือนการตะคอก พร้อมกับยืนยันว่าชายคนดังกล่าวใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าวรุนแรง เช่นเดียวกับบิ๊กตู่ที่ย้ำว่า ตนจำเป็นต้องพูดเสียงดังไปเล็กน้อย เพราะการพูดบางทีต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ต้องใช้คำพูดรุนแรงใส่ตน นี่แหละที่ต้องตั้งปุจฉาว่าแล้วเสียใจจริงหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจจากคำอธิบายของท่านผู้นำและกระบอกเสียงรัฐบาลคือ การแก้ปัญหาประมงต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย มิฉะนั้น ต่างประเทศจะต่อต้านสินค้าทั้งหมดของประเทศไทย คำถามก็คือ แล้วเสียงทักท้วงเรื่องอื่นๆ จากต่างประเทศทำไมไม่รับฟัง โดยเฉพาะประเด็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

หรือว่าจะต้องให้มีมาตรการกดดันอย่างการแจกใบเหลืองของสหภาพยุโรปต่อการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุมหรือไอยูยู และการจัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกา ถ้าเช่นนั้นเกรงว่าปีหน้าหากโรดแมปเลือกตั้งไม่เป็นไปตามสัญญา แล้วเกิดแรงกดดันหรือต่อต้านจากต่างชาติ ท่านจะทำอย่างไร จะพูดเหมือนเรื่องประมงหรือไม่

ไม่ว่าจะมีการอธิบายอย่างไร แต่ความเห็นของคนการเมืองต่อประเด็นนี้ก็ดุเด็ดเข้มข้นเหมือนกัน วัชระ เพชรทอง จากค่ายประชาธิปัตย์ มองว่าลุงตู่ตะคอกผ่านไมโครโฟนที่ปัตตานีแต่ประชาชนได้ยินทั้งประเทศ เสียงของท่านเหมือนเจ้านายตวาดเด็กรับใช้ แต่นี่ไม่ใช่เด็กรับใช้หรือพลทหาร เขาคือชาวประมงที่เดือดร้อน เจ้าของประเทศที่เป็นผู้เสียภาษีอากร ควรน้อมรับฟังอย่างกัลยาณมิตร

นี่อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่กำลังขยายวงเป็นไฟลามทุ่งในชั่วข้ามคืน กอปรกับกรณีที่ตำรวจจับผู้ประท้วงโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วนายกฯสั่งให้จัดการเด็ดขาด ยิ่งสะท้อนภาพความเป็นเผด็จการมากขึ้น ทั้งที่สองวันก่อนรัฐบาลเพิ่งประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ รัฐต้องให้เกียรติผู้ประท้วงเท่าเทียมกับผู้สนับสนุน เลิกใช้ความรุนแรงใดๆ

ก่อนที่วัชระเตือนแบบกัลยาณมิตรว่า ท่านควรต้องปรับปรุงเสียแต่วันนี้ ถ้ายังเป็นลุงตู่มุทะลุขี้โมโห ประชาชนถามก็ตวาด ใครถามก็บอกรำคาญ อนาคตของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ตนหวังดี ไม่มีความประสงค์ร้าย อยากให้ท่านเป็นนายกฯอยู่นานๆ ตามที่ต้องการ แต่ถ้าท่านฟิวส์ขาดรายวัน ภาวะวิกฤติศรัทธารัฐบาลก็จะมาในไม่ช้า แล้วประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

ขณะที่ วัฒนา เมืองสุข ขาเก่าเจ้าประจำของรัฐบาลคสช. แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า “อาการหนัก” พลเอกประยุทธ์เป็นผลผลิตของกองทัพเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ปัจจุบันเป็นหัวหน้ารัฐบาล แม้มาจากการยึดอำนาจ แต่ทุกรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลประชาชน ท่านผู้นำรับเงินเดือนจากภาษี แต่ทำตัวเป็นนายประชาชน บิ๊กตู่เพิ่งพูดเมื่อคืนวันศุกร์ให้ใช้คำพูดดีๆ ต่อกัน แต่กลับแสดงความหยาบคายใส่ชาวใต้ ครม.ก็เพิ่งประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐบาลกลับใช้กำลังกับชาวเทพา ที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ก่อนที่จะหยอดปิดท้าย ตนไม่เคยให้ราคาพลเอกประยุทธ์ เพราะขนาดมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กลัวการเลือกตั้ง ที่บ้านตนไม่เรียกคนที่เก่งแต่กับผู้หญิงและประชาชนมือเปล่าไม่มีอาวุธว่านักเลง เค้าเรียกกันว่า “กระจอก” ดุเดือดและเย้ยหยันตามสไตล์วัฒนาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับคณะรัฐประหารและถูกเรียกปรับทัศนคติเป็นประจำ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนกับการจับกุมกลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาหรือแม้กระทั่งการตะคอกใส่ชาวประมงของท่านผู้นำนั้น เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานเจ้าของโครงการยึดมั่นในแนวปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ภายใต้หลักการเคารพ คุ้มครองและเยียวยา

รวมถึงควรยึดมั่นคำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการด้วย เช่นเดียวกับ อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนอีกรายที่เห็นว่า การจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและคัดค้าน แต่ภาพที่ออกมากลายเป็นว่ากลุ่มที่สนับสนุนได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่กลุ่มที่คัดค้านถูกขัดขวาง เช่นนี้จะถือเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่

เป็นท่าทีที่แข็งขันของสองกสม.สุภาพสตรีที่เมื่อมองไปยังที่มาก็ชัดเจนว่าทั้งสองรายได้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง และด้วยท่วงทำนองเช่นนี้นี่กระมังที่ทำให้เป็นเหตุผลหลักของการที่กสม.ถูกเซตซีโร่ทั้งคณะ โดยอ้างเรื่องของกติกาสากล แต่พอกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มาแบบเดียวกับกสม.กลับมีข้อยกเว้นและไม่ได้ดูข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไปเสียฉิบ ตรงนี้น่าจะเรียกได้ว่ายิ่งกว่าสองมาตรฐานเสียอีก

พูดถึงร่างกฎหมายลูก วันวานที่ประชุมสนช.มีการพิจารณาและรับหลักการในวาระแรกร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. โดย พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.เปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายเต็มที่ ขณะเดียวกันก็บอกว่า อย่าได้กลัวเรื่องที่จะมีคนไปยื่นร้องศาลรัฐธรรมนูญ ดีกว่าปล่อยให้กฎหมายเป็นโมฆะทีหลัง แหม!ก็อุตส่าห์ต่ออายุให้กันถึงขนาดนี้แล้ว คงไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดปัญหาอะไรแล้วกระมัง

แต่ก็นั่นแหละประเด็นคว่ำร่างกฎหมายสองฉบับหรือสุดท้ายไปมีปัญหาในชั้นตีความของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยก็ยังหวั่นใจอยู่ว่ามีความเป็นไปได้ เพราะลองไร้ซึ่งมาตรฐานทั้งๆ ที่กฎหมายเพิ่งผ่านกระบวนการยกร่างและคณะกรรมการที่ยกร่างก็ยังไม่พ้นไปจากตำแหน่ง แต่ตีความตามใจชอบกันอย่างนี้ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

Back to top button