นักลงทุนในช่วงปลายปี
ปีนี้ยังมีช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึงเดือน แต่ที่ดูต่างจากปีก่อนๆ คือ ไม่ค่อยจะมีนักวิเคราะห์หรือใครออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Christmas Rally หรือ December Effect หรือ ถามหาแนวต้าน 1,720 จุดมากนัก
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ปีนี้ยังมีช่วงเวลาที่เหลือไม่ถึงเดือน แต่ที่ดูต่างจากปีก่อนๆ คือ ไม่ค่อยจะมีนักวิเคราะห์หรือใครออกมาตั้งคำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์ Christmas Rally หรือ December Effect หรือ ถามหาแนวต้าน 1,720 จุดมากนัก
คำถามที่ควรยกเป็นประเด็น คือ อารมณ์เศร้าหมองยามหุ้นร่วง และอารมณ์ปรีดิ์เปรมยามหุ้นคึกคัก ที่เป็น “แฝดคนละฝา” มาโดยตลอดในบรรดานักลงทุนขาประจำรายย่อย เหือดหายไปไหน หรือ ซุ่มซ่อนตัวอยู่ รอเวลาแสดงตัว
ช่วงท้ายปีที่ผ่านมา มักจะมีสถิติที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเก๋าเกมทั้งหลายสามารถประมวลมาสรุปจากตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก (รวมทั้งไทยด้วย) ว่า 3 สัปดาห์ระหว่างข้ามปีก่อนวันคริสต์มาสถึงวันที่ 8 มกราคม ถือเป็นช่วงเวลาที่ขาขึ้นดีที่สุดของตลาดหุ้น
สถิติดังกล่าวแม้ไม่ใช่ข้อสรุปที่ตายตัว และอาจจะผิดพลาดได้ แต่ก็เป็นที่มาของคำนิยามในตลาดหุ้นอเมริกาและยุโรปหลายชื่อแต่ความหมายล้วนเป็นเชิงบวกทำนองเดียวกันเพียงแต่รายละเอียดแตกต่างกัน
– Santa Claus Rally ซานตาคลอส แรลลี่ หรือ Christmas Rally คริสต์มาส แรลลี่ หมายถึงช่วงเวลาของการวิ่งขึ้นของราคาและดัชนีหุ้นระหว่างวันคริสต์มาสจนถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยมีคำอธิบายสำคัญเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของแรงซื้อเพื่อการให้ของขวัญกันและกัน การแจกโบนัสพนักงานการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการลดภาษีสินค้าบริโภคและการซื้อหุ้นเก็งกำไรข้ามปีในเดือนมกราคมที่จะมาถึง
โดยทั่วไปแล้วถือว่า คริสต์มาสแรลลี่เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานกว่าซานตาคลอสแรลลี่คือระหว่างก่อนคริสต์มาสถึง 10 มกราคมปีถัดไปกินเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ด้วยความหมายเช่นเดียวกัน
– December Effect ปรากฏการณ์ของความผันผวนราคาหุ้นที่ต่างกันระหว่างต้นเดือนและปลายเดือนธันวาคมทำให้เป็นเดือนที่พิเศษน่าจับตามอง โดยครึ่งแรกของเดือนจะเป็นจังหวะพักฐานจากแรงเทขายก่อนปิดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าที่ขาใหญ่และผู้จัดการกองทุนจะไปพักยาวทำให้ดัชนีหุ้นขึ้นยากแต่ครึ่งหลังของเดือนรายย่อยจะฉกฉวยโอกาสตอนมูลค่าซื้อขายต่ำพากันเข้าซื้อหุ้นเก็บข้ามปีเพื่อเก็งกำไรและหากมีบรรยากาศที่ดีก็จะกำไรมากจากแรงส่งของการคาดเดางบงวดสิ้นปีของบริษัทพื้นฐานดีที่จะทยอยประกาศในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปแล้วอาจจะมีเรื่องการจ่ายปันผลควบคู่ไปด้วย
– January Effect หมายถึงการกลับมาของจังหวะขาขึ้นในช่วงหลังหยุดยาวส่งท้ายปี โดยก่อนต้อนรับปีใหม่ที่นักลงทุนจะกลับมาซื้อระลอกใหม่ยาวนานจนเกือบสิ้นเดือนมกราคมเพราะช่วงเวลาพักยาวทำให้เปิดมุมมองใหม่ต่อการลงทุนได้และอารมณ์โดยทั่วไปแจ่มใสกว่าเดือนธันวาคมชัดเจน โดยเฉพาะแรงซื้อจะมุ่งไปที่หุ้นขนาดเล็กที่เคยถูกมองข้ามมาในเดือนก่อนหน้าเป็นสำคัญ เพราะผลการดำเนินการหุ้นขนาดเล็กจะเหนือกว่าหุ้นอื่นเสมอ แม้ว่าอาจจะมีผลต่อดัชนีรวมไม่เยอะ แต่ก็ทำให้มูลค่าซื้อขายคึกคักขึ้นด้วยอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ปรากฏการณ์ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ไม่ใช่สูตรสำเร็จ เพราะเป็นแค่สถิติที่หยาบและยังไม่ได้รับการทดสอบอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญในบางปีก็กลับไม่เกิดขึ้น และอาจจะทำให้นักลงทุนขาดทุนได้ง่าย แต่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนหลายคนบอกต่อว่า “ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่”
ปีนี้รายละเอียดของสถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วไป แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมามาก เพราะมีตัวแปรที่น่าสนใจหลายด้านประกอบกัน ได้แก่
1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเล็กน้อยอย่างเชื่องช้าที่ชัดเจนขึ้นนับแต่จีน สหรัฐฯ ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย แต่เงินเฟ้อที่ยังต่ำ ทำให้ไม่เกิดภาวะดอกเบี้ยผงกหัว(reflation stage) ตามที่คาด เพราะปัญหาทุนท่วมโลกยังดำรงอยู่ ทำให้ความพยายามของบรรดาธนาคารกลางสำคัญของโลกในการขยับขึ้นดอกเบี้ย เพื่อลดภาวะฟองสบู่ตลาดเก็งกำไรทำได้ยาก
2) ราคาน้ำมันดิบทรงตัวที่ระดับ 55-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้ชาติส่งออกน้ำมันพ้นจากวิกฤติทางการคลัง จากการสร้างดีมานด์เทียมในตลาดที่ไม่ยั่งยืน
3) ดัชนีและราคาหุ้นในตลาดเก็งกำไรวิ่งแซงหน้าความสามารถทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ไปไกลมาก จนเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงยามตลาดขาขึ้นที่ต้องระวังภาวะฟองสบู่แตกของตลาด ตามสูตร “ช่วงเวลาชี้ขาดของมินสกี้” (the Minsky’s Moment)
4) ความแปรปรวนของค่าเงินสกุลหลักของโลกส่งผลต่อกระแสฟันด์โฟลว์ที่ท่วมโลกยามนี้ เคลื่อนตัวไร้ทิศทางในลักษณะขึ้นลงในกรอบแคบๆ
ความคลุมเครือของสถานการณ์ ทำให้เข้าใจกันได้ว่าเหตุใด นักวิเคราะห์บางคนที่ระมัดระวัง พยายามไม่พูดถึงโอกาสเกิดซานตาคลอส แรลลี่ หรือ December effect มากนักในปีนี้ เกิดเป็นคำชี้แนะประเภท “คอยดูกันต่อไป” (wait and see)
ความมั่นใจหรือไม่มั่นใจว่าจะเกิด December Effect หรือ ซานตาคลอส แรลลี่ ปีนี้ที่ก้ำกึ่งกัน ทำให้มีคำถามตามมาอีกเพิ่มเติมว่า หากไม่มีปรากฏการณ์ที่ว่าในเดือนธันวาคมแล้ว จะมีผลให้เกิด January Effect หรือไม่
การตอบล่วงหน้าสำหรับคำถามแบบปลายเปิดเช่นนี้ สุ่มเสี่ยงไม่น้อย เพราะ 1) ความคาดหวังว่าฟันด์โฟลว์ที่เข้ามาแรงในตลาดตราสารหนี้ 3 เดือนมานี้ จะย้ายเข้าตลาดหุ้นยังไม่ชัดเจน 2) ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์ ที่มีผลสะเทือนหลายด้านยังแกว่งหาทิศทางไม่ได้
ส่วนปัจจัยลบสุดท้าย เรื่องของความพยายามเลื่อนการเลือกตั้งด้วยเหตุที่ยกมาอ้างกันทื่อๆ เพราะผู้นำกองทัพ และ คสช.กลัว “เสียของ” น่าจะตระหนักกันทั้งตลาดชัดเจน โดยไม่ต้องสาธยายกันมากแล้วว่า เป็นตัวถ่วงขาขึ้นที่ไม่สามา รถปฏิเสธได้เลย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนของการลงทุน