ทำไม ‘เอดีบี’ ซื้อ GULF

ต้องบอกว่า การเข้าเทรดวันแรกของหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ทำได้สวยงาม ราคาเปิด  57.50 บาท จากราคาไอพีโอ 45 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากไอพีโอ 12.50 บาท คิดเป็น 27.78%


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

ต้องบอกว่า การเข้าเทรดวันแรกของหุ้น บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ทำได้สวยงาม

ราคาเปิด  57.50 บาท จากราคาไอพีโอ 45 บาท

หรือเพิ่มขึ้นจากไอพีโอ 12.50 บาท คิดเป็น 27.78%

ระหว่างวันราคาขึ้นไปสูงสุด 59.50 บาท แม้ไม่ได้ไม่แตะ 60 บาทอย่างที่คาดหมายกันไว้ แต่ก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

ส่วนราคาต่ำสุด 52.25 บาท

ก่อนจะมาปิดตลาด 53.75 บาท ขึ้นมาจากไอพีโอได้ 8.75 บาท  เปลี่ยนแปลง 19.44%

มูลค่าการซื้อขายกว่า 13,365.72 ล้านบาท

แต่จำนวนหุ้นที่มีการซื้อขายกลับมีเพียง 243.4 ล้านหุ้น จากจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุน 533 ล้านหุ้น แสดงให้เห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงกอดหุ้นกันเอาไว้แน่น

ก่อนที่หุ้นกัลฟ์จะเข้าซื้อขายนั้น

มีมุมของนักลงทุนบางส่วนค่อนข้างวิตกว่าราคาหุ้นที่กำหนดสูงกว่า 45 บาท และ พี/อี ที่สูงกว่า 41 เท่า เกรงว่าราคาหุ้นจะไม่พ้นจอง

กรณีนี้ว่ากันว่าจะนำหุ้นกัลฟ์ไปเทียบกับไอพีโอหุ้นตัวอื่นไม่ได้

เพราะจริงๆ แล้วพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวย่อมต่างกันไป

อย่างคนที่ใกล้ชิดข้อมูลกัลฟ์ก็จะรับรู้ว่าหุ้นกัลฟ์มีงานการผลิตไฟฟ้าอยู่ในมือแน่นอน และการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ หรือ COD ก็มีแผนที่จะส่งแบบชัวร์ๆ ไม่ใช่เป็นการ “คาดหมาย”

ความน่าสนใจของหุ้นกัลฟ์คือมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนจำนวนมาก

อย่างแบงก์กรุงเทพ หรือ BBL ที่มีการทำบิ๊กล็อตกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของกัลฟ์กว่า 64 ล้านหุ้น

นี่ก็แสดงให้เห็นว่าฝ่ายลงทุนของ BBL ดีดลูกคิดมาอย่างดีแล้ว

หรือก่อนหน้านี้ เช่น หุ้น STEC และ ROJNA ที่เข้าไปถือหุ้นกัลฟ์ 1.88% และ 1% ตามลำดับ

หากคำนวณออกมาแล้ว หุ้นทั้ง 2 ตัวจะมีกำไร (ทางบัญชี หรือ Mark to Market) ราวๆ 380 ล้านบาท และ 170 กว่าล้านบาท

กระเป๋าตุงกันถ้วนหน้า

ที่น่าสนใจกว่านั้น

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็ได้เข้าซื้อหุ้นกัลฟ์เช่นกัน

จำนวนที่ซื้อคือ 64 ล้านหุ้น มูลค่า 2.88 พันล้านบาท หรือราว 88 ล้านเหรียญสหรัฐ

นี่คือปรากฏการณ์ที่ไม่ธรรมดาสำหรับหุ้นไอพีโอของตลาดหลักทรัพย์ฯที่เข้าตลาดฯและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดฯ หรือ มีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ สูงสุดในรอบ 15 ปี

หรือ 95,998.50 ล้านบาท

เอดีบีให้เหตุผลว่าการจัดสรรเงินทุนของเอดีบีครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในนามของ Leading Asia’s Private Infrastructure Fund หรือ LEAP ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการให้กู้ร่วม (Co-financing) ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

สำหรับ LEAP ได้รับการสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ครับ

เขามีการตกลงที่จะจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์เป็นวงเงิน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดยการลงทุนในหุ้นของ GULF ดังกล่าว

ถือเป็นการลงทุนในหุ้นทุนครั้งแรกของ LEAP

“การลงทุนของเอดีบีดังกล่าว แสดงถึงความมุ่งมั่นระยะยาวที่จะทำงานร่วมกับผู้ผลิตพลังงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นี่คือคำกล่าวของ Christopher Thieme รองผู้อำนวยการ สำนักปฏิบัติการภาคเอกชนของเอดีบี

Christopher Thieme ยังบอกด้วยว่า “การที่เอดีบีสนับสนุนหุ้น IPO ของบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ แสดงให้เห็นว่าเอดีบีมีความมั่นใจในรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัท”

มีตัวเลขการใช้พลังงานไฟฟ้าของคนไทยเป็นข้อมูลเพิ่มเติม

ไทยมีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน

และคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2.67% ต่อปี ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงอีก 20 ปีข้างหน้า

และจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทยล่าสุด

ไทยมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าใหม่ 57,459 เมกะวัตต์

และปลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้าเก่าที่หมดอายุในช่วงปี 2558-2579 จำนวน 24,736 เมกะวัตต์

Back to top button