เสียงเตือนก่อนกาล

คำเตือนถึงด้านมืดของอนาคตในลักษณะ "ดร. ดูม" (doomsayers) ยามนี้ เริ่มกลายเป็นกระแสจริงจังมากขึ้นทุกขณะ


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

คำเตือนถึงด้านมืดของอนาคตในลักษณะ “ดร. ดูม” (doomsayers) ยามนี้ เริ่มกลายเป็นกระแสจริงจังมากขึ้นทุกขณะ

ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาสมทบร่วมกระแสด้วยว่า ความเสี่ยงจากปัญหาหนี้เน่าในจีน กำลังจะกลายเป็นตัวถ่วงรั้งให้เศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าเข้าขั้นวิกฤติได้

กองทุนฯให้เหตุผลหลังจากการสำรวจล่าสุดเรื่องตัวเลขหนี้ของระบบการเงินจีน ที่พบว่าจะมีมากกว่าที่เคยคาดเดากัน เพราะถูกซุกซ่อนเอาไว้ ซึ่งมีโอกาสทำให้ตัวเลขหนี้ที่แท้จริงสูงกว่ามาตรฐานสากล โดยเฉพาะตัวเลขหนี้ส่วนบุคคลจากการบริโภคที่เพิ่มทวีคูณในระยะ 5 ปีมานี้

IMF เตือนว่า การที่ทางการจีนยังมีนโยบายมุ่งเน้นแต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มากกว่าเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยยินยอมให้หนี้เติบโตมากกว่าอัตราเติบโตของจีดีพีต่อเนื่องที่ระดับ 15% ต่อปี จะยิ่งทำให้ภาระนี้เสียที่ถูกซุกซ่อนไว้ของสถาบันการเงินรุนแรงมากขึ้น จนเกินกว่าระดับควบคุมได้ และเตือนว่า การพยายามปฏิรูประบบสถาบันการเงินที่รัฐบาลปักกิ่งได้ทำมาอย่างลูหน้าปะจมูก ไม่เพียงพอรับมือปัญหาที่พร้อมจะระเบิดออกมาเมื่อใดก็ได้ในวันข้างหน้า แล้วก็มีโอกาสที่จะทำให้จีนมีโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินคล้ายคลึงกับสหรัฐฯก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

คำเตือนของ IMF ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ บรรดานักวิเคราะห์ตะวันตก และจีนเองก็พยายามสร้างกระแสนำเรื่องนี้มาตลอด แต่ทางการจีนก็ให้ความสำคัญเป็นรองเสมอ และมักจะบอกปัดว่า ปัญหาดังกล่าว สามารถควบคุมได้

คำเตือนแบบ “เจมินี คริกเก็ต” เช่นนี้ กลับนำมาสู่ความสนใจของสื่อและผู้จัดการกองทุนต่างๆ อีกครั้ง หลังจากที่ทิศทางของตลาดเก็งกำไรเริ่มพบทางตัน หลังจากการทะยานขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่า 1 ปี นับแต่รู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ที่เรียกว่า “ทรัมป์ เอฟเฟ็กต์

นับแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นมาถึงเดือนนี้ ธนาคารกลางที่สำคัญหลายแห่ง ทยอยออกมาประสานเสียงเตือน นักลงทุนกำลังละเลยสัญญาณเตือนที่ตลาดการเงินอาจร้อนแรงเกินไปและหนี้เพื่อการบริโภคกำลังเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน และภาวะเศรษฐกิจโลกเหมือนกับยุคก่อนที่จะเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์

คำเตือนล่าสุดที่ดูมีน้ำหนักมากกว่าใครมาจากการเปิดเผยผลการตรวจสุขภาพรายไตรมาสของสถาบันการเงินทั่วโลกโดยธนาคารกลางของธนาคารกลาง (BIS) ที่เมืองบาเซิล (เจ้าของกฎบาเซิลทั้งหลายในปัจจุบัน) ได้ออกคำเตือนที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งว่า สถานการณ์ในเศรษฐกิจโลกเหมือนกับยุคก่อนที่จะเกิดวิกฤติการเงินในปี 2551 ซึ่งนักลงทุนมองหาผลตอบแทนสูง กู้ยืมอย่างหนักเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง แม้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งได้เคลื่อนไหวเพื่อเข้มงวดต่อการเข้าถึงสินเชื่อ

BIS กล่าวว่า ความพยายามที่ล้มเหลวของธนาคารกลางสหรัฐ และธนาคารกลางอังกฤษที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กำลังก่อร่างเค้าโครงของฟองสบู่การเงินที่ไม่มั่นคงให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ความน่าสนใจของคำชี้แนะจาก BIS ที่ว่า ธนาคารกลางทั้งหลายต้องพยายามหาทางปรับเปลี่ยนกระบวนการสื่อสารเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยพื้นฐานหรือความเร็วที่พวกเขากำลังจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกระตุกให้นักลงทุนตระหนักอีกครั้งถึงความจำเป็นที่จะทำให้ตลาดเก็งกำไรสงบนิ่งมีเหตุมีผล ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดตลาดเก็งกำไรที่พุ่งขึ้นอย่างเปราะบางเกินกว่าพื้นฐาน ดังที่กำลังเกิดขึ้นหลายเดือนมานี้ในระหว่างที่อัตราดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ

คำเตือนของนายธนาคารกลางที่รู้ทั้งรู้ว่า ปัญหาทุนท่วมโลกจากมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ยี่ปุ่น ละสหภาพยุโรป เป็นต้นธารของการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น หนี้ที่สูงผิดปกติ ในรูปสกุลเงินต่างชาติและสกุลเงินในท้องถิ่น และหากปล่อยให้สภาพนี้ดำรงอยู่นานเท่าใด ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น แล้วตามมาด้วยความวุ่นวายในระยะยาว

คำเตือนของ BIS ตอกย้ำให้คำเตือนก่อนหน้าของ​ธนาคารกลางยุโรป บุนเดสแบงก์ และเนชั่นแนล แบงก์ ของเดนมาร์ก ที่ย้ำถึงความเปราะบางหลายๆ อย่าง ซึ่งมีตั้งแต่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่ราคาเกินจริงในบางประเทศ ความอิ่มอกอิ่มใจในกำไรจากตลาดหุ้นของนักลงทุน และการปล่อยกู้ง่ายของบางธนาคารที่พยายาม “เก็บเบี้ยไต้ถุนร้าน” จากอัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นเป็นเวลายาวนานเกินปกติ

บุนเดสแบงก์ของเยอรมนี พูดถึงเรื่องฟองสบู่ด้วยคำพูดที่รุนแรงกว่าใคร โดยระบุตัวอย่างว่า อันตรายจากอัตราดอกเบี้ยต่ำและภาวะเศรษฐกิจที่น่าพอใจในเยอรมนี เป็นสาเหตุให้นักลงทุนในตลาดประเมินความเสี่ยงจากตีมูลค่าสินทรัพย์เกินจริงถึง 30% ในขณะที่ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารต่ำ และธุรกิจที่เป็นลูกค้าต่ำเกิน

ขณะที่ธนาคารกลางของเดนมาร์ก (ที่ไม่ได้อยู่ในยูโรโซน) มีประเด็นน่าสนใจว่า  ดอกเบี้ยต่ำติดพื้นทำให้สถานับนการเงินและธนาคารพากันเหยียบคันเร่ง ด้วยการลดมาตรฐานสินเชื่อและปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าที่ไม่มั่นคง  และยังกล่าวว่า ธนาคารใหญ่ๆ ของบางประเทศไม่มีเงินทุนเพียงพอตามเกณฑ์กันชน

คำเตือนทั้งหลายเหล่านี้ จะยังไม่มีผลสะเทือนมากนักต่อทิศทางของตลาดหุ้นและตลาดสินทรัพย์อื่นๆ จนกว่าจะถึง “ช่วงเวลาของมินสกี้” อันหมายถึงเวลาที่ตลาดพังครืนลงมาแล้วนั่นแหละ จึงจะมีคนนำมาใช้อ้างอิงในลักษณะ เราเตือนคุณแล้ว…”          

เรื่องนี้เคยมีตัวอย่าง เมื่อพระนางเจ้าอลิซาเบธที่ 2 ของอังกฤษ ได้ทรงตรัสถามนายธนาคารกลางและรัฐมนตรีคลังอังกฤษหลังจากเวิกฤติสถาบันการเงินหลังแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมาว่า “พวกคุณที่มีชื่อเสียงว่าเก่งมาก ไม่รู้ล่วงหน้าเลยหรืออย่างไรว่าวิกฤติจะเกิดขึ้น”

คำตอบอ้อมๆ แอ้มๆ คือ พอคาดเดาออกลางๆ แต่พูดไปก็ไม่มีคนเชื่อ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากจะควบคุมได้

ดังนั้น คำตอบในลักษณะตาบอดคลำช้าง” ยามนี้ที่เป็นกระแสเตือนภัยขึ้นมา จึงน่าจะเป็นได้แค่เสียงนกเสียงกา หรือ เสียงเตือนก่อนกาลที่เร็วเกินไป…ที่ถูกมองข้ามได้ง่ายๆ

Back to top button