ภัยแห่งการสมคบคิด

   ระวังกันไว้ให้ดี การซื้อสินค้าหรือบริการในยุคสังคมไซเบอร์ทุกวันนี้ ท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อต้องสูญเงินเป็นหลักหมื่น-หลักแสน-หลักล้านบาทฟรีๆ ทั้งที่ไม่ได้ตัวสินค้าหรือได้ใช้บริการเลย


ขี่พายุทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์

ระวังกันไว้ให้ดี การซื้อสินค้าหรือบริการในยุคสังคมไซเบอร์ทุกวันนี้ ท่านอาจจะตกเป็นเหยื่อต้องสูญเงินเป็นหลักหมื่น-หลักแสน-หลักล้านบาทฟรีๆ ทั้งที่ไม่ได้ตัวสินค้าหรือได้ใช้บริการเลย

ครับ ภัยแห่งการสมคบคิดที่ผมจั่วหัวไว้ ก็คือ การสมคบคิดระหว่างร้านค้า (ทั้งสุจริตและไม่สุจริต) และธนาคาร โดยมีผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ

กรณีหนึ่งที่เจอะเจอกันมามาก ก็คือการตกลงซื้อบริการทางศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งก็คือสาวๆ อยากสวยหรืออยากมีหน้าอกที่เต่งตึง หรืออยากสวยในที่อื่นๆ ล่ะครับ

มีอยู่รายหนึ่ง ตกลงจะทำหน้าอกกันไว้ที่ราคาเกือบ 1 แสนบาท กำหนดให้ผ่อนได้ 10 งวด แต่จะต้องรูดบัตรเครดิตไว้ แล้วธนาคารจะเป็นผู้ตัดเงินงวดเป็นเดือนๆ ให้เอง

ปรากฏว่าพอถึงเวลาวันจริง เหยื่อเกิดกลัวขึ้นมา รีบแจ้งทางคลินิกก่อนถึงเวลาวันจริงนัดหมาย “ลงมีด” ด้วยซ้ำว่า เปลี่ยนใจไม่ทำแล้ว

ทางคลินิกจะตัดเงินล่วงหน้า 1 เดือน 8 พันกว่าบาทก็ไม่ว่ากัน แถมจะจ่ายเงินค่าเสียโอกาสให้อีก 2 หมื่นบาทด้วย

ทางคลินิกซึ่งแต่แรกตอนรับลูกค้าก็ดี๊ดี โอภาปราศรัยราวมิตรสหายญาติสนิท ก็เปลี่ยนมาตีหน้ายักษ์ใส่ พร้อมกับยืนกรานว่า”คุณลูกค้ายังต้องจ่ายเงินเต็มตามข้อตกลงเดิมไว้ทุกประการ โดยธนาคารจะเป็นผู้ตัดเงินในบัญชีลูกค้า”

ลูกค้าก็นึกแย้งในใจว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย แม้ตอนแรกจะตกลงใช้บริการ แต่ภายหลังเปลี่ยนใจ โดยที่ยังไม่ได้ไปใช้บริการอะไรสักอย่างกระทั่งวัดความดันชั่งน้ำหนัก ทำไมยังจะต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนด้วย

คิดได้ดังนั้นก็เลยสั่ง “อายัดบัตรเครดิต” ไว้ก่อน พร้อมกับติดต่อธนาคารถามว่า “อย่างนี้ต้องจ่ายเต็มด้วยหรือ” เจ้าหน้าที่ธนาคารแม้จะไม่ใช้ท่าทีตวาดเสียงเขียวเหมือนคลินิก แต่ก็ตอบด้วยน้ำเสียงเย็นชาว่า คุณต้องจ่ายเต็ม

เพราะธนาคารเป็นผู้จ่ายเต็มให้คลินิกไว้แล้ว ทันทีที่คลินิกเอาสลิปบัตรเครดิตลูกค้าที่รูดมาขึ้นเงิน ฉะนั้นแบงก์จึงมีหน้าที่ไล่เบี้ยรับเงินจากลูกค้าเป็นงวดๆ พร้อมดอกเบี้ยแทน

นี่!ระบบมันเป็นแบบนี้ ลูกค้าคงเถียงอะไรไม่ออกแล้ว เพราะเขาสมคบกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต้องจ่ายเงินเต็มทั้งที่ไม่ได้เข้ารับบริการใดๆ เลยกับทางคลินิก

บอกให้ก็ได้ครับว่า เหตุเกิดที่คลินิกศัลยกรรมย่านสุขุมวิทเพลินจิตกับบัตรเครดิตสังกัดแบงก์รวงข้าว

ส่วนอีกอุทธาหรณ์หนึ่ง กำลังเป็นข่าวครึกโครมในโลกโซเชียลทุกวันนี้ เหยื่อจองโรมแรมผ่านแอพ AGODA กดปุ่มหน้าจอผิด กลายเป็น “จองและจ่ายทันที” และต้องจ่ายเงินเกือบ 1.5 แสนบาท ทั้งที่แค่เสิร์ชหาข้อมูลจองโรงแรมเป็นการทั่วไปเท่านั้น

เหยื่อรู้ตัวว่ากดผิด พยายามติดต่อไปที่แอพอะโกดา ก็ได้รับคำตอบว่า “ทางโรงแรมไม่ยินยอมให้ยกเลิก”

ครั้นบ่ายหน้าไปขอพึ่งธนาคารผู้ดูแลวงเงินในบัตรเครดิตที่กำลังจะถูกตัดของเธอ แต่ก็ทำได้เพียงแค่ประวิงเวลาการใช้วงเงินเอาไว้ได้แค่ 90 วันเท่านั้น พ้นจากนั้นไปก็ต้องจ่ายตามสลิปที่เอามาเบิก

เรื่องเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ โรงแรมที่มาร่วมรายการกับอะโกดา กลายเป็น “โรงแรมผี” ที่มิจฉาชีพอุปโลกษณ์ขึ้นมาเสียฉิบ เหยื่อจะขอให้อะโกดารวมทั้งธนาคารช่วยเหลือ ก็ได้รับคำตอบว่า “ช่วยอะไรไม้ได้”

โอ้โฮ!โรงแรมก็โรงแรมโจรอุปโลกน์ขึ้นมา ทั้งเจ้าของแอพและธนาคาร อย่าว่าแต่จะช่วยกันขจัดความชั่วร้ายเลย แม้แต่จะช่วยกันทุเลาบรรเทาความชั่วร้าย ก็หาได้มีใจคิดไม่

เอาแต่ได้ถ่ายเดียว!

นี่คือภัยยุคใหม่ในโลกไซเบอร์ ที่สามารถทำความผิดให้ถูกกฎหมายได้ และผู้บริโภคต้องกลายเป็นเหยื่อตลอดกาล

Back to top button