พาราสาวะถีอรชุน

ย้อนไปเมื่อ 23 ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วีรชนผู้รักประชาธิปไตยต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ชื่อว่ารสช.ในเวลานั้น แต่น่าเสียใจและเสียดายที่แกนนำเมื่อพ.ศ.นั้น วันนี้กลับเดินห่างคำว่าประชาธิปไตยเสียเอง โบกมือดักกวักมือเรียกทหารออกมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ปี 2549


ย้อนไปเมื่อ 23 ปีที่แล้วเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ วีรชนผู้รักประชาธิปไตยต้องสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อเพื่อปกป้องประชาธิปไตย ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารที่ชื่อว่ารสช.ในเวลานั้น แต่น่าเสียใจและเสียดายที่แกนนำเมื่อพ.ศ.นั้น วันนี้กลับเดินห่างคำว่าประชาธิปไตยเสียเอง โบกมือดักกวักมือเรียกทหารออกมาฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนตั้งแต่ปี 2549

เมื่อเป็นเช่นนั้นด้านหนึ่งจึงเป็นการฉายภาพให้เห็นธาตุแท้ของแกนนำคนดังว่า การพาพี่น้องประชาชนออกมาเคลื่อนไหวโดยอ้างเรื่องประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ลวงโลก จอมปลอม เพราะแท้ที่จริงเบื้องหลังก็คือ การช่วงชิงอำนาจของคนที่ได้ชื่อว่าสายเลือดทหารด้วยกันแต่ต่างรุ่นเท่านั้นเอง สมควรแล้วที่บางพรรคการเมืองจะสาดโคลนก่อนการเลือกตั้งช่วงนั้นว่า “พาคนไปตาย”

หนึ่งในแนวร่วมขณะนั้นที่วันนี้ยังคงเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคือ จตุพร พรหมพันธุ์ ถึงกับออกมาบอกให้แกนนำคนดังว่าไปกราบขอขมาดวงวิญญาณวีรชนที่พาเขาไปตาย จะว่าไปแล้ว ไม่เฉพาะแกนนำในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเท่านั้นที่ท่าทีเปลี่ยนไปฝักใฝ่เผด็จการ บรรดาผู้คนที่ได้ชื่อว่าคนเดือนตุลาจำนวนไม่น้อยอีกเหมือนกันที่หันไปยกมือเชียร์อำมาตย์อำนาจตรงข้ามฝ่ายประชาธิปไตย

ไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการเสื้อกั๊ก ที่เสียศักดิ์ศรีเพราะปากดีเลือกวิจารณ์เฉพาะรัฐบาลที่อยู่เป็นเครือข่ายระบอบทักษิณเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เฉพาะว่าช่วงนี้จะเป็นจังหวะครบรอบ 23 ปีพฤษภาทมิฬเท่านั้น หากแต่ในวันพรุ่งนี้ก็จะเป็นวาระครบรอบ 5 ปีของเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์

มีคนตาย 99 ศพจากผลพวงของการสลายการชุมนุมจากรัฐบาลที่ไปตั้งกันในค่ายทหาร มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่แอ่นอกใต้ผ้าเหลืองยอมรับว่า เป็นผู้สั่งการแต่เพียงผู้เดียวในการสลายการชุมนุม ขณะที่คดีความในชั้นของป.ป.ช.ยังอยู่ในขั้นเพิ่งแจ้งข้อกล่าวหาและแก้ต่างกันอยู่ โดยไม่รู้ว่าจะยุติเมื่อไหร่

แต่ที่มาเร็วและแรงทำท่าว่าจะแซงทางโค้งก็คือ คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2553 มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดนหางเลขพร้อมด้วยครม.รวม 34 คน จนเกิดคำถามว่า ถ้าคนจ่ายเงินเยียวยามีความผิด แล้วคนที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการเข่นฆ่าประชาชนคนบริสุทธิ์เล่าจะมีความผิดมากมายขนาดไหน

ไม่อยากถามถึงบรรทัดฐานหรือมาตรฐานจากองค์กรที่ชื่อป.ป.ช.เพราะไม่มี ที่สำคัญการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมนั้นไม่ได้เพิ่งเกิดเฉพาะในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นก็มีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน มากกว่าไปนั้น การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการปฏิบัติตามคำแนะนำของคอป.ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธานอีกต่างหาก

ติดอยู่เพียงว่าคอป.ไม่ได้มีข้อเสนอแนะในเรื่องตัวเลขเม็ดเงินที่จ่ายเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงมีคำถามจากจตุพรและ พะเยาว์ อัคฮาด แม่น้องเกดพยาบาลอาสาที่ถูกยิงตายภายในวัดปทุมวนาราม ให้เอาเงิน 7.5 ล้านไปจ่ายให้คนวินิจฉัยคดีแล้วยิงลูกหรือเมียให้ตายไปจะรับหรือไม่ อาจดูแรงไปแต่เป็นการฉายภาพให้เห็นว่า ไม่ว่าเม็ดเงินจะจำนวนเท่าใดก็ไม่สามารถทดแทนหนึ่งชีวิตที่สูญเสียไปได้

อย่างที่บอกไว้ อย่าไปหวังพึ่งพิงอะไรกับองค์กรเหล่านี้ เรื่องมีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือไม่ คนเขาเลิกถามกันไปนานแล้ว เหมือนที่แม่น้องเกดเรียกร้อง หากจะตัดสินคดีสลายการชุมนุมปี 53 ขอให้ใช้บรรทัดฐานเดียวกันกับคดีที่เอาผิด สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในการสลายการชุมนุมของระบอบสนธิ-จำลองเมื่อปี 2551 ด้วย แต่ซื้อหวยไว้ล่วงหน้าผลจะออกมาในทางตรงกันข้าม

เปิดบ้านรับการอวยพรวันเกิดครบรอบ 83 ปี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศพร้อมคัมแบ็กมานั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศอีกคำรบเพื่อแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง ก่อนจะปรามาสไม่ต้องใส่ใจรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่ เพราะสุดท้ายหนีไม่พ้นถูกฉีกทิ้ง ปุจฉามีอยู่ว่า จะถูกฉีกโดยใครฝ่ายประชาธิปไตยหรือปลายกระบอกปืน

ชื่นมื่นงานนี้หนีไม่พ้น เสนาะ เทียนทอง นำกระเช้ามาอวยพร พร้อมบอกพี่จิ๋วไม่ต้องสนใจเสียงประชดประชันของทหารรุ่นน้อง ใครทำอะไรไว้ย่อมได้อย่างนั้น แหม! ประสาผู้อาวุโสยกกฎแห่งกรรมมาปลอบประโลมกันทีเดียว แต่คนที่ได้ชื่อว่าอดีตขงเบ้งแห่งกองทัพคงไม่ได้อินังขังขอบต่อท่วงทำนองของคนเหล่านั้นแน่นอน

เพราะวันเดียวกันนายทหารที่เอ่ยปากเตือนนักข่าวก่อนหน้าว่าอย่าไปร่วมงานบิ๊กจิ๋ว ก็เปลี่ยนท่าทีว่าไม่มีอะไรน่ากังวล สงสัยจะแหยงหลังจากถูกนายทหารคนสนิทของพ่อใหญ่ตะคอกกลับ คนที่ไม่เคยออกรบจะรู้อะไร แต่ใช่ว่าหลังเสร็จงานแล้วทุกอย่างจะจบกัน เนื่องจากท่วงทำนอง จังหวะเคลื่อนของคนชื่อชวลิตนั้นคงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่

ปมว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญจะทำประชามติหรือไม่ เดิมทีคาดหมายว่าในการประชุมร่วมครม.กับคสช.พรุ่งนี้คงมีข้อยุติ แต่ฟังเสียงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา วันก่อนแล้วอาจจะลากยาวออกไป ท่านผู้มีอำนาจบอกว่า ยังไม่ถึงเวลาต้องรอให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน

หรือว่าเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง พอนำมาปะติดปะต่อกับบทสัมภาษณ์ล่าสุดของ วันชัย สอนศิริ สปช.ที่ยกหางให้บิ๊กตู่อยู่ในอำนาจต่ออีก 2 ปีเหมือนจะมีอะไร เพราะเจ้าตัวบอกว่าถ้าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ยอมแก้ไขปมที่เป็นปัญหา ระวังร่างจะถูกคว่ำโดยสมาชิกสปช.ไม่ต้องไปถึงลงประชามติ แต่มุมนี้คงเกิดขึ้นยากเพราะถ้าเป็นเช่นนั้น แม่น้ำทั้ง 2 สายจะต้องตายตกไปตามกัน

ถ้าอย่างนั้นในการประชุมร่วมพรุ่งนี้ เมื่อไม่มีประเด็นลงประชามติ ก็น่าจะเป็นเรื่องของข้อเสนอโดยสององค์กรที่จะมีต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ แต่จะมีการชงให้ปรับแก้หลายสิบมาตราเหมือนอย่างที่ วิษณุ เครืองาม เคยบอกไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ต้องติดตาม ซึ่งจะว่าไปแล้วถ้าไม่อยากให้เสียของและเป็นที่ยอมรับของคนในชาติและต่างประเทศ คสช.และครม.คงไม่บ้าจี้เห็นดีเห็นงามกับคนยกร่างแน่นอน

 

Back to top button