คนสีซอบนหลังคา
ปฏิกิริยาของตลาดเก็งกำไรคืนที่ผ่านมาแล้วเช้าวันนี้ ต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งที่สามในปีนี้ อาจจะมีความหลากหลายต่างกันไป แต่ที่ทุกคนยอมรับโดยไม่อาจปฏิเสธได้คือ จนกระทั่งถึงยามนี้ โจทย์ที่ท้าทายที่สุดของโลกทุนนิยมยังไม่ได้รับคำตอบชนิด "เกาถูกที่คัน" แม้แต่น้อย
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
ปฏิกิริยาของตลาดเก็งกำไรคืนที่ผ่านมาแล้วเช้าวันนี้ ต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งที่สามในปีนี้ อาจจะมีความหลากหลายต่างกันไป แต่ที่ทุกคนยอมรับโดยไม่อาจปฏิเสธได้คือ จนกระทั่งถึงยามนี้ โจทย์ที่ท้าทายที่สุดของโลกทุนนิยมยังไม่ได้รับคำตอบชนิด “เกาถูกที่คัน” แม้แต่น้อย
ภาวะเช่นนี้ ทำให้วัฏจักรชั่วร้ายของทุนท่วมโลกยังดำเนินต่อไป และอยู่บนความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น ตรงกับคำพังเพยเก่าของชาวยิวในยุโรปในอดีต ว่าด้วย “คนสีซอบนหลังคา” (Fiddler on the Roof) ที่หมายความถึงการใช้ชีวิตประจำวันอย่างหมิ่นเหม่รอภัยที่จะกล้ำกรายมาเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่คาดเดาไม่ได้
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบล ตั้งคำถามที่บาดหูว่า การใช้นโยบายการเงิน(โดยธนาคารกลางสำคัญของโลก) ที่มากเกิน เหนือนโยบายทางการคลัง จะช่วยซื้อเวลาให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากสภาวะเศรษฐกิจชะงักงันแบบซึมยาว (Secular stagnation) ไปได้นานสักกี่น้ำในอนาคต
คำถามดังกล่าวกลายเป็นข้อถกเถียงกันว่า ตราบใดที่ นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ถูกนำมาใช้จนชาชิน ในฐานะเครื่องมือหลักที่กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวโดย ใช้เครื่องมือสำคัญที่เป็นยาสารพัดนึกระยะสั้นต่อเนื่อง เช่น เพิ่มปริมาณเงิน (ผ่านมาตรการ QE เพื่อทำให้ปริมาณเงินมีขนาดใหญ่ขึ้น) ผสมกับการกดดอกเบี้ยให้ต่ำ และอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อกลบเกลื่อนการลงทุน การผลิตและการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งอยู่ในระดับต่ำ การพยายามพูดถึงความยั่งยืนและเสถียรภาพที่แท้จริงจะเป็นการเล่นมายากลหรือไม่
จากข้อเท็จจริงนับแต่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อ 9 ปีก่อน รัฐบาลชาติทุนนิยมต่างๆ ในโลก (ไม่รวมจีน) ไม่เพียงขาดความสามารถในการเรียกเก็บภาษีหรือรายได้เพิ่มเติมด้วยวิธีปกติ แต่ยังมีสภาพหนี้ล้นพ้นตัวเพราะตัวเลขขาดดุลงบประมาณที่บานปลายเกินเป้า เกิดขีดจำกัดของการนำเอามาตรการทางการคลังมาใช้
สถานการณ์ที่บีบคั้นทำให้มาตรการ หรือนโยบายการเงิน (เครื่องมือที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ พัฒนาขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลปริมาณเงินและทิศทางอัตราดอกเบี้ย) แบบเข้มงวด เพื่อทำให้ปริมาณเงินมีขนาดเล็กลงและป้องปรามความไร้เสถียรภาพ จากการที่ประชาชนมีการใช้จ่ายร้อนแรงเกินความสามารถในการผลิตรองรับได้ ถูกเพิกเฉย จำต้องเปิดทางให้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย แสดงบทบาทที่เกินเลยจนเริ่มเสพติดต่อเนื่อง
หลายปีมานี้ มีการใช้มาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลายพร่ำเพรื่อ จนกลายเป็นทางเลือกหลักที่ชักพาเศรษฐกิจโลกไปสู่หลุมดำมากยิ่งขึ้น ทั้งที่คนจำนวนมากรู้ดีว่วิษณุ โชลิตกุล, า ยาสารพัดนึกที่หวังผลระยะสั้นอย่างมาตรการทางการเงินนั้น มีธรรมชาติที่เหมาะสำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องเสถียรภาพ แต่ไม่ตอบโจทย์ระยะยาวว่าด้วยการสร้างและกระจายความมั่งคั่ง
ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงและเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของมาตรการทางการเงินโลกในทศวรรษที่ผ่านมา คือ มาตรการ QE ที่เริ่มโดยสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทำให้มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมหาศาลที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถกระตุ้นการจ้างงานระยะสั้น จากการที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจได้มากขึ้น (จากการเพิ่มเงินกองทุนประเภท Tier2 ตามกฎป้องกันความเสี่ยงของ BIS) ซึ่งกินความรวมถึง การเพิ่มเพดานปล่อยหนี้ (โดยซื้อเวลาหนี้ใกล้เน่า ยืดยาวออกไปได้นานกว่าปกติ) สามารถซื้อเวลาแบบลูบหน้าปะจมูกให้ดำเนินต่อเนื่อง
ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) แข่งขันจัดแพ็กเกจขั้นสูงสุด ด้วยคู่ขนาน ที่รวมเอามาตรการ QE พิมพ์ธนบัตรออกมาเกินกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP และใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบพร้อมกัน (ประเมินอย่างหยาบๆ คาดว่าทำให้ปริมาณเงินส่วนเกินมากกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
เงินที่ท่วมโลกยามนี้ ยังวนเวียนไร้ทางออก เพราะธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงดึงดันพิมพ์ธนบัตรออกมาเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไม่กำหนดวันยกเลิก ขณะที่ธนาคารกลางสหภาพยุโรป ก็ยังคงเดินหน้าเช่นกัน แม้จะลดวงเงินลงไปครึ่งหนึ่ง แต่ก็ยังประกาศพร้อมกลับมาพิมพ์เงินเพิ่มระลอกใหม่ ส่วน สหรัฐฯ แม้ว่าเฟด ได้ยกเลิกมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบไป 2 ปีแล้ว แต่ผลพวงการใช้ QE ถึง 4 ครั้ง มีปริมาณเงินส่วนเกินเพิ่มขึ้นมากกว่า 5.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งยังคงตกค้างทั่วโลก ยังไม่ได้ และไม่มีวิธีการดูดซับเงินล้นเกินออกจากระบบ
ปริมาณเงินส่วนเกิน หรือ ทุนที่ล้นท่วมโลก (Capital explosion) ที่มีส่วนผลักดันดัชนีตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลกพากันทำนิวไฮ หรือ นิวไฮรอบหลายปี นอกจากจะทำให้การหาทางออกจากกับดักยากลำบากแล้ว ยังทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของตลาดเก็งกำไรเกิดขึ้น โดยอาศัยนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มสื่อใหม่ เปิดช่องกับธุรกรรมข้ามประเทศขยายตัวรุนแรง
ตัวอย่างของบิทคอยน์ และนวัตกรรมเก็งกำไรใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดเป็นไฟลามทุ่ง จนต้องหาทางกำราบ ถือว่ามีส่วนเร่งให้ระบบกำกับดูแลเสถียรภาพที่เคยมีอยู่ พ้นยุคเร็วยิ่งขึ้น เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านที่รุนแรงยิ่งกว่ายุคสมัยที่คาร์ล โปลันยี เคยคาดเดาเอาไว้ลิบลับ
ไม่เพียงเท่านั้น ทุนล้นเกิน ยังขับเคลื่อนไปเปิดทางให้กับการเคลื่อนย้ายผู้คนจากเมืองเล็กและชนบท สู่เมืองใหญ่กลายเป็น megacity explosion ที่เกินกว่าควบคุมได้ และสร้างตลาดใหม่ที่หลากหลายเป็นอิสระจากเศรษฐกิจมวลรวมของชาติ เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมรุนแรงขึ้น
การเพิ่มดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อยของเฟด คืนที่ผ่านมา โดยไม่มีการดูดซับปริมาณเงินที่ล้นเกินออกไป จึงเป็นแค่ “โยนหินให้น้ำกระเพื่อมในอ่างกว้าง” ที่ได้ผลชั่วครู่ แต่ยังห่างไกลจากคำว่า “ยั่งยืน” เหลือเกิน
ภาวะ “คนสีซอบนหลังคา” ยังคงต้องดำเนินต่อไป