ห้วงอดีตย้อนแย้งทายท้าวิชามาร
สัปดาห์นี้นับแต่วันอาทิตย์ถึงวันศุกร์ เต็มไปด้วยวาระทางการเมือง ซึ่งแม้ไม่สั่นสะเทือน คสช.แต่ก็เป็นคลื่นลมปั่นป่วนชวนย้อนแย้งเชิงเหตุผล
สัปดาห์นี้นับแต่วันอาทิตย์ถึงวันศุกร์ เต็มไปด้วยวาระทางการเมือง ซึ่งแม้ไม่สั่นสะเทือน คสช.แต่ก็เป็นคลื่นลมปั่นป่วนชวนย้อนแย้งเชิงเหตุผล
เริ่มต้นจากวันครบ 23 ปี “พฤษภาทมิฬ” ที่กองทัพสลายม็อบเรียกร้องนายกฯ จากเลือกตั้ง ค้านสืบทอดอำนาจรัฐประหาร จนบาดเจ็บล้มตายมากมาย ถึงวันนี้ก็ย้อนแย้งทั้งสองฝ่าย เพราะคนกรุงที่เคยเป็น “ม็อบมือถือ” กลับไม่เอาการเลือกตั้ง
“พฤษภาทมิฬ” เลยมีทั้งงานพฤษภาประชาธรรมของคณะกรรมการญาติวีรชน ที่เชิญรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนนายกฯ ไปให้โอวาทเชิญรองประธานสภานิติบัญญัติ ฟังปาฐกถาบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ขณะที่งานของมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ซึ่งมีอดีตแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตยไปคับคั่งกลับถูกทหารห้ามจัดปาฐกถา
แน่ละ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง นักการเมืองไม่ใช่ตัวดีอะไร แต่ผู้สืบทอดอุดมการณ์ประชาธิปไตยจำเป็นด้วยหรือที่ต้องอ้าขากระพือรัฐประหาร
ผ่านวันที่ 17 พฤษภาก็จะถึง 19 พฤษภา 5 ปี “กระชับพื้นที่ด้วยกระสุนจริง” ซึ่งคงไม่อนุญาตให้จัดงาน กระทั่งจัดทำบุญก็คงไม่ได้ แต่ไม่วายมีประเด็นตอกย้ำ
ประเด็นแรก อนุกรรมการ ป.ป.ช.เพิ่งเอาผิดรัฐบาลที่แล้ว ฐานจ่ายเงินเยียวยาผู้บาดเจ็บเสียชีวิตในเหตุการณ์ปี 53 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ ชี้ว่า “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” หวังประโยชน์ทางการเมือง
เป็นคำวินิจฉัยที่ “สะใจ” คนชั้นกลางชาวกรุงอย่างมาก แต่ลืมไปว่ามติ ครม.นี้เยียวยาตั้งแต่ปี 48 ถึง 53 ครอบคลุมม็อบพันธมิตรถึง นปช. ชดเชยผู้เสียชีวิตที่กรือเซะ ตากใบ และพวก กปปส.ก็กำลังจะได้ด้วยแต่ถูกชะงัก
ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็ตอบโต้ว่าการปูนบำเหน็จให้ทหารที่ช่วย คสช. รัฐประหารเป็นภาระงบประมาณยิ่งกว่าเยียวยาประชาชนหลายสิบเท่า
ประเด็นถัดมา บังเอิญกระไรที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐาน “ดำเนินนโยบายจำนำข้าว” ซึ่งไม่ว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ก็พึงเข้าใจว่านี่เป็นครั้งแรกที่ศาลจะต้องตัดสินความผิดซึ่งไม่ใช่การทุจริตเฉพาะตัว แต่เป็นการดำเนินนโยบายตาม “สัญญาประชาคม” ที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้
ย้อนแย้งไปกว่านั้นคือคดีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งใช้ “กระสุนจริง” ศาลอาญากลับยกฟ้อง โดยชี้ว่าเป็นอำนาจ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ก็กำลังจะยื่นถอดถอนในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทั้งที่เป็นความผิด “ฆ่าคนตาย”
อย่าลืมว่า คสช.เกี่ยวข้องโดยหนีไม่พ้น เพราะเมื่อปี 53 พวกท่านเป็นนายทหารที่สลายการชุมนุมตามคำสั่งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เหตุที่เกิดเป็นความผิดของรัฐบาล? ของทหารผู้ปฏิบัติ? หรือของผู้ชุมนุม? เมื่อมาถกเถียงกันในช่วงที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ยังไงก็เข้าเนื้อ
การสลายม็อบปี 53 ทำให้สังคมไทยแตกเป็นเสี่ยง พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งถล่มทลายในภาคเหนือภาคอีสานแต่แพ้ราบในภาคใต้ในกรุงเทพฯ เมื่อเกิดนิรโทษกรรมสุดซอย ยุบสภา ขัดขวางเลือกตั้ง ความแตกแยกยิ่งตอกย้ำจนเกือบแบ่งประเทศทำให้กองทัพฉวยเงื่อนไขทำรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งก็จะครบปีพอดี ที่ คสช.ใช้การปิดกั้นเสรีภาพปิดกั้นความคิดเห็นปิดกั้นการแสดงออก “ยับยั้ง” ความแตกแยก “คืนความสุข”
ครบปี คสช.มีใครกล้าประเมินตามความจริงไหมว่าประเทศไทยเดินไปข้างหน้า หลุดพ้นความแตกแยก เห็นอนาคตที่สามารถอยู่ร่วมกัน หรือเพียงแต่กดความขัดแย้งไว้ รอวันพินาศแตกหักรอบใหม่เท่านั้น
ใบตองแห้ง