พาราสาวะถี

เป็นอันว่ายังไม่ไปต่อเพราะที่ประชุมสนช.ไม่กล้าจะดันทุรัง จึงดึงจังหวะให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ทำหนังสือถามที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยันว่ากระบวนการคัดเลือกกกต. 2 คนจากสายศาลนั้น ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ใช่หรือไม่ ทำให้อีก 5 รายชื่อจากกระบวนการสรรหาจึงต้องค้างเติ่งตามไปด้วย


พาราสาวะถี : อรชุน

เป็นอันว่ายังไม่ไปต่อเพราะที่ประชุมสนช.ไม่กล้าจะดันทุรัง จึงดึงจังหวะให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ทำหนังสือถามที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ยืนยันว่ากระบวนการคัดเลือกกกต. 2 คนจากสายศาลนั้น ถูกต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ใช่หรือไม่ ทำให้อีก 5 รายชื่อจากกระบวนการสรรหาจึงต้องค้างเติ่งตามไปด้วย

ตามสไตล์ของผู้พิพากษา เมื่อ เดชา คำสิทธิ เลขานุการศาลฎีกา กล่าวสั้นๆ ต่อคำถามในการจะส่งเรื่องมาขอความกระจ่างจากประธานสนช. ด้วยคำตอบ พร้อมจะชี้แจง แต่ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือสอบถามดังกล่าวมายังศาลฎีกา ขณะที่คนเปิดประเด็น สมชัย ศรีสุทธิยากร ยังคงกระทุ้งต่อ จริงหรือว่าเป็นศาลต้องทำอะไรไม่ผิด จริงหรือที่สามารถออกระเบียบที่อยู่เหนือกฎหมายได้ และจริงหรือที่การพิจารณาของศาลถือเป็นที่สุด องค์กรอื่นไม่สามารถโต้แย้ง

หากเป็นเรื่องการตัดสินคดีความ เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่าศาลฎีกาคือความยุติธรรมในขั้นสุดท้าย ที่ต้องถือเป็นที่ยุติไม่อาจโต้แย้ง และไม่อาจวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะศาลตัดสินในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ หากวิจารณ์อาจถูกข้อหาหมิ่นศาลได้ แต่หากเป็นประเด็นบริหาร หรือสิ่งที่ศาลถูกกำหนดให้ทำตามกฎหมายอื่น ก็ต้องยึดถือสิ่งที่เป็นข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าว จะยึดถือวิธีการปฏิบัติที่เป็นมาในอดีต หรือมากำหนดข้อบังคับเองที่ขัดกับกฎหมายน่าจะไม่ได้

เมื่อกฎหมายใหม่กำหนดให้วิธีการลงคะแนนเลือกกกต. 2 คนจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา กำหนดให้เป็นการลงคะแนนโดยเปิดเผย การหาข้อยุติว่าเปิดเผยหรือไม่ คงไม่ใช่ไปย้อนถามว่า ศาลคิดว่าเปิดเผยแล้วหรือไม่ แล้วจบกัน แต่ควรมีหลักในการเทียบเคียงระหว่างวิธีการลงคะแนนที่ศาลปฏิบัติ กับสิ่งที่เป็นมาตรฐานหรือคำจำกัดความของคำว่าลงคะแนนโดยเปิดเผยซึ่งทำได้หลายวิธี

เช่น เทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า การเลือกตั้งของประชาชน ต้องลงคะแนนด้วยวิธีการลงคะแนนโดยตรงและลับ ซึ่งเป็นวิธีการลงคะแนนโดยกาในบัตรและนำไปหย่อนในหีบ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าลงคะแนนให้แก่ใคร หรือเทียบเคียงกับข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่กำหนดว่าการลงคะแนนโดยลับหมายถึงการกาในบัตรและนำไปใส่หีบ ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงมติอย่างไร

ขณะที่การลงคะแนนโดยเปิดเผย หมายถึง การใช้บัตรเสียบที่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเลือกใคร หรือการยกมือหรือขานชื่อเพื่อสอบถามเป็นรายบุคคล หากผลของการเทียบเคียงปรากฏว่ามีความใกล้เคียงไปในทางใด ก็ควรเป็นการสรุปว่าการลงคะแนนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่ใช้วิธีการกาในบัตรและนำไปหย่อนในหีบ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครเลือกใคร เป็นการลงคะแนนลับหรือเปิดเผย

ไม่ใช่บอกเพียงแค่ว่า หีบบัตรตั้งอยู่กลางห้องเห็นได้ทุกคนเปิดเผยแล้ว หรือสามารถเหลือบดูการลงคะแนนของเพื่อนที่อยู่ข้างๆ ได้เปิดเผยแล้ว หากผิดก็ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง อย่าอธิบายให้กลายเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะยังอยู่กันอีกนาน เป็นการทิ้งทายตบตูดของสมชัยที่น่าจะทำให้ใครหลายๆ คนไม่สบอารมณ์เท่าไหร่

ขณะที่อดีตส.ว.นักร้องที่วันนี้ผันตัวมาสวมสีเสื้อพรรคเพื่อไทยอย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ก็ออกมาตั้งข้อสังเกตพร้อมจะไปยื่นเรื่องให้ประธานกกต.ที่รักษาการอยู่ตามกฎหมาย ทำการตรวจสอบใน 3 ประเด็นคือ การประชุมใหญ่ศาลฎีกาดังกล่าวเป็นการประชุมโดยเปิดเผยหรือไม่ มีผู้พิพากษาในศาลฎีกามาใช้สิทธิลงคะแนนครบถ้วนหรือไม่ และระเบียบที่ใช้ในการคัดเลือกกกต.ใหม่ของศาลฎีกาออกโดยชอบหรือไม่

สิ่งที่เรืองไกรตั้งข้อสังเกตเพิ่ม นอกเหนือจากข้อสงสัยว่าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาอาจไม่ได้ลงคะแนนโดยเปิดเผย ตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2560 มาตรา 12 วรรค 3 กำหนดไว้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับผู้ที่ลงคะแนนคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามมาอีก ตามมาตรา 12 วรรค 5

บัญญัติว่าผู้ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของผู้พิพากษาในศาลฎีกา กรณีนี้จึงมีปัญหาตามมาว่า ผู้พิพากษาในศาลฎีกาทั้งหมดได้มาใช้สิทธิลงคะแนนคัดเลือกจริงหรือไม่ หรือจำกัดไว้เพียงผู้พิพากษาที่มีสิทธิเข้าประชุมใหญ่เท่านั้น

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นตามมาอีกเกี่ยวกับระเบียบประธานศาลฎีกา ที่ออกมาใช้ในการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น อาจไม่มีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่อ้างถึงให้อำนาจรองรับไว้ และระเบียบดังกล่าว ไม่พบว่ามีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ด้วย เรื่องข้อกฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความของฝ่ายมีอำนาจ ส่วนกรณีนี้คงต้องรอดูสิ่งที่ศาลฎีกาจะตอบกลับไปยังสนช.จะออกมารูปใด แต่ก็พอจะคาดเดากันได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

กลายเป็นตำบลกระสุนตกสำหรับ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ชงข้อเสนอผู้สมัครส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ต้องสังกัดพรรคและให้มีการเลือกเฉพาะส.ส.เขต 400 คนไม่มีปาร์ตี้ลิสต์ คนของสองพรรคใหญ่เพื่อไทยและประชาธิปัตย์รุมสหบาทา พากันชี้นิ้วสงสัยไปรับงานใครมา เข้าข่ายทฤษฎีสมคบคิด เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองเพื่อเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง

ต้องไม่ลืมว่า แม้จะมีเจตนารมณ์และหลักการทางการเมืองต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของนักการเมือง ทั้งสองพรรคก็มองเห็นตรงกัน อ่านเกมไปในทิศทางเดียวกัน การขยับของแต่ละบุคคลในเวลานี้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจโดยตรงหรือทางอ้อม ล้วนแล้วแต่มีจุดเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เพื่อเป้าประสงค์การคงอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด และหาเหตุอันชอบธรรมที่จะให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป

แต่มีหนึ่งคนที่ขานรับความเห็นของสมศักดิ์ นั่นก็คือ อำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรีของเพื่อไทย แต่มีเงื่อนไขว่า ให้ผู้ลงสมัครส.ส.ครั้งต่อไป ต้องเป็นคนหน้าใหม่ คนที่เคยเป็นนักการเมือง เคยมีตำแหน่งแห่งหนช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งอดีตรัฐมนตรี อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตส.ส.-ส.ว. และคนในแม่น้ำ 5 สายทั้งหมด ต้องไม่มีสิทธิลงสมัครส.ส. และไม่มีสิทธิรับตำแหน่งทางการเมือง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศมาถึงจุดนี้ อาจจะจริงอย่างที่ว่าถ้าจะปฏิรูปกันจริง ต้องให้คนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศ

Back to top button