เค้กก้อนใหญ่ในอ่าวไทย
สมกับเป็นมือเก่าเก๋าเกมด้านพลังงานอย่างยิ่ง สำหรับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาระบุว่า ความคืบหน้าการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่ง ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น จะสามารถดำเนินการกำหนดเงื่อนไขได้ต้นปีหน้านี้แน่นอน
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
สมกับเป็นมือเก่าเก๋าเกมด้านพลังงานอย่างยิ่ง สำหรับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ออกมาระบุว่า ความคืบหน้าการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย 2 แหล่ง ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและบงกชนั้น จะสามารถดำเนินการกำหนดเงื่อนไขได้ต้นปีหน้านี้แน่นอน
การประกาศข่าวดีดังกล่าว ถือเป็นความชัดเจนที่รอคอยเสียที สำหรับเรื่องสัมปทานหรือใบอนุญาตแปลงสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่คาราคาซังกับความไม่แน่นอนมานานกว่า 3 ปีแล้ว
ตามขั้นตอนที่รมว.พลังงานระบุ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ อยู่ในขั้นตอนเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประมูลหาผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้ร่วมดำเนินการสำรวจและผลิตกับรัฐ ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC)
หากคนไทยไม่ความจำเสื่อมลง เรื่องนโยบายให้สัมปทานแบบเดิมที่ทำกันมายาวนาน กับเรื่องแบ่งปันผลผลิตนั้น เคยมีข้อถกเถียงกันมาร้อนแรงในหลายปีมานี้ว่าอย่างไหนดีกว่ากัน ถึงขั้นทำให้เกิดความล่าช้าทางด้านนโยบายกันมานานเลยทีเดียว กว่าจะลงเอยด้วย พ.ร.บ.แก้ไขใหม่ที่ระบุความหลากหลายทางนโยบายของการให้ใบอนุญาตแบบทั้งสัมปทาน และแบ่งปันผลผลิตผสมกันไป
ก็ไม่รู้เถียงกันเป็นวรรคเป็นเวรไปทำไม เพราะว่ากันโดยข้อเท็จจริงแล้วไม่ว่าระบบไหนก็มีเงื่อนไขที่ใกล้เคียงกันอยู่แล้ว เพราะกุญแจหลักมันอยู่ที่ปริมาณสำรองใต้แผ่นดินในแอ่งปิโตรเลียมมากกว่า
เพียงแต่เงื่อนไขของการใช้ถ้อยคำที่ว่า “เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ” ซึ่งมีการตีความคนละทิศคนละทาง ทำให้เรื่องยุ่งยากมากขึ้น
โดยข้อมูลที่เปิดเผยกันออกมา แหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่ขุดเจาะสำรวจแล้วมีหลายแหล่ง แต่แหล่งที่กล่าวมาทั้งสองแหล่งนี้ เป็นแหล่งสัมปทานเก่าแก่
แหล่งปิโตรเลียมเอราวัณที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565 เป็นสัมปทานของบริษัทยูโนแคล จำกัดเดิม แต่ยูโนแคลถูกเชฟรอนเทคโอเวอร์กิจการไป ปัจจุบันจึงเป็นสัมปทานของเชฟรอนแห่งสหรัฐฯ ในนามบริษัท เชฟรอนเอเชียแปซิฟิกสำรวจและผลิต จำกัดเป็นแกน ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 71.25% กับบริษัทร่วมทุนเช่น บริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด 23.75% และ ปตท.สผ. 5%
ส่วนแหล่งบงกช ที่จะหมดอายุปี 2566 เป็นสมัยสัมปทานรุ่นแรกของกลุ่ม ปตท. ที่ถือว่าเป็นจุดผกผันสำคัญในการสำรวจและขุดเจาะธุรกิจปิโตรเลียมระดับต้นน้ำ ว่าคนไทยก็มีความสามารถเช่นกัน ในนาม บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
ตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวม 4 ฉบับ การประมูลจะเกิดขึ้นหลังจากครม.มีมติเห็นชอบกฎกระทรวงและร่างประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างดังกล่าว
เพียงแต่ในระหว่างรอมติ ครม.ดังกล่าว รมว.พลังงานระบุว่า กระทรวงพลังงาน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันเป็นการภายใน เพื่อจัดทำองค์ประกอบสำคัญของการประมูลให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ และเชิญชวนให้มีผู้เข้าร่วมประมูล
ทั้งนี้ องค์ประกอบสำคัญที่จะหารือ ตามกรอบของ รมว.พลังงาน ได้แก่
1.ข้อมูลปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่เหลืออยู่ และปริมาณการผลิตก๊าซ
2.การรื้อถอนแท่นผลิตที่ไม่จำเป็นหรือไม่ต้องการ รวมถึงค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นที่ยังต้องการเก็บไว้ใช้งาน และการโอนแท่นที่ยังต้องการเก็บไว้ใช้งาน (Asset Transfer)
3.มาตรการที่สนับสนุนให้ผู้รับสัมปทานปัจจุบันลงทุนเพื่อรักษาระดับการผลิตจนสิ้นสุดอายุสัมปทาน
4.มาตรการที่สนับสนุนให้ผู้ชนะประมูลภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตลงทุน เพื่อรักษาระดับการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อเริ่มสัญญาใหม่
5.หลักการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติและผู้ซื้อ
ความซับซ้อนของประเด็นที่กล่าวมา เป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีที่เจ้าของสัมปทานเดิมไม่ได้ชนะการประมูล ซึ่งจะต้องมีการกำหนด “ระยะรอยต่อ” ให้ชัดเจน
เหตุผลก็เพราะไม่ให้เกิดข้อครหาว่ามีการ “ล็อกสเป็ก” เกิดขึ้นตามมา เพราะเดิมพันคราวนี้ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้แสดงความสนใจเข้ามาประมูลพอสมควร ทั้งรายเก่าและรายใหม่
ครั้งนี้ คาดหมายว่า การแข่งขันจะเข้มข้นมาก เพราะมีตัวแปรสำคัญคือ CNOOC (China National Offshore Oil Corporation) จะเข้ามาแข่งขันด้วย
การตัดสินใจของกระทรวงพลังงานและรัฐบาลไทยในเรื่องการประมูลแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทยนี้ จะกลายเป็นตำนานหน้าใหม่อีกครั้ง ของวงการพลังงานระดับภูมิภาค ที่จะมีผลพอสมควร แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า การสำรวจและขุดเจาะในพื้นที่นี้ มีความเสี่ยงสูงมากกว่าในอดีต และมีแก๊สมากกว่าน้ำมันดิบ