THG สวยสะดุด

“หมอบุญ” นายแพทย์บุญ วนาสิน และ "หมอเสริฐ" นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ต่างกันอย่างไร...ไม่ต้องพูดถึงใครรวยกว่ากัน เพราะพิสูจน์ไม่ได้จริงๆ...ถามไปก็ยากจะได้คำตอบ


แฉทุกวันทันเกมหุ้น 

หมอบุญ” นายแพทย์บุญ วนาสิน และ “หมอเสริฐ” นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ต่างกันอย่างไร…ไม่ต้องพูดถึงใครรวยกว่ากัน เพราะพิสูจน์ไม่ได้จริงๆ…ถามไปก็ยากจะได้คำตอบ

รู้แต่ว่า รวยเหมือนกัน และประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

จากข้อมูลที่ผ่านมา จะพอสังเกตได้ไม่ยากว่า…ที่ไหนมีหมอบุญ ที่นั่นไม่มีหมอเสริฐ หรือกลับกัน….หากที่ไหนมีหมอเสริฐ ก็ต้องไม่มีหมอบุญ…ไม่รู้เพราะเส้นทางไม่ทับกัน หรือเป็นเพราะ “เจตนาฟ้า

ต่างกันหนัก ตรงที่ในอดีต หมอบุญ มีชื่อเสียงในเรื่องการเป็นนักลงทุนมือหนัก แต่กิจการโรงพยาบาลที่หมอบุญก่อตั้งหรือเข้าไปบริหารโดยตรง ไม่เคยเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ…ส่วนหมอเสริฐนั้น มีครอบครองหุ้นใหญ่ในกิจการบริษัทมหาชนจดทะเบียนหลายรายการ

วันนี้ หมอบุญ เป็นมากกว่านักลงทุนแล้ว เพราะกลายเป็นประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ที่เพิ่งเข้าเทรดวันแรกไปหมาดๆ เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

แล้วก็….ติดเชื้อในกระแสเลือด…เอ๊ย…ไม่ใช่…ติดโรค “หลุดจอง” ไปเรียบร้อยร่วงลงหลายวันรวด

ราคาจอง 38.00 บาท ที่ระดับพี/อี ปัจจุบัน 60 เท่า ร่วงลงมานอนแอ้งแม้งรอบๆ 30.00 บาท …หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น…เหมือนนางงามเข้ารอบคนสวย เดินหัวทิ่มสะดุดตกเวทีประกวด….ยังไงก็ยังงั้น

คำถามคือ ใครขาย? และขายทำไม?. … คำตอบแรกพอหาได้ ส่วนคำตอบหลัง ….ไม่ทราบขอรับ

จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเมื่อปิดสมุด พบว่าแรงขายมาจากผู้ถือหุ้นรายย่อยเดิมส่วนหนึ่ง ขณะที่ยังมีผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ถือหุ้นโรงพยาบาลมากว่า 40 ปี ยังถือหุ้นต่อไป ทั้งยังซื้อหุ้นเพิ่มด้วยความมั่นใจในศักยภาพการดำเนินงาน

หมอบุญ บ่นพึมพำเป็นหมีกินผึ้ง แม้จะไม่กังวลใจอะไร ว่า ราคาหุ้นไม่ควรร่วงเลย เพราะเชื่อมั่นว่าตนเองและบรรดา “แฟนคลับหมอบุญ” ไม่ได้ขายออกมาแน่นอน…แต่งานนี้ “มันขายขี้หน้า

เหตุผลที่หมอบุญเชื่อมั่นว่าราคาที่ขายจองเหมาะสม เพราะไม่ได้ตั้งราคาซี้ซั้ว… “ในแง่ของพื้นฐานแล้ว ผมมั่นใจว่าในอนาคตจะสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุน และในที่สุดก็จะสะท้อนไปสู่ราคาหุ้นที่แท้จริง”

มุมมองของหมอบุญนั้น แผนธุรกิจหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดมีโปรเจ็กต์ “ครบเครื่อง” รออยู่ข้างหน้า ประกอบด้วย

– แผนขยายธุรกิจในประเทศ 3 โครงการ (ไม่นับรวมโครงการอื่นที่เคยประกาศเอาไว้เช่นการนำที่ดินของบริษัทมาทำโครงการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ที่ พื้นที่หัวหินจำนวน 10 ไร่ จังหวัดกระบี่ จำนวน 200-300 ไร่ จังหวัดภูเก็ต จำนวน 50 ไร่ อำเภอสมุย จำนวน 400 ไร่ และพื้นที่เขาใหญ่ จำนวน 200-300 ไร่)

1)โครงการโรงพยาบาลศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธนบุรี (ถนนบำรุงเมือง) ลงทุน 3,000 ล้านบาทจากการพัฒนาอาคารโซโห ของบริษัท บำรุงเมืองพลาซ่า จำกัด (BMP) ให้เป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ด้านเวลเนสและแอนตี้เอจจิ้ง รองรับผู้ป่วยในช่วงฟื้นฟูร่างกายหรือกายภาพบำบัด คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการได้ภายในปี 2561

2)โครงการ Jin Wellbeing County บนที่ดินประมาณ 140 ไร่ในย่านรังสิต พัฒนาเป็นโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยและให้บริการทางการแพทย์อย่างครบวงจร คาดใช้เงินลงทุนรวมกว่า 1.6 หมื่นล้านบาทโดยที่เฟสแรกจะแล้วเสร็จปี 2561-2562

3)โครงการขยายโรงพยาบาลธนบุรีและโรงพยาบาลธนบุรี 2 เพื่อเพิ่มการรับผู้ป่วยรวมถึงการให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นในอนาคต

– แผนขยายธุรกิจในต่างประเทศ  2 โครงการใหญ่ ประกอบด้วย

1) ร่วมทุนพัฒนาโรงพยาบาล Welly Hospital ในเมืองเว่ยไห่ ประเทศจีน โดยบริษัทถือหุ้น 58% และพันธมิตรท้องถิ่น ถือหุ้น 42% เปิดให้บริการเต็มรูปแบบอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

2) การเข้าถือหุ้นใน Aryu International Healthcare Company Limited ร่วมกับ Ga Mone Pwint Company Limited ซึ่งเป็นพันธมิตรท้องถิ่นในเมียนมา โดยบริษัทถือหุ้น 10% และมีแผนเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ปัจจุบันกำลังก่อสร้างโรงพยาบาล Ar Yu International Hospital ในเมืองย่างกุ้ง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในไตรมาส 2 ของปีหน้า

ทั้งหมดนี้ ยังไม่รวมถึงโครงการอนาคตที่ยังต้องรอเวลาสร้างรายได้ในอนาคต นับแต่ การรับจ้างบริหารโรงพยาบาลในจีน และแผนการขยายไปประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลัก ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของประเทศไทยที่ลดลง….เท่ากับอนาคตทางยุทธศาสตร์ระยะยาว จะเน้นหนักการเติบโตในต่างประเทศมากเป็นพิเศษ โดยจะเห็นได้จากการตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นมากกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1%

คำถามที่คาใจต่อมาคือ การขายหุ้นจนหลุดจองของรายย่อย อาจจะเกี่ยวข้องกับการระดมทุนที่เงินส่วนใหญ่ที่ได้ไป ถูกนำไปใช้หนี้เสียมาก….ทำให้ต้องถามว่าร้อนรนอะไรปานนั้น ก็มีคำอธิบายว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน

นางสาวอัญชลี ชวลิตจารีธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี และรักษาการซีเอฟโอ THG ชี้แจงว่า การนำเงินจากการระดมทุนและจากกระแสเงินสดของกิจการบางส่วนรวมกว่า 3 พันล้านบาทไปคืนหนี้นั้น เป็นไปตามแผน และ…..เป็นเทคนิคการบริหารจัดการด้นการเงินเพื่อ “…ปลดล็อคหนี้ระยะสั้น และหนี้ระยะยาว ซึ่งกู้มาเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการขยายโครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จ แทนที่จะนำเงินสดที่ได้ไปฝากธนาคารที่มีดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ…ได้ประโยชน์จากส่วนต่างของดอกเบี้ย และที่สำคัญสามารถเจรจาลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย สำหรับวงเงินเครดิตในอนาคต”

ฟังแล้วก็เข้าใจได้ และมีเหตุผล เพียงแต่คำว่า “อนาคต” ของหมอบุญและผู้บริหารของ THG นั้น หมายถึง…นับแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านั้น คงต้องร้องเพลง….รอพี่หน่อยนะน้อง ไปก่อน

รอให้หมอบุญ และทีมงานTHG หายงงจากอาการ…คนสวยสะดุดเวที….เสียก่อน

อิ อิ อิ

Back to top button