พาราสาวะถี
จะมีกี่คนที่ไม่ใช่กองเชียร์รัฐบาลคสช.จะเชื่อตามที่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ออกมายืนยันว่า ไม่มีทางที่สภาซึ่งเกิดมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารจะรับงานใครมาแก้ไขกฎหมาย ด้วยข้ออ้างว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การจะแก้ไขกฎหมายหรือยกร่างกฎหมายใดๆ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 66
อรชุน
จะมีกี่คนที่ไม่ใช่กองเชียร์รัฐบาลคสช.จะเชื่อตามที่ พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ออกมายืนยันว่า ไม่มีทางที่สภาซึ่งเกิดมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารจะรับงานใครมาแก้ไขกฎหมาย ด้วยข้ออ้างว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การจะแก้ไขกฎหมายหรือยกร่างกฎหมายใดๆ ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตามมาตรา 66
นั่นก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้แค่ในระดับหนึ่ง เพราะการรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องปลายทาง แต่ต้นทางมันอยู่ที่ว่าสนช.จะแก้ไขกฎหมายตามที่มีผู้เสนอมาหรือไม่ต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้น มันต้องมองย้อนกลับไปยังเบื้องหลังของความเคลื่อนไหวของบุคคลหรือกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขว่า มีใครคอยกำกับและสั่งการหรือไม่
ต้องไม่ลืมว่า สถานะของสนช.แม้จะมีบทบาทปฏิบัติหน้าที่แทนทั้งส.ส.และส.ว. แต่การทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่ทักท้วงหรือตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารอย่างจริงจัง มีแต่จะคล้อยตามและเห็นด้วย กรณีแก้ไขกฎหมายอันเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองก็เช่นกัน หากเป้าหมายคือโรดแมปเลือกตั้งต้องถูกเลื่อนออกไป ถามว่ามีหรือที่จะไม่ปฏิบัติตาม
การยื่นข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ผนวกเข้ากับหนังสือลงนามโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ใช้สถานะเลขาธิการกปปส. เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ก็ชวนให้คิดกันไปไกลแล้วว่า ท่วงทำนองลักษณะนี้ไม่ใช่ความบังเอิญโดยมิได้นัดหมายอย่างแน่นอน ยิ่งมองไปถึงสัมพันธ์อันเกี่ยวเนื่องกับทั้งสองคน ในฐานะผู้มีบทบาทอย่างสำคัญในการล้มรัฐบาลที่ผ่านมา
ขณะที่สังคมยังกังขาต่อข้อเสนอแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ทั้งอ้างเรื่องความเหลื่อมล้ำของพรรคเก่าและพรรคใหม่ ทั้งการยกเอาประเด็นพรรคการเมืองไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้จนอาจจะเสี่ยงต่อการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ผลบังคับใช้มาแล้วกว่า 2 เดือน จู่ๆ ความเห็นของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา ก็โพล่งมาแบบดื้อๆ เสนอให้เลือกตั้งครั้งหน้าส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค ไม่ต้องมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เอาแค่ส.ส.เขต 400 คนก็พอ
เสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองนั้นกระหึ่มและดังอย่างต่อเนื่อง แต่ในมุมวิชาการก็มีหลายความเห็นที่น่าสนใจ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง วิเคราะห์ว่า กรณีนี้ไม่ใช่แค่การพูดเล่นของสมศักดิ์แน่นอน มันจึงชวนให้คิดต่อว่าเขาคิดอะไรอยู่ หรือมีใครเสนออะไรให้ทำ หรือมีภารกิจอะไรมาหรือไม่ ต้องไปถามสมศักดิ์ดู คนระดับสมศักดิ์ไม่พูดอะไรเลอะเทอะหรือพูดอะไรเล่นๆ แน่นอน
ด้าน ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า ข้อเสนอของการให้ส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดี เหมือนถอยกลับไปในยุครัฐบาลเผด็จการเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว จึงไม่เชื่อว่าข้อเสนอนี้จะสามารถแก้ความขัดแย้งได้ กลับกันอาจเพิ่มความขัดแย้งขึ้นมาอีกมากกว่า แต่ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมมีนัยทางการเมือง
มิหนำซ้ำ ยังเป็นเสียงที่เกิดขึ้นหลังจากมีเสียงเรียกร้องให้ปลดล็อคพรรคการเมือง และพรรคขนาดกลางมีความสำคัญมากขึ้น มันจึงกลายเป็นสิ่งที่ถูกโยนขึ้นมาเพื่อถามหาแนวร่วม เพื่อแสวงหามิตร อันมีแนวคิดและแนวทางเดียวกัน บางทีอาจจะไม่มีใบสั่งแต่มีปลายทางที่ถ้ามีใครรับข้อเสนอและสนับสนุน มันจะทำให้คนที่อยากเป็นนายกฯคนนอก หันมามองแนวทางนี้ก็เป็นได้
ทิศทางแบบนี้เป็นเหมือนอย่างที่ สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.มองว่า ที่สมศักดิ์มีข้อเสนอเช่นนี้คงคิดว่าการที่มีส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรค จะทำให้สามารถโหวตนายกฯคนนอกได้ง่ายกว่า เป็นการเอื้ออำนวยให้นายกฯคนนอก ถ้าคนที่อยากจะเป็นนายกฯคนนอก วิธีการนี้ก็เป็นวิธีการที่จะได้นายกฯคนนอกค่อนข้างสูงแต่ต้องมีเงินมาก เพราะการที่จะให้คนโหวตคนนอกขึ้นมาก็จะยาก
อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้อาจจะตื้นเกินไป เพราะหากมองไปยังกลไกที่วางไว้ผ่านกระบวนการอันแนบเนียนและแยบยลของบรรดาเนติบริกรแล้ว จะเห็นว่าคนที่อยากจะเป็นนายกฯคนนอกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า แทบจะไม่ต้องใช้เงินมากขนาดนั้น มีเพียงแค่อำนาจและเงื่อนไขในการต่อรองที่พรรคการเมืองทั้งหลายยากจะปฏิเสธก็เพียงพอ
กลไกที่ถูกสร้างขึ้นนั้น แม้จะยังไม่ผ่านการพิสูจน์ แต่พอจะมองเห็นหนทางที่รออยู่ข้างหน้าได้แล้วว่า ผลลัพธ์มันจะออกมาอย่างไร เพียงแต่ก่อนที่จะไปถึงตรงจุดนั้น กับปัญหาที่ผู้ซึ่งมีความต้องการอยากเป็นนายกฯคนนอกต้องเผชิญ ณ ปัจจุบัน เริ่มมีคำถามว่ามันจะสร้างความบอบช้ำ จนทำให้คนคนนั้นหรือองคาพยพที่เกี่ยวข้องต้องมีอันเป็นไปก่อนเวลาอันควรหรือเปล่า
แต่เริ่มมีคนจำนวนหนึ่งเริ่มมองว่าบางทีข้อเสนอของสมศักดิ์หรือความเคลื่อนไหวของซีกกปปส.ที่แยกกันเดิน อาจจะไม่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ก็ได้ เพียงแค่ต้องการให้ปรากฏเป็นข่าว เพื่อเบี่ยงกระแส เบนความสนใจต่อแรงกดดันทางการเมืองที่กำลังพุ่งเข้าใส่รัฐบาลในเวลานี้ โดยเฉพาะกรณีแหวนเพชรกับนาฬิกาหรู
ทว่าถ้ามองไปยังสายสัมพันธ์ระหว่างคนเสนอประเด็นร้อนกับผู้ที่ตกเป็นเป้าโจมตีว่าด้วยเครื่องประดับหรู ก็ไม่น่าจะใช่เป็นมิตรแท้ที่จะต้องลงทุนโอบอุ้มกันขนาดนั้น มิหนำซ้ำ ยังน่าจะเป็นการดีเสียด้วยซ้ำที่จะเขี่ยใครบางคนให้พ้นเส้นทางอำนาจ เพื่อที่จะได้ไม่เป็นตัวถ่วงให้กับท่านผู้นำ แม้จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในแง่ความสุจริต แต่หากมีบริวารเป็นพิษก็อาจจะทำให้พังพาบทั้งคณะก็เป็นได้
ในภาวะที่การเมืองเริ่มจะเข้มข้นขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็มองเห็นมิเช่นนั้นคงไม่สั่งให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลงานเพื่อรับมือกับฝ่ายตรงข้าม แต่กลยุทธ์ทางการเมืองต่อให้ศึกษาบทเรียนมาอย่างไร และวางแนวทางแก้ไขไว้ดีขนาดไหน แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อำนาจล่มสลายทุกครั้งล้วนแต่เกิดจากปัจจัยภายในแทบทั้งสิ้น เหลิงอำนาจนั่นก็ประการหนึ่ง แต่ความโลภจนลืมตัวและยิ่งในภาวะที่ไร้การตรวจสอบ เป็นสิ่งน่ากลัวและนั่นจะกลายเป็นว่าคนชั่วทำให้คนดีมีอันต้องพบจุดจบได้ง่ายๆ