สุทธิชัย หยุ่น และ เดอะ เนชั่น
การจากลาจากแผงหนังสือของนิตยสารต่างๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยแบบ “ใบไม้ร่วง” กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับเรื่องของ 1 ในนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ร่วมสมัยของไทยอย่าง นาย สุทธิชัย หยุ่น ที่จากนี้ไปจะเหลือเพียงแค่ตำนานให้ระลึกถึง
พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล
การจากลาจากแผงหนังสือของนิตยสารต่างๆ ของสื่อสิ่งพิมพ์เมืองไทยแบบ “ใบไม้ร่วง” กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับเรื่องของ 1 ในนักหนังสือพิมพ์ที่ยิ่งใหญ่ร่วมสมัยของไทยอย่าง นาย สุทธิชัย หยุ่น ที่จากนี้ไปจะเหลือเพียงแค่ตำนานให้ระลึกถึง
นานกว่า 4 ทศวรรษแล้ว ที่ชื่อของ สุทธิชัย หยุ่น เป็นตำนานที่มีชีวิตอยู่ของวงการสื่อไทย และเครือเดอะเนชั่น ทั้งในฐานะสัญลักษณ์ หรือ แบรนด์ แอมบาสซาเดอร์ ด้วยคำขวัญเชิงอหังการ “ผิดจากนี้ ไม่ใช่เรา”
แม้จะเชื่อในกฎไตรลักษณ์ที่ว่าด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่า ใครก็ตามที่ยิ่งใหญ่แค่ไหนก็มีวันที่จะพ่ายแพ้ได้ แต่การจบแบบ “ไม่สวย” ของ สุทธิชัย หยุ่น ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่น่าใจหายไม่น้อย
การจบตำนาน ไม่ได้เกิดจากฝีไม้ลายมือในการทำงานอาชีพถดถอยลง แต่เป็นเพราะปัจจัยในเกมธุรกิจ จากการที่ไม่สามารถรักษาอำนาจนำในองค์กรได้อีกต่อไป ก็ยิ่งเป็นบทเรียนของ “มืออาชีพ” ทั้งหลาย อีกตัวอย่างหนึ่ง
ข่าวล่าสุดการเทขายทรัพย์สินในเครือเดอะ เนชั่น (แกนหลักคือ NMG เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป) หลายรายการ ตั้งมูลค่าเบื้องต้นไว้ที่ 1.4 พันล้านบาทเศษ โดยมีรายการหนึ่งมีเงื่อนไขว่า ผู้ซื้อจะต้องหาเงินมาจ่ายหนี้ให้ NMG กว่า 700 ล้านบาทเศษที่นิติบุคคลนั้นยืมไปด้วย) สะท้อนถึงการ “ถอยร่น” ของทีมงานนำโดยสุทธิชัย หยุ่น ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่ (ที่ยังมีคำถามเรื่องความชอบธรรมในการเข้ามาครอบงำกิจการติดมาด้วย) อย่างยอมจำนนเพราะอับจนหนทางไปต่อในทางธุรกิจ
กว่า 40 ปีก่อน คนหนุ่มที่ถือว่าเป็น the angry young men นำโดยธรรมนูญ มหาเปารยะ และสุทธิชัย หยุ่น ที่ไม่พึงพอใจกับระบบการบริหารจัดการของผู้บริหารต่างชาติในหนังสือพิมพ์ต่างชาติรายเดียวของไทยยามนั้น ได้แยกตัวออกมาตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเป็นทางเลือก
15 ปีแรกของการบุกเบิก กลุ่มเนชั่น ล้มลุกคลุกคลานอย่างสมบุกสมบัน ผู้สนับสนุนทางการเงินรายแล้วรายเล่า จากกลุ่มทุนที่เชื่อว่า การสนับสนุนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณ “ชาตินิยม” ต้องผลัดเปลี่ยนเวียนกันเข้ามา พร้อมกับจากไป เพราะทนแบกรับปัญหาการเงินไม่ไหว
ท้ายสุด กลุ่มผู้ก่อตั้งก็เหลือเพียงสุทธิชัย หยุ่น และเพื่อนเก่าจาก ACC ที่เข้ามาร่วมกันบุกเบิกให้กิจการดำเนินต่อไป จนกระทั่งในที่สุดก็เป็นเครือข่ายสื่อหลากหลายตั้งแต่หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์เล่ม ตำรา วิทยุ โทรทัศน์ และออนไลน์
บริษัท NMG ถูกตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียน ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นสื่อที่มีเครือข่ายใหญ่โต ที่ทรงอิทธิพลพอสมควร แต่ฐานะทางการเงินกลับ “กลวงใน” เพราะตัวเลขงบการเงินของ NMG หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ระบุว่า ความสามารถในการแข่งขันแค่ทรงตัว กำไรถดถอย ลุ่มๆ ดอนๆ ต้องเพิ่มทุนหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่อง (แม้จะมีการแตกบริษัทในเครืออีก 2 รายเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อแก้ปัญหา ก็ไม่ได้ทำให้ NMG เป็นหุ้นบลูชิพขึ้นมาได้)
ฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่ของเครือเดอะ เนชั่น ผสมเข้ากับโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เปราะบางเพราะไร้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ชัดเจน และไม่สามารถควบคุมผู้บริหารเครือที่นำทีมแบบ “ผู้นำเดี่ยว” ได้เปิด “ส้นเท้าอาคีลีส” ให้กับการเข้ามาเจาะเทกโอเวอร์กิจการโดยกลุ่มทุนใหม่นำโดยนาย ฉาย บุนนาค (ซึ่งโดยนิตินัยไม่ปรากฏชื่อ แต่โดยพฤตินัยชัดเจน) ที่กระจายตัวกัน จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับหนึ่ง
ความตื่นตระหนกจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปรุนแรงเกินคาด ทำให้กับสุทธิชัย หยุ่นและพวก ดิ้นรนตอบโต้อย่างหนัก อย่างสะเปะสะปะ เปิดเผย “ส้นเท้าอาคีลีส” ของตนเองจากอาการ “หน้ามืด” อาทิ
- เริ่มจากสงครามภาพลักษณ์ในช่วงแรกตั้งข้อกล่าวหาว่า การเข้ามาของ SLC ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อ NMG เลย และมีเจตนาเคลือบแฝง พร้อมกับที่มาของทุนที่ไม่โปร่งใส
- ตามมาด้วยสงครามรวบรวมปริมาณหุ้นในตลาดในรูปแบบของการต่อสู้ฉันปรปักษ์ในสงครามช่วงชิงกิจการ รวมทั้งดึงพันธมิตรอย่างเจ้าสัวคีรี กาญจนพาสน์ มาร่วมขบวนต้านกลุ่มนายฉาย บุนนาค ทั้งที่ควรรู้ล่วงหน้าว่า เซียนสื่อ ไม่อาจสู้ เซียนหุ้น ในเกมที่ไม่ถนัดได้เลย (แถมยังมีโอกาสถูกพันธมิตรหลอกกินไข่แดงได้ง่าย)
- จบลงด้วย “วีรเวร” สร้างความวุ่นวายโดยเจตนาในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ต้นปี 2558 จนกระทั่งถูกคำวินิจฉัยของศาลแพ่ง (ว่า มติการประชุมสามัญอันอื้อฉาว ไม่มีผลบังคับใช้) และศาลอาญา (วินิจฉัยว่าเป็นการ “ไม่สุจริต” กรณีกีดกันผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุม ถูกศาลสั่งปรับระนาวเพราะ….กระทำการด้วยการขาดความรับผิดชอบและความระมัดระวัง) แม้ว่าคำสั่งศาลจะเป็นแค่ศาลชั้นต้นเท่านั้น สามารถยืดเวลาต่อสู้ไปได้อีกนานหลายปี
ผลพวงตามมาคือ ก.ล.ต. ลงดาบคู่กรณีทั้งสองฝั่ง ด้วยข้อหาแตกต่างกัน กลุ่ม NEWS ถูกตั้งข้อหา “สมคบคิด” เพื่อหลบเลี่ยงการทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ (acting in concert) และ คณะกรรมการจัดการประชุมสามัญ NMG วันนั้น (ไม่รวมสุทธิชัย) ขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นผู้บริหารและกรรมการเครือเนชั่นทั้งหมด
“เสาเอก” ที่สั่นคลอน นอกจากไม่สามารถรักษากิจการที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของยุคสมัยได้แล้ว ยังเสื่อมถอยบารมี กลายสภาพเสมือนรูปปั้นบนฐานอนุสาวรีย์ที่มีแต่นกมาเกาะแล้วขี้รดใส่ ก่อนบินจากไป
คำปลอบใจว่า “พ่ายแพ้ในเกมธุรกิจ แต่ชนะในวิชาชีพ” ไม่เพียงพอสำหรับปลอบประโลมใจ คนที่เคยสร้างตำนานแห่งวงการสื่อมายาวนานเกือบตลอดชีวิต แต่นี่คือข้อเท็จจริงของชีวิตที่ไม่อาจปฏิเสธได้
เดอะ เนชั่น ที่ปราศจากสุทธิชัย หยุ่น ก็ไม่ใช่เดอะเนชั่นที่คนเคยรู้จัก และกลับกัน สุทธิชัย หยุ่น ที่ปราศจากเดอะ เนชั่น ก็ไม่ใช่สุทธิชัย หยุ่นที่เคยรู้จักอีกต่อไป เช่นกัน