เยนอ่อน & นิกเกอิ

ช่วงเดือนตุลาคม 2559 เงินเยนอ่อนลงต่ำกว่า 110 เยนต่อดอลลาร์จากผลพวง "ย้อนศร" ของมาตรการดอกเบี้ยฝากติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องค่าเงินอย่างมิสเตอร์เยน หรือ นายเอสิเกะ ซากากิบาระ ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังที่ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินเยน เจ้าหน้าที่ IMF และบรรดาผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ข้ามชาติ ออกมาฟันธงว่า มีโอกาสที่ค่าเงินเยนจะแข็งขึ้นไปที่ระดับ 75-90 เยนต่อดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจัยแวดล้อม เนื่องจากความล้มเหลวของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการใช้มาตรการทางการเงินโอบอุ้มประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลกลางญี่ปุ่นมีปัญหาหนี้สาธารณะที่แบกจนหลังแอ่น


พลวัต ปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ช่วงเดือนตุลาคม 2559 เงินเยนอ่อนลงต่ำกว่า 110 เยนต่อดอลลาร์จากผลพวง “ย้อนศร” ของมาตรการดอกเบี้ยฝากติดลบของธนาคารกลางญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญเรื่องค่าเงินอย่างมิสเตอร์เยน หรือ นายเอสิเกะ ซากากิบาระ ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการคลังที่ดูแลเสถียรภาพของค่าเงินเยน เจ้าหน้าที่ IMF และบรรดาผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ข้ามชาติ ออกมาฟันธงว่า มีโอกาสที่ค่าเงินเยนจะแข็งขึ้นไปที่ระดับ 75-90 เยนต่อดอลลาร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า จากปัจจัยแวดล้อม เนื่องจากความล้มเหลวของธนาคารกลางญี่ปุ่นในการใช้มาตรการทางการเงินโอบอุ้มประคองเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะที่รัฐบาลกลางญี่ปุ่นมีปัญหาหนี้สาธารณะที่แบกจนหลังแอ่น

คำทำนายดังกล่าวน่าจะไม่ผิด ถ้าหากว่าบังเอิญโดนัลด์ ทรัมป์ไม่กลายเป็น “ปรากฏการณ์ใหม่” ที่เข้ามาทำให้คำทำนายของผู้เชี่ยวชาญกลายเป็นความผิดพลาดชนิด “หงายเงิบ” อย่างสิ้นเชิง

วันนี้ค่าเงินเยนกลับมาอยู่ที่ระดับ 112-113 เยนต่อดอลลาร์ อย่างค่อนข้างมีเสถียรภาพ และน่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ ดัชนีนิกเกอิ ของตลาดหุ้นโตเกียว กลับมายืนปิดแถวจุดสูงสุดในรอบ 30 ปีอีกครั้ง แม้ยังยากจะคาดเดาว่าดัชนีจะกลับไปเหนือจุดสูงสุดเดิมก่อนยุคฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแตกหลายทศวรรษก่อน

คนที่โล่งอกและปลอดภัยกับสถานการณ์เงินเยนอ่อนอย่างมีเสถียรภาพ หนีไม่พ้นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งในระยะหลายเดือนมานี้ แสดงความมั่นใจออกนอกหน้าถึงความสำเร็จในการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ และมาตรการพิมพ์ธนบัตร (QE) ของตนเองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมีผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นสดใสขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจว่าค่าเงินเยนที่อ่อนลงและอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นในตลาดต่างประเทศจะเสริมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้แข็งแกร่งขึ้น โดยไม่ต้องปรับขึ้นโดยอัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ 0.1%

ความสำเร็จที่เกิดจากโชคช่วยของธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่สามารถอำพรางข้อเท็จจริงได้เลยว่าการปรับพลิกประวัติศาสตร์การเงิน เมื่อต้นปี 2559 นโยบายดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรกที่ -0.1% ควบกับการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเดือนละ 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบีบให้คนฝากเงินน้อยลงและนำเงินออกมาจับจ่ายมากขึ้น เป็นผลพวงของการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในภาวะเงินฝืด และถดถอยมากว่า 2 ทศวรรษ

แม้ตัวเลขด้านบวกจาก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะแสดงให้เห็นความแข็งแกร่งขึ้น ต่อเนื่อง 7 ไตรมาส แต่ก็เป็นตัวเลขอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า 1.0% และที่สำคัญไม่เคยตอบโจทย์สำคัญได้เลยว่า อัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงในปัจจุบันของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ยังยืนอยู่ต่ำกว่าเป้า 2% ของ BOJ มาก

ด้านมืดของนโยบายการเงินแบบอัตราดอกเบี้ยติดลบ และพิมพ์ธนบัตรท่วมตลาดที่นายคุโรดะ ไม่พยายามกล่าวถึงมากนัก แต่เข้าใจกันได้ดีนั่นคือ การที่ค่าเงินเยนยังคงอ่อนค่าเหนือ 110 เยนต่อดอลลาร์นั่นเอง

ข้อเด่นของนโยบายเยนอ่อนค่า มีคุณูปการมากมายนับไม่ถ้วน และมีความหมายต่อการอยู่รอดของรัฐบาล และเอกชนญี่ปุ่นอย่างเข้มข้น

ด้านหนึ่ง เงินเยนที่อ่อนค่า ผสมกับอัตราเงินเฟ้อที่ติดพื้น ทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะในปัจจุบันซึ่งเป็นภาระของการคลังรัฐบาล สูงถึง 230% ของ GDP ช่วยให้ความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไม่สาหัสสากรรจ์มากเกินขนาด เนื่องจากมาตรการทางการเงินที่มีอยู่นั้นเป็นการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน ที่กำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 10 ปีเพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้ระบบสถาบันการเงิน

สำหรับธุรกิจเอกชน ยิ่งมีความสำคัญอย่างมาก รายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นที่มีฐานรายได้หลักจากนอกประเทศ ถ้าเงินเยนอ่อนค่า ส่งผลต่อกำไรสุทธิในรูปของค่าเงินเยนที่จะปรับสูงขึ้น (เป็นกำไรพิเศษจากอัตราแลกเปลี่ยน) ตามไปด้วย ดังนั้น ถ้าค่าเงินเยนยิ่งอ่อนค่าก็จะทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น

หากมองในเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ค่าเงินเยนอ่อนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของญี่ปุ่นโดยปริยาย และอีกยาวนานต่อไปเรื่อยๆ เมื่อใดก็ตามที่เยนแข็งขึ้นมา คือฝันร้ายของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทอย่างเลี่ยงไม่พ้น

30 ปีเศษที่ผ่านมา นับแต่ “ข้อตกลงพลาซ่า” ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ที่ญี่ปุ่นถูกชาติอย่างสหรัฐฯ และยุโรปบีบบังคับให้ต้องเพิ่มค่าเงินเยนจากระดับ 240 เยนต่อดอลลาร์ลงมาเหลือ 120 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งทำให้ฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่นแตกครั้งใหญ่ เป้าหมายของธนาคารกลางญี่ปุ่นล้วนกำหนดขึ้นมาเพื่อรักษา (ซึ่งนักการเงินตะวันตกเรียกว่า “สงครามลดค่าเงินเยน”) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และกำหนดอัตราเงินเฟ้อ

ค่าเงินเยนเหนือ 110 เยนต่อดอลลาร์คือเป้าหมายที่ไม่เป็นทางการที่ตลาดเงินทราบกันดี เพียงแต่บางช่วง อาจจะมีทีเผลอที่ทำให้ค่าเยนแข็งค่าขึ้นมาจากสภาพผิดปกติของตลาด ที่ทำให้ค่าเยนแข็งต่ำกว่า 100 เยนต่อดอลลาร์ ผลลัพธ์ที่เห็นง่ายสุดคือเก้าอี้ของผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นยามนั้นจะสั่นคลอนเสมอไป

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินเยนแม้จะผันผวนรุนแรง แต่โดยภาพรวมก็ยังคงอ่อนค่ามาโดยตลอด จากมาตรการแทรกแซงของธนาคารกลางญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบ

หลังผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2559 ที่ทำให้ทั่วโลกตะลึงกับชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ค่าเงินเยนกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง ผิดจากที่นักวิเคราะห์ทุกสำนักคาดอย่างสิ้นเชิง เพราะโดยปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นเงินไหลออกจากประเทศเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐฯ เพราะการทะยานขึ้นรุนแรงของดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์ก และความแข็งแกร่งของดัชนีเศรษฐกิจมหภาคสหรัฐฯ

ค่าเงินเยนที่อ่อนประมาณ 8% ในช่วงหลังเดือนธันวาคม 2559 ผลักดันให้ราคาหุ้นในตลาดญี่ปุ่นกลายเป็นแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในเอเชียปีนี้ และอยู่ในอันดับหัวแถวของตลาดหุ้นหลักทั่วโลก

ยามนี้ แม้ว่าเสียงของบรรดาผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ข้ามชาติ และนักวิเคราะห์ระดับโลกจะยังคงให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปราะบางระดับปีละต่ำกว่า 1% อีกยาวนาน จากปัญหาใหญ่ที่ทราบกันดีคือความท้าทายต่อการรับมือของรัฐบาลในอนาคตเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ถูกถือว่าเข้าขั้นวิกฤติที่สุด โดยดูจากจำนวนประชากร 127 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากถึง 40 ล้านคน หรือร้อยละ 33 ของประชากร ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าสูงที่สุดในโลก และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 39% ภายในปี 2593

ภาระด้านการคลังอันหนักอึ้งของทางรัฐบาลญี่ปุ่น และการขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่ เป็นขีดจำกัดขาขึ้นของราคาหุ้นญี่ปุ่น และทำให้เกิดคำถามว่า ค่าเงินเยนที่เกิดจากมาตรการทางการเงินที่ฝืนธรรมชาตินี้ จะดำเนินไปได้อีกสักกี่น้ำ

Back to top button