รู้จักหุ้น ‘ซันสวีท’

หุ้นตัวนี้มีชื่อเต็มคือ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN มีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ราคาหุ้นจะร้อนแรงตามชื่อหรือไม่นั้น ต้องมาดูพื้นฐานกันว่าเป็นอย่างไร


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

หุ้นตัวนี้มีชื่อเต็มคือ บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน) หรือ SUN

มีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

ราคาหุ้นจะร้อนแรงตามชื่อหรือไม่นั้น ต้องมาดูพื้นฐานกันว่าเป็นอย่างไร

บริษัทแห่งนี้ เขาผลิตและจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมถึงธุรกิจจัดหาและซื้อมาจำหน่ายไปซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารและผลผลิตทางการเกษตร

แล้วโครงสร้างของรายได้ล่ะ มาจากไหนบ้าง

คำตอบคือ ซันสวีทมีรายได้ธุรกิจผลิต และจำหน่ายข้าวโพดหวานแปรรูปและผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ

รายได้ธุรกิจซื้อมาจำหน่ายไปซึ่งดำเนินธุรกิจโดยบริษัท  ซันสวีท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (SI)

รายได้จากการขายอื่น เช่น รายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ รายได้จากการขายเศษวัสดุที่มาจากกระบวนการผลิต และรายได้อื่น เช่น ดอกเบี้ยรับ รายได้ค่าชดเชยการส่งออก รายได้ค่าไฟฟ้า กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน

จำนวนหุ้นที่เสนอขาย 130,000,000 หุ้น คิดเป็น 30.23% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด

ราคาเสนอขายไอพีโอ 5.85 บาท/หุ้น

ทำให้มี มูลค่าการเสนอขายกว่า 760,500,000 บาท

ดูจากมูลค่าแล้ว บรรดาขาหุ้นเขาบอกว่า “ไม่หนักมาก” ครับ

มูลค่าที่ตราไว้ (par) อยู่ที่ 0.50 บาท/หุ้น มูลค่าตามราคาบัญชี (Book value) เท่ากับว่า 0.8318 บาท/หุ้น

ราคาหุ้นไอพีโอ 5.85 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ พี/อี เท่ากับ 18.87 เท่า

อัตราส่วนฯนี้ คิดเป็นส่วนลด 16.98% จากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของหมวดอาหาร และเครื่องดื่มในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน หรือตั้งแต่ 14 ก.ย. 2560- 13 ธ.ค. 2560 ที่มีค่าเท่ากับ 22.73 เท่า

มีการนำไปเปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในหมวดธุรกิจเดียวกัน

นั่นคือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นที่เสนอขาย คิดเป็นส่วนเพิ่ม 56.21% และ 52.30% จากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของ บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เชียงใหม่โฟรเซ่นฟู้ด จำกัด (มหาชน)

นี่เขาเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนนะครับ

หรือช่วงวันที่ 14 ก.ย. 2560-13 ธ.ค. 2560 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 12.08 เท่า และ 12.39 เท่า

ตัวเลขสำคัญที่ต้องดูอีกสัดส่วนหุ้นของ “ผู้มีส่วนร่วมในการบริหาร” ที่ไม่ติด Silent Period

ตรงนี้พบว่า มีอยู่ จำนวน 64,349,600 หุ้น คิดเป็น 14.97% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด

ถือว่าไม่เยอะเท่าไหร่ครับ พอเบาใจได้

แล้วหลังการระดมทุน นำเงินไปใช้ทำอะไรบ้าง

1.ใช้ในการลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 260.00 ล้านบาท ภายในปี 2562

2.ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ 417.81 ล้านบาท ภายในปี 2561

และ 3.ใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน 50 ล้านบาท ภายในปี 2561

แม้จะมีการนำเงินไปใช้หนี้เงินกู้บ้าง แต่จะเห็นว่า ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มากมายอะไร หรือคิดเป็นเพียง 6-7% จากเงินที่ได้จากการระดมทุนทั้งหมดเท่านั้น

หนี้สินต่อทุน หรือ D/E ของ SUN ยังพบว่าลดลงต่อเนื่อง

เช่นในปี 2557 อยู่ที่ 94.04 เท่า

พอปี 2558 ลงมาเหลือ 26.84 เท่า, ปี 2559 จำนวน 4.68 เท่า

และ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560  เหลือเพียง 3.33 เท่า

สาเหตุที่ D/E ปี 2559 และ 9 เดือนแรกปี 2560 ลดลง ก็จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสะสมจากกำไรสุทธิในปี 2559 และงวด 9 เดือนแรกปี 2560

กำไร (ขาดทุน) ของ ซันสวีท ในปี 2557 พบว่าติดลบ 52.17 ล้านบาท

ปี 2558 พลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 19.61 ล้านบาท

ปี 2559 จำนวน 111.55 ล้านบาท

และ 9 เดือนแรกปี 2560 กำไร 111.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 คิดเป็น เพิ่มขึ้น 23.33%

และนี่คือหุ้น ซันสวีท

หุ้นบริษัทสุดท้ายที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯปี 2560

 

Back to top button