พาราสาวะถีอรชุน

พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสาน หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้ละสังขารไปเมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศและต่างประเทศต่างเศร้าโศกอาลัยในการสูญเสียพระอริยสงฆ์ในครั้งนี้ แต่ที่ชัดเจนเป็นเจตนารมณ์ของหลวงพ่อตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน ด้วยเล็งเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวายในการจัดการศพหลังการล่วงลับดับสูญ จึงเขียนพินัยกรรมบริจาคศพให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


พระเกจิชื่อดังแห่งภาคอีสาน หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ได้ละสังขารไปเมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศและต่างประเทศต่างเศร้าโศกอาลัยในการสูญเสียพระอริยสงฆ์ในครั้งนี้ แต่ที่ชัดเจนเป็นเจตนารมณ์ของหลวงพ่อตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน ด้วยเล็งเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวายในการจัดการศพหลังการล่วงลับดับสูญ จึงเขียนพินัยกรรมบริจาคศพให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันนี้สรีระของท่านได้บรรจุในโลงแก้ว ตั้งบำเพ็ญกุศลที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้เคารพไปจนถึงวันเสาร์ที่ 23 พฤษภาคมนี้ ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนของคณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่นต่อไป ไม่ต้องให้พวกหวังดีประสงค์ร้ายได้ทำมาหากินกับสรีระสังขารของท่านอีกต่อไป นี่คือความประเสริฐของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบโดยแท้

หันมาที่พินัยกรรม เอ้ย! โรดแม็พของคณะรัฐประหารที่ชื่อคสช.ว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญกันบ้าง วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างครม.และคสช.เพื่อพิจารณาทำข้อเสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ปมใหญ่อยู่ที่การทำประชามติ ซึ่งคงจะเลี่ยงไม่พ้น แต่ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น เทียนฉาย กีระนันทน์ ก็ได้ส่งข้อเสนอไปให้ที่ประชุมได้ช่วยพิจารณา

นั่นก็คือ การเสนอเงื่อนเวลาที่จะใช้ในกระบวนการทำประชามติ จากเดิมที่คาดหมายกันว่าไม่เกิน 3 เดือน แต่ประธานสปช.เห็นว่าไม่น่าจะเพียงพอ จึงขอให้เพิ่มเป็น 6 เดือน โดย “เสี่ยจ้อน” อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช.ยืนยัน ไม่ใช่เจตนาต่ออายุการทำงาน เพียงแต่ต้องการให้ประชาชนได้มีเวลาศึกษาทำความเข้าในในร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่

นาทีนี้จะให้คนเชื่อตามนั้นคงยาก เพราะเมื่อยึดตามหลักประชาธิปไตยแล้ว คนส่วนใหญ่ต้องการให้มีเลือกตั้งโดยเร็ว ยิ่งเมื่อมองไปยังภาวะเศรษฐกิจที่กำลังประสบอยู่ หลายฝ่ายเชื่อว่า การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกของประชาชนน่าจะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แม้รัฐบาลคสช.จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จแต่กลับบ่มีไก๊ในการทำให้งานด้านการแก้ปัญหาปากท้องรวดเร็วทันใจ

ด้วยเหตุนี้ยิ่งปล่อยให้เวลาเนิ่นช้าออกไป ในมิติทางการเมืองอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ในมุมภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยต้องเล่นกับความอดทนของประชาชน จะมีขีดจำกัดหรือไม่ ดังนั้น ดีที่สุดคือรีบให้หย่อนบัตรแล้วปล่อยให้คนที่อาสาเข้ามาเป็นตัวแทนของชาวบ้านไปว่ากันเอาเอง ถ้ายังขัดแย้งกันอีก หนนี้จะยึดอำนาจแล้วอยู่กันนาน 5 ปี 10 ปีคงไม่มีใครว่า

อย่างไรก็ตาม ฟังเสียงจากเสี่ยจ้อนแล้ว แนวโน้มผลการหารือของครม.และคสช.ที่จะออกมาในวันนี้ อาจเป็นไปอย่างที่อรชุนบอกไปวันวาน น่าจะยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการทำประชามติ เพราะถ้าพิจารณาไปถึงเงื่อนเวลาที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะส่งร่างให้สปช.พิจารณาเห็นชอบมีไปถึงวันที่ 6 สิงหาคมโน่น เหลือเวลาอีก 2 เดือนกว่าน่าจะพอดึงจังหวะหายใจหายคอไปได้อีกเล็กน้อย

 ขณะที่การเมืองว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญกำลังเข้มข้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาตอกย้ำทำลายเรื่องระบอบทักษิณ พร้อมๆ กับวลีเด็ด เป็นผู้นำฝ่ายค้านมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นครั้งที่ 4 อีกคงไม่ได้ เลือกตั้งครั้งหน้าหากทำไม่สำเร็จอาจวางมือ นี่คือความกระสันอยากและมองว่าตัวเองมีโอกาสอย่างมากที่จะพาพลพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศได้อย่างสง่างาม

แต่การเล่นการเมืองแบบสาดโคลนเช่นนี้ก็เป็นเครื่องหมายคำถามให้ผู้มีอำนาจว่า ถ้าเช่นนั้นจะสร้างความปรองดองให้เกิดได้จริงหรือ ด้วยท่วงทำนองดังกล่าว ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลยออกมากระตุกเตือนหัวหน้าพรรคเก่าแก่แบบแรงๆ ว่า ถึงขั้นนี้แล้วอภิสิทธิ์ยังคิดแต่จะหาเศษหาเลยกับฝ่ายตรงข้าม มีเวทีให้พูดก็ต้องเสียดสีให้ร้าย

ทั้งที่ความจริงของความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมายาวนานเกิดจากแนวคิดเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม ส่วนเหตุที่แหลมคมและขยายตัวมากขึ้นทุกทีใน 10 ปีที่ผ่านมานั้น เพราะพัฒนาการของสังคมไทยทำให้เกิดสิ่งใหม่ 2 เรื่องคือ รัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีที่มาจากจิตวิญญาณพฤษภาทมิฬ เป็นการตกผลึกร่วมกันของสังคมไทยว่าเราต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และองค์กรตรวจสอบที่เที่ยงธรรมเป็นอิสระ

ประการต่อมาคือ การปรากฏขึ้นของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นตัวแทนของทุนใหม่ เข้ายึดครองพื้นที่ทางธุรกิจ ท้าทายสายตาของทุนเก่าทั้งหลายที่แนบแน่นกับฝ่ายอนุรักษนิยมมายาวนาน เมื่อ 2 สิ่งนี้มารวมกันในเวทีการเมืองผ่านการเลือกตั้ง จึงกระทบกับอิทธิพลของฝ่ายอนุรักษนิยมโดยตรง จนมาถึงจุดที่ต้องระดมสรรพกำลังเข้าจัดการ

ในอดีตเมื่อเกิดรัฐประหารทุกอย่างจะจบกันไปสักพักแล้วรอเวลาเผชิญหน้ากันใหม่ แต่รัฐประหาร 2549 ต่างไปเพราะคนจำนวนมากเข้าใจสถานการณ์และเกิดสำนึกทางการเมืองที่แน่วแน่คือ สำนึกแห่งประชาธิปไตย ยิ่งเห็นฝ่ายหนึ่งใช้ทุกวิธีการจัดการฝ่ายตรงข้ามจนวาทกรรมสองมาตรฐานเป็นรูปธรรมชัดแจ้ง การต่อต้านขัดขืนเพื่อยืนยันหลักการประชาธิปไตยจึงยืดเยื้อและไม่มีทีท่าจะยุติลงได้

 เดอะเต้นตั้งข้อสังเกตว่า อภิสิทธิ์โจมตีเขาอย่างนี้มาตลอด แต่ก็แพ้ซ้ำซาก น่าจะสรุปบทเรียนได้ ไม่ใช่ใช้วิธีเดิมคือไล่ทำลายล้างเขาเรื่อยไป การประกาศพร้อมลงเลือกตั้งก็น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมากติกาชัดเจนทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 แต่กลับบอยคอตถึง 2 ครั้ง แต่เที่ยวนี้พร้อมจะลงทั้งๆ ที่กติกายังหาความชัดเจนไม่ได้ ส่วนการจะวางมือถ้าแพ้นั้นก็ถูกแล้ว

นี่คือส่วนหนึ่งของความเป็นจริงจากการกระทำของคนพรรคเก่าแก่และพลพรรคคนดีตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งซึ่งอภิสิทธิ์และชาวคณะคงต้องตระหนักอย่ามัวแต่กระหายในชัยชนะก็คือ ประเทศไทยจะมีหรือไม่มีทักษิณก็ได้ แต่ไม่มีประชาธิปไตยไม่ได้ การจัดการกับทักษิณด้วยการทำลายประชาธิปไตยจึงเท่ากับทำลายประเทศไทยในที่สุด

Back to top button