พาราสาวะถี
หากเป็นก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เชื่อได้เลยว่า ความเห็นของ สมชัย ศรีสุทธิยากร มุมมองของ รสนา โตสิตระกูล จะต้องได้รับการขานรับอย่างแข็งขันจากนักวิชาการและเหล่าคนดีทั้งหลายจากทุกวงการ แต่มาวันนี้สิ่งที่ทั้งสองคนเห็นแย้งกับองคาพยพของคสช. กลายเป็นความแผ่วเบาและหายไปกับสายลมและกาลเวลา
อรชุน
หากเป็นก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เชื่อได้เลยว่า ความเห็นของ สมชัย ศรีสุทธิยากร มุมมองของ รสนา โตสิตระกูล จะต้องได้รับการขานรับอย่างแข็งขันจากนักวิชาการและเหล่าคนดีทั้งหลายจากทุกวงการ แต่มาวันนี้สิ่งที่ทั้งสองคนเห็นแย้งกับองคาพยพของคสช. กลายเป็นความแผ่วเบาและหายไปกับสายลมและกาลเวลา
ท่าทีของกกต.ชายเดี่ยวนั้น ยังแน่วแน่ต่อความเชื่อที่ว่า กระบวนการคัดเลือกว่าที่กกต.สายศาล 2 รายจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้น น่าจะขัดกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยกกต.ที่ระบุต้องเลือกอย่างเปิดเผยและกรรมการแสดงเหตุผลในการเลือกด้วย แต่การดำเนินการของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้เป็นไปตามนั้น
แน่นอนว่าการทักท้วงของสมชัยในรอบแรกได้ผล เพราะที่ประชุมสนช.ได้ให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ทำหนังสือไปสอบถามและยืนยันจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ซึ่งหลังได้รับหนังสือแล้วที่ประชุมสนช.ก็เดินหน้าตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นมาตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและเรื่องร้องเรียนด้านจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการสรรหาและคัดเลือกทั้ง 7 คน นั่นหมายความว่าเชื่อตามหนังสือที่ศาลส่งมา
แต่สมชัยกลับตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือตอบจากเลขานุการศาลฎีกา มีใจความว่า ศาลฎีกาขอเรียนว่ากระบวนการคัดเลือกผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกกต.จำนวน 2 คน ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. 2560 มาตรา 12 วรรคสาม ครบถ้วนแล้ว จึงเรียนมาเพื่อทราบ
การชี้แจงของศาลฎีกาแค่จดหมายหนึ่งหน้ากระดาษ สนช.ถือว่าได้ถามและตอบจนเป็นที่กระจ่างชัดแล้ว ไม่ได้สนใจในรายละเอียดวิธีการปฏิบัติว่าเป็นอย่างไร เป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผยตามกฎหมายหรือลงคะแนนลับซึ่งผิดกฎหมาย ไม่ได้สนใจจะสืบเสาะข้อเท็จจริงว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ไม่สนใจในเอกสารที่นำส่งว่ายังขาดรายละเอียดทั้งจำนวนและรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดและคะแนนที่แต่ละคนได้รับ
รวมไปถึงก้าวข้ามวิธีลงคะแนนที่ให้ผู้พิพากษาแต่ละคนลงคะแนนในบัตรที่ไม่มีหมายเลขกำกับ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร โดยสมชัยเห็นว่า สนช.ทำงานง่ายเกินไปหรือไม่ กับการพอใจจดหมายตอบจากศาล ที่มีสาระสำคัญเพียง 4 บรรทัดที่แทบไม่มีการอธิบายรายละเอียดใดๆ แค่บอกว่า ทำตามกฎหมายแล้ว หากจะมีใครสักคนฟ้องสนช.ว่ากระทำการโดยประมาท ก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ กรุณาบอกตนด้วยเผื่อว่าอาจร่วมลงชื่อ
หากไม่มองว่านี่อาจเป็นความแค้นส่วนตัวของสมชัยที่กกต.ถูกเซตซีโร่ จึงต้องแปรสภาพตัวเองมาเป็นผู้ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ประเด็นเหล่านี้ก็น่าสนใจ แต่ก็อีกนั่นแหละเคยบอกไว้โดยตลอด ในยุคที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดครองเมืองเช่นนี้ ถามว่าจะมีใครกล้าเคลื่อนไหว เพื่อให้หลายๆ เรื่องเกิดความกระจ่างชัด สร้างบรรทัดฐานที่ดีในอนาคต คงยาก
เช่นเดียวกับกรณีรสนาซึ่งก็ตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของสนช.กับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระอีกแห่งหนึ่งอย่างป.ป.ช. ในปมการให้ประธานป.ป.ช.และกรรมการป.ป.ช.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนครบวาระ โดยความเห็นของรสนา คือ คนเหล่านั้นเคยเป็นข้าราชการการเมืองและเป็นกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน และยังพ้นจากตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560
เมื่อเป็นเช่นนั้น หลักนิติธรรม หรือ Rule of Law ของประเทศไทยนั้นยึดถือหลักรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ หรือ Supremacy of Constitution ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่หรือ Supremacy of Parliament และสนช.ก็ไม่มีผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งแม้สักคนเดียว แต่กลับใช้อำนาจแบบหักดิบผ่านกฎหมายลูกที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทสูงสุดของประเทศ
คำถามก็คือ พวกท่านผ่านกฎหมายนี้ด้วยสำนึกทางการเมืองเยี่ยงไร? ท่านทำเช่นนี้เพื่อประโยชน์ของใคร? และท้ายสุดประชาชนได้ประโยชน์อะไร? นอกจากจะไม่มีใครออกมาสนับสนุนความคิดของรสนาแล้ว อีกด้านอาจจะมีคนอีกพวกถามกลับไปที่เจ้าตัวก็เป็นได้ แล้วก่อนหน้าที่คณะรัฐประหารจะยึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง ทำไมพวกเดียวกับรสนาถึงมองไม่เห็นหัวหรือให้ความสำคัญของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
กรณีศึกษาจากบุคคลทั้งสอง ถือเป็นตัวอย่างของแนวร่วมคนดีที่วันนี้มองเห็นว่าสิ่งที่ตัวแทนของคนดีในนามคณะรัฐประหารคสช.และองคาพยพที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการไปนั้น ได้ละทิ้งแนวทางของกระบวนการอันเป็นหลักการและบรรทัดฐานที่ควรจะสร้างให้เป็นตัวอย่างที่ดีของนักการเมืองในอนาคต มิหนำซ้ำ หลายเรื่องที่ทำยังไร้ซึ่งการตรวจสอบ ถ่วงดุล ไม่สนเสียงทักท้วง ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมอันเลวร้ายกว่านักการเมืองที่พวกตัวเองเคยกล่าวหา
ขณะที่หนทางสุดท้ายซึ่งหลายคนหลายฝ่ายพุ่งเป้าไปว่าเรื่องจะต้องไปจบที่นั่น ในแง่ของการตีความวินิจฉัยคือศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านั้นก็ถูกสังคมตั้งข้อกังขาเรื่องมาตรฐานมาอยู่แล้ว เมื่อมาวันนี้กับการที่สนช.ไม่ได้รีเซตหรือเซตซีโร่องค์กรดังกล่าวตามที่กรธ.อยากให้เป็นและกรธ.เองก็ไม่ได้ติดใจ ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือที่ควรจะดีขึ้น กลับแย่ลงไปกว่าเดิมอีก
ทั้งหมดเหล่านี้คงจะโทษใครไม่ได้ เพราะหากเป็นฝ่ายที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับคณะเผด็จการมาโดยตลอด ก็ย่อมที่จะมองเห็นบทสรุปแล้วว่ามันจะออกมาในรูปแบบใด และพร้อมที่จะปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนั้น จนกว่าคนส่วนใหญ่จะตื่นรู้แล้วออกมาเรียกร้องกัน แต่สำหรับคนที่เคยเป็นพวกหรือยังเป็นพวกเดียวกันอยู่ แต่เริ่มรู้แล้วว่า หลายๆ เรื่องที่ผ่านกระบวนการขององคาพยพคณะรัฐประหาร ปลายทางที่แท้จริงแล้วเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เพื่อบ้านเมืองหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวพวกพ้องและการสืบทอดอำนาจกันแน่