ข้อเท็จจริง และ ความหวังพลวัต2015
รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พยายามพร่ำบอกประชาชนทุกวันศุกร์ว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำแบบเผด็จการของตนเอง ดีกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง และหากจะเลวก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีฝีมือ หรือเพราะไม่ทำงาน แต่เป็นเพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มารบกวน แต่ก็ทำดีที่สุดแล้วภายใต้แรงกดดันชนิดนี้ แถมยังบอกใบ้ว่า จะทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีใครมาไล่ออก
รัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พยายามพร่ำบอกประชาชนทุกวันศุกร์ว่า เศรษฐกิจไทยภายใต้การนำแบบเผด็จการของตนเอง ดีกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง และหากจะเลวก็ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่มีฝีมือ หรือเพราะไม่ทำงาน แต่เป็นเพราะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้มารบกวน แต่ก็ทำดีที่สุดแล้วภายใต้แรงกดดันชนิดนี้ แถมยังบอกใบ้ว่า จะทำไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่มีใครมาไล่ออก
คำพร่ำบอกดังกล่าว จะเรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อก็ย่อมได้ จะเรียกว่าการปลุกเร้าให้กำลังใจ และสร้างความหวังก็ได้เช่นกัน แต่ที่แน่นอนคือ คำพร่ำบอกไม่สามารถปิดบังข้อเท็จจริงได้ ดังที่มีคนบอกว่า ตัวเลขไม่เคยโกหก
เมื่อวานนี้ มีข่าวร้ายพร้อมกัน หลายเรื่องซ้อนที่ชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในหลายเดือนมานี้ และนับจากนี้ไป กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาของความยากลำบากชนิดที่เลี่ยงไม่พ้น และคนที่ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์คือ คนไทยที่อยู่ใต้รัฐบาลทหารที่อ้างตนว่าคืนความสุขให้ประชาชนโดยที่ไม่มีใครร้องขอ
เริ่มต้นจากการที่ สภาพัฒน์ฯ ออกประกาศปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้เหลือโต 3-4% จากเดิมคาด 3.5-4.5% เนื่องจากคาดว่าส่งออกน่าจะขยายตัวได้เพียง 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้มีโอกาสหดตัวถึงขยายตัวในช่วง -0.3 ถึง +0.7% จากการส่งออกที่หดตัวลง
ประกาศของสภาพัฒน์ฯ ออกมาในจังหวะก่อนเปิดตลาดหุ้นไทยภาคเช้าพอดี ผลลัพธ์คือ ตลาดหุ้นไทยไปต่อไม่เป็น ที่ทำท่าจะวิ่งขึ้นไปเหนือ 1,520 จุด ก็เลยชะงัก ปิดท้ายตลาดลบไป 1.78 จุด แถมต่างชาติขายสุทธิต่อเนื่องอีกวันเพราะการปรับลดเป้าเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าว
วันเดียวกัน แต่คนละเวลา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ออกมาระบุว่า ตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ใกล้เคียงกับที่แบงก์ชาติคาดไว้ โดยระบุว่า แรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งขยายตัวมากกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัว เป็นแรงถ่วงที่สำคัญ โดยยอมรับว่าอัตราการขยายตัวเทียบไตรมาสต่อไตรมาสที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 ยังชี้ถึงเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอ
นอกจากนั้น ยังออกมายอมรับหน้าตาเฉย เลิกปากแข็งเสียทีว่า ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงจากกิจกรรมการผลิตในภาคเกษตรที่หดตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่หดตัว เพราะผลกระทบจากโครงสร้างการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงต่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป
การออกมายอมรับดังกล่าว ถือว่าเป็นการยอมจำนนต่อข้อเท็จจริง และอาจถือได้ว่า มาสายเกินการณ์ เพราะหากไม่อมพะนำ ยอมรับแต่แรกว่า เศรษฐกิจไทยมีความสุ่มเสี่ยงมากขึ้น การแก้ปัญหาคงจะทำได้ทันท่วงที ไม่ใช่ปล่อยให้ล่าช้าขนาดนี้
ยังไม่เพียงพอ กระทรวงพาณิชย์ โดยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาเถียงว่าตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ ต่ำเกินไป ยังมั่นใจว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัว 1.2% ตามเป้าที่ตั้งไว้
จากนั้นก็ถึงคิวของกระทรวงการคลัง เพราะกรมสรรพากรออกมายอมรับว่า การจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2558 จะต่ำกว่าประมาณการถึง 140,000 ล้านบาท หลังจากพบว่าในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 58 มีการจัดเก็บต่ำกว่าเป้าหมายไปแล้ว 4.7 หมื่นล้านบาท โดยอ้างสาเหตุว่าเพราะราคาน้ำมันลดและเศรษฐกิจชะลอ พร้อมกับเตรียมถกเอกชนเพื่อให้เสียภาษีถูกต้องโดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาในห้าง และร้านอาหารขนาดใหญ่ที่ให้บริการในห้างสรรพสินค้า รวมถึงร้านอาหารดังๆ ที่ได้รับความนิยมในจังหวัดต่างๆ และภาคธุรกิจก่อสร้าง
ข่าวที่ประดังออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่ข่าวดีอย่างแน่นอน การที่ดัชนีหุ้นเมื่อวานนี้ติดลบไปแค่เล็กน้อย ถือได้ว่านักลงทุนไทยประสาทแข็งอย่างมาก หรือไม่ก็ตายด้านต่อประสิทธิภาพของภาครัฐจนชาชิน
ท่ามกลางข้อมูลนี้ นักวิเคราะห์หุ้นหลายสำนัก ก็ยังคงประเมินว่า ดัชนีSET และ SET50 ยังมีโอกาสที่จะรีบาวด์กลับขึ้นไปยืนที่ระดับแนวต้าน 1,530 จุดได้ โดยที่คาดหวังว่า เมื่อใดที่ดัชนีSET สามารถยืนเหนือ 1,525 จุดได้ แรงซื้อที่เปาะแปะในหลายวันมานี้ ที่ทำให้มูลค่าซื้อขายประจำวันต่ำมากแค่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเศษเล็กน้อยเท่านั้น จะกลับมาคึกคักเป็นภาวะกระทิงรอบใหม่ ดันหุ้นฝ่าแนวต้านขึ้นไปได้อีกครั้ง
ความคาดหวังของนักวิเคราะห์ดังกล่าว จะเป็นความจริงได้หรือไม่ ยังไม่มีข้อพิสูจน์ เพราะหากพิจารณาแค่เพียงสัญญาณทางเทคนิคอย่างเดียว ย่อมมีความเป็นไปได้อย่างมาก แต่โดยพื้นฐานของตลาดแล้ว การที่บริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก มีกำไรคงที่หรือลดลง ทำให้ค่าพี/อีของตลาดจากนี้ไป สูงขึ้นได้ง่ายมาก เพราะเพียงแค่ดัชนีที่ 1,500 จุด ค่าพี/อีก็ยังอยู่ที่ระดับ 20 เท่าเศษแล้ว หากดัชนีจะวิ่งสูงขึ้นไปกว่านี้ ค่าพี/อีก็คงจะกระฉูดอย่างแน่นอน เป็นไปได้ยากพอสมควรที่จะจูงใจต่างชาติให้หวนกลับเข้ามาอีกรอบ เพราะมองเห็นความไม่สมเหตุสมผลในการกลับเข้ามา
ภาวะที่เศรษฐกิจแย่ แต่ดัชนีหุ้นวิ่งขึ้นฝ่าแนวต้านครั้งแล้วครั้งเล่า แบบที่เกิดในยุโรป สหรัฐ จีน และญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดจาก “สตอรี่” ที่เป็นบวกต่ออารมณ์ของตลาด ลดทอนปัญหาผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนลงไปได้มาก แต่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีปัจจัยใกล้เคียงกับบรรยากาศแห่งความหวังเช่นนั้นแม้แต่น้อย ย่อมชี้ชัดว่า สถานการณ์ดังกล่าวยากจะเกิดขึ้น
ช่องว่างระหว่างข้อเท็จจริง และความคาดหวังอย่างนี้ นักลงทุนในตลาดโดยเฉพาะรายย่อยที่ติดหุ้นที่ยอดอยู่จำนวนมาก คงจะคุ้นเคยกันมาพอสมควร เพราะเห็นได้ชัดว่า ช่องว่างระหว่างความคาดหวังว่าราคาหุ้น และข้อเท็จจริงของการวิ่งของราคาหุ้นที่ถืออยู่ มันทำให้เจ็บปวดใจมากเพียงใด