“ระเฑียร ศรีมงคล” “KTC ผลประกอบการที่น่าอัศจรรย์”
“ระเฑียร ศรีมงคล” ซีอีโอ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 1 ใน 5 ที่เข้ามาติด TOP CEO 2017 จากการจัดอันดับของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” หลังยังคงโชว์การบริหารงานได้ยอดเยี่ยมในรอบปี 2560 จากที่ KTC มีรายได้ และกำไรเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มไตรมาส 4/60 ที่นักวิเคราะห์มองว่าจะออกมาดีกว่าคาดการณ์กันไว้ แม้จะมีอุปสรรคจากเกณฑ์คุมสินเชื่อไม่มีหลักประกันของแบงก์ชาติ
*TOP CEO 2017
“ระเฑียร ศรีมงคล” ซีอีโอ บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เป็นผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 1 ใน 5 ที่เข้ามาติด TOP CEO 2017 จากการจัดอันดับของ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” หลังยังคงโชว์การบริหารงานได้ยอดเยี่ยมในรอบปี 2560 จากที่ KTC มีรายได้ และกำไรเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงแนวโน้มไตรมาส 4/60 ที่นักวิเคราะห์มองว่าจะออกมาดีกว่าคาดการณ์กันไว้ แม้จะมีอุปสรรคจากเกณฑ์คุมสินเชื่อไม่มีหลักประกันของแบงก์ชาติ
ย้อนกลับไปดูตัวเลขอัตรากำไรสุทธิของ KTC ปี 2556 พบว่ามีจำนวน 1,282.63 ล้านบาท
ปี 2557 จำนวน 1,754.98 ล้านบาท, ปี 2558 จำนวน 2,072.61 ล้านบาท และปี 2559 กว่า 2,494.71 ล้านบาท
ส่วนช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2560 KTC มีกำไรสุทธิ 2,365 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิ 1,854 ล้านบาท หรือเปลี่ยนแปลง 27.56%
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ จำนวนกำไร 2,365 ล้านบาท อยู่ระดับใกล้เคียงกับกำไรทั้งปี 2559 ที่กำไร 2,494 ล้านบาท
ผลประกอบการที่แข็งแกร่งมาจากการดำเนินนโยบายด้านการตลาด และการวางแผนด้านการเงินที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KTC กล่าวย้ำเสมอ ในปีนี้ จะมีกำไรเติบโตได้ 10%
ทว่า ผ่านมาถึง 9 เดือนแรกกำไรกลับบรรลุ หรือเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว
แต่หลายคนกำลังเฝ้าจับตาดูว่า ผลประกอบการไตรมาส 4 จะออกมาอย่างไร เพราะเป็นไตรมาสแรกที่เริ่มมีการบังคับใช้มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เกี่ยวกับสินเชื่อมีหลักประกันทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย (บัตรเครดิต) ที่ปรับลงมาจาก 20% เหลือ 18%
ระเฑียร และผู้บริหารของ KTC ต่างยอมรับว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบแน่นอน
แต่เรื่องนี้ก็ได้มีการเตรียมแนวทางแก้ไขแล้วว่าจะทำอย่างไรต่อไป ต้องหาสินค้าทางการเงินมาเพิ่ม และเพิ่มช่องทางการหารายได้เพื่อชดเชยกับรายได้ที่จะขาดหายไป
หากย้อนกลับมาดูความเคลื่อนไหวของราคาหุ้น KTC
ทั้งนี้ จะพบว่า ในช่วงปลายปี 2559 ราคาหุ้น KTC เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 135 – 145 บาทต่อหุ้น
หลังจากนั้น ดูเหมือนราคาหุ้น KTC ค่อยๆ ปรับลงอีก และเคลื่อนไหวระหว่าง 120-140 บาท เพราะเป็นช่วงที่มีข่าวออกมาว่า แบงก์ชาติจะแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล
และเมื่อมีการประกาศออกมาเป็นทางการ ราคาหุ้น KTC ได้หลุดจากระดับ 100 บาทในช่วงเดือนสิงหาคม 2560
แต่ไม่นานนัก ราคาหุ้นได้ดีดกลับขึ้นมา หลังจากผู้บริหารออกมากล่าวว่า ได้เตรียมการรับมือไว้แล้ว
ผลประกอบการของไตรมาส 3/2560 ที่ออกมาเติบโตในระดับสูง มีกำไรเพิ่มมากกว่า 20% ทำให้ราคาหุ้นวิ่งไต่หน้าขึ้นมา และขึ้นไปปิดทำนิวไฮได้
วันที่ 27 ธ.ค. ราคาหุ้น KTC ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 185.50 บาทต่อหุ้น หรือเพิ่มจากปี 2559 กว่า 37%
ในบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำลงทุนในหุ้น KTC เพราะมองว่า KTC มีพื้นฐานที่ดี อัตราหนี้เสียอยู่ระดับต่ำ และแม้จะมีเรื่องเกณฑ์ใหม่ของแบงก์ชาติเข้ามากดดัน แต่ก็ยังเชื่อว่า KTC จะรับมือได้
สอดคล้องกับผู้บริหารของ KTC ที่ออกมาตั้งเป้ามีกำไรสุทธิในปี 2561 เติบโตจากปีนี้ ตามยอดใช้จ่ายบัตรเครดิตที่คาดว่าจะขยายตัวกว่า 15% และพอร์ตสินเชื่อที่คาดว่าจะโต 10% ใกล้เคียงเป้าหมายปีนี้ ซึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาดีขึ้น
“ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับลดอัตราเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตเหลือ 18% ต่อปี จากเดิม 20% ต่อปี ตลอดจนเกณฑ์สินเชื่อบัตรเครดิตสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท จะได้รับวงเงินไม่เกิน 1.5 เท่าก็ตาม แต่ก็ยังเห็นโอกาสสำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่” ระเฑียร กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 KTC จะรักษาระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะอยู่ในระดับใกล้เคียงปีนี้ที่ 1.5% ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากการบริหารจัดการการเก็บหนี้และบริหารคุณภาพของลูกหนี้ใหม่ที่ดีขึ้น โดยในปัจจุบันบริษัทมี NPL ระดับที่ต่ำกว่าอุตสาหกรรม
KTC ยังตั้งงบลงทุนในปี 2561 สำหรับด้านเทคโนโลยี ราว 600 ล้านบาท มองว่าเป็นจำนวนเงินไม่มากสำหรับการลงทุนของบริษัทขนาดเล็ก แต่ทั้งนี้ต้องมีเงินทุนมากพอในการขยายตลาดเพื่อจะนำไปสู่การมีส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นจากในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง โดยจะเป็นการลงทุนใน QR Code Payment ที่เพิ่งเริ่มเปิดตัว และ โมบายแอพพลิเคชั่น TapKTC โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จะทำให้บริษัทมีจุดแข็งที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้
บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า คาดสินเชื่อบัตรเครดิต KTC จะยังเติบโตได้ดี สามารถชดเชยผลกระทบจากกฎใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับลดดอกเบี้ยเป็น 18% ต่อปี จาก 20% ต่อปี รวมถึง KTC มีคุณภาพพอร์ตสินเชื่อแข็งแกร่งพร้อมรับการเปลี่ยนมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9
ทั้งนี้ คาดกำไรสุทธิสามารถเติบโตได้ 8% ในปี 2018 และเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2017-2019 ที่ 13% ต่อปี
บล.เคจีไอ แนะนำซื้อ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ราคาเป้าหมาย 190 บาท ถึงแม้ภาวะตลาดของทั้งธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลจะไม่สดใส แต่กำไรของ KTC ก็ยังมีแนวโน้มแข็งแกร่ง และน่าจะออกมาดีกว่าประมาณการทั้งในไตรมาส 4/2560 และปี 2560 จากการที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดี โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือน ต.ค. ชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงไว้ทุกข์
นักวิเคราะห์ในตลาดอาจจะมีการปรับเพิ่มประมาณการกำไร และ re-rate ราคาเหมาะสมของ KTC ในระยะยาว จากแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งของกำไรในระยะสั้น, ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้, โมเดลธุรกิจที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป, ความเสี่ยงด้าน regulatory risk ที่อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้
สำหรับ “ระเฑียร” นั้น มีประสบการณ์ทำงานอยู่ในธุรกิจการเงินมากว่า 32 ปี เริ่มทำงานเป็น Chief Dealer ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บริษัทหลักทรัพย์เอกธนาจำกัด (มหาชน) เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มปฏิบัติการ ธนาคารนครหลวงไทย และปรับเปลี่ยนไปเป็นรองกรรมการผู้จัดการ สนับสนุนธุรกิจ ธนาคารธนชาต หลังจากที่ธนาคารธนชาตได้เข้าซื้อกิจการนครหลวงไทยและรวมกิจการเบ็ดเสร็จเมื่อปลายปี 2554
ก่อนที่ระเฑียรจะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเงิน เคยเป็นแพทย์มาก่อน
ระเฑียร เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต (ศิริราช) มหาวิทยาลัยมหิดล และเรียนต่อบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และเรียนปริญญาบัตร หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน (ปรอ.รุ่น 21) วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
ระเฑียร ถือเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC คนที่ 2 หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ