ดอลลาร์ กับ สงครามดอกเบี้ย

หลังปีใหม่เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างมาก ทำท่าว่าจะหลุดไปใต้ 32.00 บาท ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ กลับหาทิศทางไม่ชัดเจน


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

หลังปีใหม่เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างมาก ทำท่าว่าจะหลุดไปใต้ 32.00 บาท ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ กลับหาทิศทางไม่ชัดเจน

คำอธิบายพื้นๆ ที่คุ้นเคยกัน คือ บาทและสกุลเงินทั่วโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ค่าดอลลาร์สหรัฐกลับปรับตัวผันผวน เนื่องจากแม้มีการคาดเดาว่า เฟดฯจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3-4 ครั้ง แต่ตัวเลขการจ้างงาน และตัวแปรอื่น ที่ทำให้ความหวังของสายเหยี่ยวในคณะกรรมการเฟดฯในการผลักดันการขับเคลื่อนดอกเบี้ยขาขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ดูเหมือนจะเต็มไปด้วยอุปสรรคของการซื้อขาย

หลักการทางทฤษฎี ไม่ว่าสายเหยี่ยวหรือสายพิราบในเฟดฯ ล้วนเห็นพ้องกันมาตลอดที่ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ (แต่การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทำให้ฟองสบู่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น และนำไปสู่ภาวะล่มสลายได้ง่ายกว่า) และ ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯมีปัญหา ก็จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นมากเพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า ไม่สามารถลงมือกระทำได้ ถือเป็นความล้มเหลวที่ชัดเจน และมีคนรู้เท่าทันมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดเก็งกำไรระดับขาใหญ่

ดัชนีดาวโจนส์ที่ทำนิวไฮต่อเนื่องชนิด “ว่าวสายป่านขาด” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนธันวาคมที่ผ่านมาขยายตัวน้อยกว่าคาด ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าเฟดฯอาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ออกไป และ เฟดฯอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้

การคาดเดาดังกล่าว มีคำอธิบายจากนักยุทธศาสตร์ของกองทุนระหว่างประเทศอย่างลิงโลดว่านี่คือ ข่าวดีของตลาดหุ้นทั่วโลกโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ เพราะฟันด์โฟลว์จะไม่ไหลกลับคืนสหรัฐฯโดยง่าย

เหตุผลหลักคือ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำติดพื้นของชาติต่างๆ ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่ยุค “ผงกหัว” ขึ้นกันทั่วหน้า ทำให้เสน่ห์ของค่าดอลลาร์ลดลง หากเฟดฯไม่ยอมพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเพราะความกลัว และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตราสารหนี้ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ดีกว่าในสหรัฐฯ

คำอธิบายข้างต้นมีลักษณะ “สมคบคิด” ชัดเจน คือ เอาผลมาอธิบายเหตุด้วยจินตนาการ เพราะเป็นคำอธิบายที่พยายามมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า ปริมาณเงินยังคงท่วมโลกจากการตกค้างของมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (หรือ QE) ของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปกว่า 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ยังไม่มีทางออก

ที่ผ่านมา ธนาคารกลางของทั้งสามภูมิภาคสำคัญอันถือเป็นแกนสำคัญของทุนนิยมโลก ทำการอัดฉีดปริมาณเงินเข้ามาในท้องตลาดเพิ่มเติมให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนในตลาดมากขึ้น ในช่วงหลังจากเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ภาระหนี้เอกชนทำให้การลงทุนต่ำลง มีกำลังการผลิตเหลือและการจ้างงานต่ำ จนกระทั่งปริมาณเงินท่วมท้น ทำการกดดอกเบี้ยให้ต่ำติดพื้นจนเผชิญกับภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” เรื้อรัง

ดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือ ดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืดตามมาจนถึงปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลข้างเคียงสำคัญคือ ผู้มีเงินออมได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำ ถูกบีบคั้นให้ต้องโอนย้ายทุนที่ออมไว้เข้าหาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า เป็นที่มาของขาขึ้นตลาดหุ้นพุ่งทะยาน จนมีคำถามตามมาว่า เข้าสู่ช่วงเวลาของฟองสบู่เศรษฐกิจระลอกใหม่หรืออย่างไร

แม้นักวิเคราะห์หุ้นและนักการเงินจะพยายามออกมาแก้ต่างว่า สภาพตลาดทุนในปัจจุบันมีเครื่องมือและความแข็งแกร่งมากเพียงพอจะไม่ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ของตลาดเหมือนในอดีต แต่คำพูดของคนที่มีผลประโยชน์ได้เสียกับขาขึ้นของตลาดโดยตรง ย่อมมีความน่าเชื่อถือต่ำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เพราะไม่อาจการันตีได้เลยว่า วิกฤตราคาหุ้นจะไม่เกิดขึ้นอีก

โดยข้อเท็จจริงการที่เฟดฯ แสดงความลังเลใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะเป็นผลดีในระยะสั้น เพราะทำให้เซนทิเมนต์ของตลาดยังคงเชื่อมั่นว่าจะยังเป็นขาขึ้นต่อไปอีก  แต่คำปรามาสของผู้ช่ำชองความเสี่ยงทางการเงินเมื่อต้นเดือนธันวาคมอย่างกรณีของ BIS (ฉายาธนาคารกลางของธนาคารกลางทั่วโลก เจ้าของกฎว่าด้วย Basel Rules) ที่ระบุว่า ความพยายามที่ล้มเหลวของเฟดฯ หรือ ธนาคารกลางสหรัฐ (และธนาคารกลางอังกฤษ) ที่จะลดความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กำลังก่อร่างเค้าโครงของฟองสบู่การเงินที่ไม่มั่นคงให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายคำตอบอยู่

ค่าดอลลาร์ที่มีแนวโน้มผันผวนไร้ทิศทางด้านหนึ่งมีโอกาสที่จะนำไปสู่สงครามดอกเบี้ยครั้งใหม่ ในยามที่อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายทั่วโลก และอีกด้านหนึ่ง อาจโน้มนำไปสู่สงครามค่าเงินระลอกใหม่ได้

ไม่ว่าจะสงครามอะไร ก็จะมีปรากฏการณ์ “ช้างสารปะทะกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ” ได้เสมอ

Back to top button