KC มายากลกลางแดด

หลายปีมานี้ นึกไม่ออกเลยว่า บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC เคยมีข่าวดีให้นักลงทุนชื่นใจอะไรได้บ้าง...นึกเท่าไร ก็มีคำตอบที่ว่างเปล่า


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

หลายปีมานี้ นึกไม่ออกเลยว่า บริษัท เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KC เคยมีข่าวดีให้นักลงทุนชื่นใจอะไรได้บ้าง…นึกเท่าไร ก็มีคำตอบที่ว่างเปล่า

แต่เรื่องแย่ๆ แม้เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว และไม่บ่อย ก็ล้วนแต่ทำให้มุมมองในทางลบเกิดขึ้นตามมาเสมอ

ล่าสุดมีเรื่องแย่โผล่มาอีกแล้ว

วันที่ 5 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกประกาศกล่าวโทษผู้บริหารและอดีตผู้บริหาร บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) 4 ราย ได้แก่ (1) นายภัทรภพ อิทธิสัญญากร (เปลี่ยนชื่อเป็นนายกฤติภัทร) (2) นายสรรชัย อินทรอักษร (3) นายธีราสิทธิ์ แสงเงิน (4) นายกิติสาร มุขดี และพวกอีก 3 ราย ได้แก่ (5) นายเทพทิวา บุตรพรม (6) นางสาวจรูญลักษณ์ คงคาเรียน (เปลี่ยนชื่อเป็น นางสาวนิษฐา) และ (7) นายวีรวัฒน์ สุขวราห์ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีร่วมกันทุจริต ยักยอกเงินที่ได้จากการออกและเสนอขายตั๋วแลกเงินระยะสั้น (B/E) ในนามบริษัท เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่น แสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้ และยินยอมให้ไม่มีการลงบันทึกบัญชีการขายตั๋ว B/E ทำให้บริษัทลงบัญชีไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ก.ล.ต. อ้างว่า ได้รับแจ้งจากผู้สอบบัญชีของ KC และ ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในช่วงเดือนกันยายน 2558-ตุลาคม 2559 ผู้บริหาร KC ร่วมกับผู้สนับสนุน รวม 7 ราย ได้กระทำทุจริต ยักยอกเงินที่ได้จากการขายตั๋ว B/E ของ KC รวม 25 ฉบับ มูลค่ารวมประมาณ 425 ล้านบาท ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของบุคคลอื่น

ในการดำเนินการดังกล่าว (1) นายภัทรภพ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นนายกฤติภัทร) อิทธิสัญญากร หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ ในช่วงเกิดเหตุเป็นรักษาการกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร (2) นายสรรชัย ในช่วงเกิดเหตุเป็นรองกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร ได้ร่วมกันทุจริตโดยดำเนินการให้ KC ออกตั๋วเงิน 25 ฉบับ ซึ่งมีมูลค่าฉบับละ 25-150 ล้านบาท และได้ยักยอกเงินดังกล่าว ผ่านการปลอมแปลงเอกสารการประชุมของบริษัท ร่วมกันเปิดบัญชีธนาคารเพื่อใช้รับโอนเงินค่าขายตั๋ว B/E ปกปิดไม่ให้มีการลงบันทึกบัญชีการขายตั๋ว B/E ดังกล่าวในบัญชีของบริษัท และปกปิดอำพรางการทุจริตโดยการต่ออายุตั๋ว B/E หลายครั้ง

การกระทำดังกล่าวได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากนายเทพทิวา ซึ่งรู้จักกับนายภัทรภพ และนายสรรชัย โดยนายเทพทิวาให้การช่วยเหลือโดยการยอมให้ใช้บัญชีธนาคารของตนเอง เพื่อทำธุรกรรมรับโอนเงินที่ได้จากการขายตั๋ว B/E ทั้งหมด เพื่อแจกจ่ายให้บุคคลอื่น

ขณะที่ นางสาวจรูญลักษณ์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการบริษัท ให้ความช่วยเหลือในการทำธุรกรรมทางเงินบางรายการโดยใช้บัญชีธนาคารของตนเอง

สำหรับ นายวีรวัฒน์ ซึ่งรู้จักและชักชวนบุคคลหลายรายเข้ามาเป็นกรรมการและผู้บริหารของ KC ได้แก่ นายภัทรภพ นายสรรชัย นายธีราสิทธิ์ และนายกิติสาร โดย ก.ล.ต. เชื่อว่านายวีรวัฒน์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำทุจริตและการรับเงินบางส่วนจากการขายตั๋ว B/E ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ในช่วงปี 2559 นายธีราสิทธิ์ และ นายกิติสาร ซึ่งเป็นผู้บริหาร มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการตามลำดับ ทราบถึงการออกตั๋ว B/E แต่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบและซื่อสัตย์สุจริต ไม่นำรายการตั๋ว B/E ลงบันทึกบัญชีของบริษัท KC ทำให้บัญชีของ KC ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

กระทำความผิดกันเป็นขบวนการอย่างนี้ เข้าข่ายสมคบคิดชัดเจน แต่จะต้องรับโทษให้สาสมกับการกระทำผิดหรือไม่…ตอบไม่ได้ เพราะอำนาจฟ้องไม่ได้อยู่ที่ ก.ล.ต. แต่อยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ

ส่วนอื่นที่ดูแล้ว เห็นว่าเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน….ก็ส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ก.ล.ต. ทำได้แค่กล่าวโทษบุคคลทั้ง 7 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป …และสั่งการภายใต้อำนาจที่กำหนดให้คือ มาตราต่างๆ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก.ล.ต.จึงส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ผลลัพธ์ที่ทำได้คือ ทำให้ผู้บริหารและอดีตผู้บริหารรวม 4 คน ประกอบด้วย นายภัทรภพ นายสรรชัย นายธีราสิทธิ์ และ นายกิติสาร เข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจในการเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนตามประกาศ ก.ล.ต. จึงขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ…ก็แค่นั้น

ความผิดแค่นี้ แต่ยังต้องลุ้นอีกนานว่าจะต้องถูกฟ้องและลงโทษหรือไม่ในอนาคตอันยาวไกล ทำให้เรื่องเก่าๆ ที่เคยเป็นตัวอย่างเช่น กรณีบริษัทแห่งนี้ เบี้ยวหนี้ออกตั๋วบี/อี ระยะสั้น หรือตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5% ต่อปี เพราะเป็นตั๋วแลกเงินประเภท non-rating ที่เสนอขายแก่บุคคลในวงจํากัด จํานวน 130,000,000 บาท อายุแค่ 3 เดือน เมื่อปลายปี 2559 กับลูกค้าของกองทุนเปิดโซลาริสพริวิลเลจ 3 เอ็ม 4 (S-PFI 3M4) ของ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน โซลาริส จํากัด ที่ครบกำหนดชำระไถ่ถอน อย่างน่าประหลาดใจ ทั้งที่งบการเงินไม่ได้เลวร้ายอะไรถึงขั้นขาดสภาพคล่องเข้าขั้นอันตราย เพราะค่าดี/อี ยังต่ำ และ ยอดมูลค่าหนี้ ไม่ได้มากมายอะไร…ถูกลืมไปด้วย

จะบอกว่างานนี้ ล้มบนฟูก 7 ชั้น หรือ มายากลระดับ เดวิส คอปเปอร์ฟิลด์…กันดีเอ่ย

อิ อิ อิ

Back to top button