จีนกับทุนสำรอง
ปัญหาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนนั้น ไม่ได้เป็นโจทย์เฉพาะที่นักการเงินในธนาคารกลางจีนหรือ PBOC ต้องบริหารจัดการ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่โยงเข้ากับเรื่องการเมืองในและระหว่างประเทศด้วย
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
ปัญหาทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนนั้น ไม่ได้เป็นโจทย์เฉพาะที่นักการเงินในธนาคารกลางจีนหรือ PBOC ต้องบริหารจัดการ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจที่โยงเข้ากับเรื่องการเมืองในและระหว่างประเทศด้วย
ตัวเลขเดือนธันวาคม 2560 ที่ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีน สูงสุดในรอบ 1 ปี แม้จะไม่ใช่ตัวเลขมหึมาเหมือนเมื่อหลายปีก่อน แต่ก็มีคำถามท้าทายรออยู่ข้างหน้า ในฐานะที่จีนเป็นชาติที่มีทุนสำรองเงินตรามากที่สุดในโลกตั้งแต่สิ้นปี 2549 เป็นต้นมา และยังต้องครองสัดส่วนดังกล่าวไปอีกยาวนานไร้ชาติอื่นๆ เทียบเคียง
ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีน พุ่งขึ้นต่อเนื่องไม่หยุดยั้งตลอด 11 เดือนของปีที่ผ่านมา ท้ายสุดตัวเลขสิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่มากกว่า 3.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการเพิ่มมากที่สุดในเดือนธันวาคมถึงกว่า 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นปีแรกที่ทุนสำรองฯเพิ่มขึ้น หลังจากถดถอยลงรุนแรงตั้งแต่ปี 2557
เบื้องหลังความสำเร็จของการเพิ่มพูนตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เกิดจากประสิทธิผลของการปราบปรามและป้องกันทุนไหลออกจากประเทศอย่างผิดกฎหมายของชาวจีนกลุ่มต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐจีนออกแบบมา และได้รับการส่งเสริมจากค่าดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงในปีที่ผ่านมา
ผลพวงของทุนสำรองฯที่เพิ่มแกร่งมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินหยวนในปีที่ผ่านมาเพิ่มเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐมากถึง 6.8% ซึ่งเท่ากับเป็นจังหวะที่ดี หลังจากที่ค่าหยวนเทียบดอลลาร์ลดลงต่อเนื่องนานถึง 3 ปี
หากมองย้อนกลับไปดูตัวเลขทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของจีนในอดีตปลายปี 2548 ซึ่งมีอยู่ที่ระดับเพียงแค่ 7.94 แสนล้านดอลลาร์ (ไม่นับรวมตัวเลขเงินสำรองในรูปสว็อปและอื่นๆ อีก 7 พันล้านดอลลาร์) ที่เป็นชาติอันดับสองในโลกรองจากญี่ปุ่นที่ในยามนั้นมีอยู่ 8.28 แสนล้านดอลลาร์ ถือว่าต่างกันอย่างมาก
ตัวเลขล่าสุดของทุนสำรองฯจีน 3.14 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่ได้มาฟรีๆ แบบโหนรถด่วน แต่เกิดจากการลองผิดลองถูก หลังจากที่ PBOC ต้องใช้ความพยายามต่อสู้และเรียนรู้ท่ามกลางความอ่อนประสบการณ์เพื่อรับสถานการณ์มากมายที่ประดังเข้ามาจากตัวเลขอัตราเติบโตในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่รุนแรง แม้กระทั่งในปัจจุบันที่เศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องเงินทุนไหลออกเข้ามาสร้างปัญหาต่อเนื่อง
ความพยายามสกัดกั้นทุนไหลออก เป็นสิ่งที่ยังคงเข้มข้นต่อไป ล่าสุดในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางการจีนก็เพิ่งออกมาตรการควบคุมการถอนเงินในสาขาธนาคารจีนต่างประเทศโดยบุคคลที่ให้บัตรเครดิตของธนาคารจีน ที่จะมีผลในปีนี้เป็นต้นไป และยังมีมาตรการเสริมในการกำกับดูแลผู้ที่จะนำเงินไปลงทุนเทกโอเวอร์กิจการของบริษัทจีนตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจจะถูกระงับได้หากข้อมูลไม่ดีพอ
นับตั้งแต่ ปี 2542 ทุนสำรองฯของจีน มีปริมาณเพิ่มทวีคูณอย่างน่าตื่นใจ จนกระทั่งทางการจีนจำต้องหาทางระบายออกไปซื้อกิจการและสินทรัพย์ต่างๆ เชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมต่างๆ ทั่วโลกที่ทำในรูปดอลลาร์ จนกระทั่ง PBOC ของจีนกลายเป็นเจ้าหนี้ของสหรัฐฯอันดับหนึ่ง
ความมั่งคั่งจากทุนสำรองฯล้นเกิน ทำให้จีนเริ่มต้นถูกมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกรวมหัวเล่นงาน ด้วยการสร้างข้อเรียกร้องให้จีนต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปด้วย ซึ่งกุญแจสำคัญได้แก่ 1) การปรับค่าเงินหยวนให้เข้าสู่พื้นฐานความเป็นจริงให้มากที่สุด 2) รักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในเอาไว้ให้เหมาะสม
ความจำเป็นทำให้ จีนเริ่มมาตรการปรับค่าเงินหยวนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งใช้วิธีการนำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศส่วนเกินเข้าไปกว้านซื้อพันธบัตรรัฐบาลอเมริกันเพื่อพยุงค่าดอลลาร์ไม่ให้อ่อนตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง ในช่วงที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนยังคงแข็งแกร่ง
สามปีที่ผ่านมา อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงทำให้จีนต้องเผชิญกับการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ ทำให้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอันมหาศาลของจีนกำลังลดลงในอัตรามากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งเป็นแนวโน้มที่จะกระทบต่อสภาพคล่องของระบบสินเชื่อของโลกได้ในอนาคต
ปริมาณเงินทุนสำรองฯของจีนได้ลดลงจากสองสาเหตุหลักคือ 1)การนำทุนสำรองฯมหาศาลเข้าไปแก้ปัญหาฟองสบู่ตลาดหุ้นพังทลายในปี 2558 2) การไหลของเงินทุนออกจากจีน ในปี 2559 แต่ทุกอย่างก็ได้ผ่านไปด้วยดี จนทำให้ทุนสำรองฯกลับมาเพิ่มพูนระลอกใหม่ได้
ประเด็นจากนี้ไปของปัญหาทุนสำรองฯล้นเกินของจีนจึงอยู่ที่การหาทางตอบโจทย์ใหม่ที่ท้าทายกว่าเดิมว่า แผนการเดินหน้าทำให้เงินหยวนท่องโลกในตลาดเงินลอยตัวในฐานะเงินสกุลสากลของโลกระยะที่สองของจีน มีจังหวะก้าวที่รวดเร็วมากน้อยแค่ไหน และจะสอดรับความต้องการรักษาค่าเงินหยวนให้มีเสถียรภาพด้วย