ผู้ประกอบการค้าปลีก VS อี-คอมเมิร์ซ
จากพลวัตพฤติกรรมและสังคมการบริโภค ผนวกกับการเข้ามาของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ประกอบด้วย 1) C2B คือการทำการค้าระหว่าง Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) กับ Business (ผู้ทำการค้า) เช่น ลูกค้าต้องการซื้อหนังสือกับร้านค้า 2) B2B คือการทำการค้าระหว่าง Business (ผู้ทำการค้า) กับ Business (ผู้ทำการค้า) เช่น ร้านขายหนังสือต้องการสั่งซื้อหนังสือจากโรงพิมพ์
พลวัตปี 2018 : สุภชัย ปกป้อง (แทน)
จากพลวัตพฤติกรรมและสังคมการบริโภค ผนวกกับการเข้ามาของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) หรือการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ประกอบด้วย 1) C2B คือการทำการค้าระหว่าง Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) กับ Business (ผู้ทำการค้า) เช่น ลูกค้าต้องการซื้อหนังสือกับร้านค้า 2) B2B คือการทำการค้าระหว่าง Business (ผู้ทำการค้า) กับ Business (ผู้ทำการค้า) เช่น ร้านขายหนังสือต้องการสั่งซื้อหนังสือจากโรงพิมพ์
3) B2C คือการทำการค้าระหว่าง Business (ผู้ทำการค้า) กับ Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) เช่น โรงพิมพ์ต้องการซื้อต้นฉบับจากคอลัมนิสต์ 4) C2C คือการทำการค้าระหว่าง Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) กับ Customer (ผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ) ด้วยกันเช่น ผู้บริโภคต้องการขายรถยนต์ของตนเองให้กับผู้บริโภคที่สนใจ
สำหรับเซ็กเมนต์ของตลาดกลางออนไลน์ (E-Market Place) ที่รุกคืบเข้ามา ทำให้พลวัตการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกของไทยมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึง “ผู้ประกอบการค้าปลีก” ที่ต้องปรับตัวเพื่อต่อสู้เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดและเพื่ออยู่รอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีการประเมินกันว่าการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce ปี 2561 จะมีมูลค่าตลาดราว 256,000 ล้านบาท จึงกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกทุกค่ายหันมาให้ความสำคัญกับการแตกไลน์ธุรกิจและสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ภายใต้ยุทธวิธีที่แตกต่างกันไป
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ผลิตสินค้าหรือเจ้าของแบรนด์เอง ต่างหันมาจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยตนเอง นั่นจึงกลายเป็นโจทย์ยากของการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกมายิ่งขึ้นไปด้วย
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางหรือเล็ก มีความพยายามปรับตัวเพื่อรับมือต่อการแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดเลือกสินค้าที่มีความหลากหลาย และแตกต่างหรือมีเอกลักษณ์เฉพาะของสินค้า (Niche & Unique) เข้ามาจำหน่าย อย่างเช่น เพิ่มแผนกอาหารสดหรืออาหารทะเลหรืออาหารสุขภาพ ผนวกกับการสร้างกิจกรรมทางการตลาดกับสินค้าแต่ละประเภท ผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อการเข้าถึงลูกค้าโดยตรงหรือใช้เป็นช่องทางเพิ่มยอดขายด้วยเช่นกัน
จุดเปราะบางของธุรกิจค้าปลีกกลุ่มนี้คือ “มีความต่อเนื่องหรือไม่” ต้องยอมรับว่าสินค้าในกลุ่มนี้ มักมีตลาดค่อนข้างแคบเฉพาะกลุ่ม จึงเป็นข้อจำกัดเรื่องการเติบโตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นั่นหมายถึง “อยู่ได้แต่ไม่โต” ที่สำคัญมีความอ่อนไหวกับกระแสของผู้บริโภคสูง จึงมีความจำเป็นต้องใช้ต้นทุนเพื่อสร้างกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้น
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าหรือห้างสรรพสินค้า ได้มีการปรับตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างเป็นระบบไปแล้ว ดั่งจะเห็นได้จากการมีการจัดทำ Application ทุกแพลตฟอร์มบนสมาร์ทโฟน ทั้งรูปแบบการลงทุนเองหรือจับมือร่วมกับพันธมิตร
เช่นเดียวกับช่องทางหน้าร้าน (Offline) ที่มีการปรับโครงสร้างร้านเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องขนาดพื้นที่เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น
แต่ปัญหาของผู้ประกอบการค้าปลีกกลุ่มนี้ จึงอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่เช่าให้เต็มอยู่เสมอ…ที่สำคัญกว่านั้นคือการทำอย่างไร เพื่อให้ร้านค้าที่เช่าพื้นที่สามารถขายสินค้าได้ เพราะอย่าลืมว่าร้านค้าที่เช่าพื้นที่ดังกล่าว ต้องเผชิญทั้งการแข่งขันและแย่งชิงลูกค้ากันเอง และต้องเผชิญการแข่งขันกับร้านค้าปลีกออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น
อย่าลืมว่า…จุดแข็งของสินค้าที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ มีความหลากหลายและสามารถสั่งซื้อได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว..!!
ความท้าทายของ “ผู้ประกอบการค้าปลีก” ต้องเผชิญกับธุรกิจ E-Commerce จึงไม่ได้อยู่แค่เพียงการเคลื่อนตัวหรือการปรับกลยุทธ์สู่ตลาดออนไลน์เพียงอย่างเดียว…หากแต่สาระสำคัญอยู่ที่การใช้วิกฤตจาก E-Commerce เข้ามาเป็นโอกาสในการบริหารจัดการต้นทุนด้วยเช่นกัน