กรณีศึกษา BBL–SCB

การจับมือเป็นพันธมิตรกันของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB กับ “กลุ่มพรูเด็นเชียล” เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ ถามว่าเพราะอะไร?


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

การจับมือเป็นพันธมิตรกันของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” หรือ SCB กับ “กลุ่มพรูเด็นเชียล” เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ

ถามว่าเพราะอะไร

คำคอบก็คือ แบงก์ไทยพาณิชย์มีบริษัทประกันชีวิตที่ตนเองถือหุ้นใหญ่อยู่ หรือเกือบ 100% นั่นคือ บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต หรือ SCBLIFE

ที่ผ่านมาบริษัทประกันแห่งนี้สร้างรายได้ค่าธรรมเนียม (ฟี) ให้กับแบงก์ไทยพาณิชย์มาต่อเนื่อง

และ SCBLIFE เอง ก็มีรายได้จากเบี้ยประกันผ่านการขายช่องทางสาขาของธนาคารฯ มาต่อเนื่องเช่นกัน

การทำธุรกิจประเภทนี้เราเห็นกันมาช้านานแล้วในวงการธุรกิจการเงินของไทย

ทว่า นับต่อจากนี้ไป การที่บริษัทแม่และลูกค้าขายกันเองนั้น ไม่ใช่แนวโน้มหรือการดำเนินธุรกิจที่ดีอีกต่อไป

เพราะถึงที่สุดแล้ว ต่างฝ่ายต่างต้องเข้มแข็ง และยืนให้ได้ด้วยลำแข้งของตนเอง โดยมีลูกค้าเป็น “จุดศูนย์กลาง” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้

ปรากฏการณ์ของดีลล่าสุดดังกล่าวไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น

ก่อนหน้านี้ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL ก็ต้องจับมือกับ “เอไอเอ”

ทั้งที่แบงก์กรุงเทพ มีบริษัทที่เป็นลูกรักอยู่คือ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต หรือ BLA

ความร่วมมือกับ BBL และ เอไอเอ ถือได้ว่าจะ “วิน วิน” ทั้ง 2 ฝ่าย

บุคคลในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน ต่างจับตามอง เพราะเห็นไม่ค่อยบ่อยนักที่ยักษ์ของธุรกิจ 2 ประเภท จะมาจับมือกันทำธุรกิจแบบนี้

แล้วถามว่า ตัวของ BLA จะทำอย่างไร

ค่ายประกันชีวิตแห่งนี้ ก็ไม่ถึงกับต้องเสียโอกาสซะทีเดียว

เพราะสินค้าที่นำเข้าไปขายในสาขาของ BBL จะมีความแตกต่างบ้างกับของเอไอเอ

แต่สำหรับตัวของ BBL แล้ว การมีพันธมิตรด้านการขายประกันเพิ่มเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการเพิ่มรายได้จากค่าฟีให้กับตนเอง

เช่นเดียวกับแบงก์ไทยพาณิชย์ก็มองในมุมเดียวกับ BBL

ของแบงก์ไทยพาณิชย์ จะเป็นการขายสินค้ากรมธรรม์ประเภท “ยูนิตลิงค์” หรือกรมธรรม์ควบหน่วยลงทุนให้กับพรูเด็นเชียล

สินค้าประเภทนี้ ตัวของ SCBLIFE อาจไม่ถนัดนัก

แต่สำหรับพรูเด็นเชียล ที่เป็นค่ายประกันระดับโลก จะมีประสบการณ์ในสินค้าประเภทนี้ และน่าจะออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าของแบงก์ไทยพาณิชย์ได้ดีกว่า

หากจำกันได้ กลุ่มพรูเด็นเชียลเคยเป็นหนึ่งในค่ายประกันที่สนใจเข้าซื้อหุ้นใน SCBLIFE

แต่ดีลดังกล่าวได้ล่มลงไปอาจด้วยเพราะตกลงเรื่องราคาซื้อขายกันไม่ได้

และในที่สุดก็หันมาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันแทน

วันก่อนหน้านี้ ผมคุยกับผู้จัดการกองทุนคนหนึ่งที่ไม่ได้มีธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้น

เขาบอกว่า สินค้ากองทุนของบริษัทเขา กำลังจะได้เข้าไปขายในแบงก์พาณิชย์แห่งหนึ่ง โดยที่ธนาคารแห่งดังกล่าว ก็มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่เข้าไปถือหุ้นอยู่

สินค้าที่เข้าไปขายจะมีความแตกต่างกับบริษัทลูกของธนาคารแห่งนั้น

ขณะที่ผู้บริหารของแบงก์กรุงเทพ ก็เคยให้ข่าวในทำนองเดียวกันครับ

โดยบอกว่า พร้อมจะพิจารณาขายสินค้ากองทุนรวมให้กับบลจ.แห่งอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า โดย BBL มีบริษัทกองทุนในเครือคือ บลจ.บัวหลวง

ความร่วมมือการทำธุรกิจในรูปแบบนี้เราคงเห็นเพิ่มขึ้น

ทั้งในธุรกิจธนาคาร ประกัน กองทุนรวม และบริษัทหลักทรัพย์

แบงก์ทีเอ็มบี หรือ TMB ที่จับมือกับ “เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต”

ก็ไม่แน่นะว่า ต่อไปทั้ง 2 ฝ่ายก็อาจมีพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน เพื่อสร้างโอกาส เสริมจุดแข็ง และลบจุดอ่อนของตนเองออกไป

หรือแม้แต่ค่ายกสิกรไทย กรุงไทย หรือธนาคารอื่นๆ ก็เชื่อว่าเราอาจเห็นความร่วมมือแบบนี้เกิดขึ้นได้

แบงก์กรุงศรี (BAY) ทุกวันนี้ ก็ไม่ได้ขายสินค้าให้กับ AZAY บริษัทประกันชีวิตที่ BAY ถือหุ้นอยู่

แบงก์กรุงศรี ยังขายให้กับ บมจ.ไทยประกันชีวิตด้วยเช่นกัน

เพียงแต่ว่า BAY จะขายให้เฉพาะกับสาขาในพื้นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น ส่วนในกรุงเทพฯ ยังต้องขายให้กับ AZAY

ทั้งแบงก์กรุงศรี และ ไทยประกันชีวิต ต่างมีผู้ถือหุ้นเป็นกลุ่มการเงินจากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน

ในด้านของธุรกิจหลักทรัพย์ เชื่อเช่นกันว่า น่าจะเห็นความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น หากเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจะนำมาควบรวมกิจการกัน

โดยเฉพาะโบรกเกอร์ขนาดกลางและเล็ก

ใครที่ทำธุรกิจแบบตัวคนเดียว

และอยู่กับสินค้าตัวเดิมๆ ไม่เพิ่มผลิตภัณฑ์

ก็ยิ่งจะมีแต่ถอยหลัง

Back to top button