พาราสาวะถี

วันเด็กปีนี้กับคำขวัญ รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี แทนที่จะเป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติเด็กๆ กลับกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่ทั้งหลายนั่นแหละที่ควรจะคิดกันให้มากกว่าที่ทำกันอยู่ ก็แค่สแตนดี้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอิริยาบถขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เตรียมนำไปตั้งไว้บริเวณทำเนียบรัฐบาลให้เด็กๆ ได้ถ่ายรูปก็ถูกทักท้วงจนต้องยกไปเก็บในที่สุด


อรชุน

วันเด็กปีนี้กับคำขวัญ รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี แทนที่จะเป็นเครื่องเตือนใจเตือนสติเด็กๆ กลับกลายเป็นว่า ผู้ใหญ่ทั้งหลายนั่นแหละที่ควรจะคิดกันให้มากกว่าที่ทำกันอยู่ ก็แค่สแตนดี้ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในอิริยาบถขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค ที่เตรียมนำไปตั้งไว้บริเวณทำเนียบรัฐบาลให้เด็กๆ ได้ถ่ายรูปก็ถูกทักท้วงจนต้องยกไปเก็บในที่สุด

เรื่องนี้จะมองแค่ว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยก็ใช่ที่ เพราะฝ่ายที่เขารณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยก็ทำกันมาหลายปีดีดัก จนก่อให้เกิดจิตสำนึกที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งเวลาที่จะขี่มอเตอร์ไซค์ ในเมื่อผู้นำต้องการที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กและเยาวชน ก็ควรจะรอบคอบกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องขี้ปะติ๋วที่มีคนจับผิด แต่เป็นเรื่องของทีมงานออร์กาไนซ์หรือทีมงานโฆษกรัฐบาลต้องคิดให้มาก ไม่ใช่แค่จะเอาใจและมุ่งแต่เลือกเอารูปเท่ๆ ของท่านผู้นำเพียงอย่างเดียว

แน่นอนว่า ประเด็นนี้คงสร้างความหงุดหงิดหัวใจให้แก่บิ๊กตู่ไม่น้อย แต่ด้วยคำสัญญาที่ว่าจะเป็นผู้นำที่อารมณ์ดีตลอดเวลา คงต้องเก็บอาการกันน่าดู นี่แหละความจริงทางการเมืองอีกประการ ไม่ว่าจะมีที่มาจากไหน ยิ่งอยู่นานความเห่อเหิมหรือเสียงเชียร์มันจะลดน้อยถอยไป ที่คนการเมืองเข้าใจกันในนาม “ภาวะขาลง” ไม่ว่าจะทำอะไรแทนที่จะถูกใจเหมือนช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ กลับจะเป็นการขวางหูขวางตาไปเสียหมด

สิ่งที่น่าสนใจประการต่อมา คือผลสำรวจสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ของ นพดล กรรณิกา ที่สำรวจเรื่องตอบโจทย์การเมืองของคน 3 ฝ่าย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,196 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-13 มกราคม โดยเกินครึ่งหรือร้อยละ 54.8 เป็นกลุ่มพลังเงียบไม่ฝักใฝ่ ขออยู่ตรงกลางในจุดยืนทางการเมือง ขณะที่เกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.3 สนับสนุนรัฐบาลและคสช. และร้อยละ 8.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาลและคสช.

เมื่อถามถึงการตอบโจทย์ปลดล็อคการเมืองพบว่า หรือร้อยละ 72.3 เห็นควรปลดล็อคการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป ในอีก 6 เดือนข้างหน้า เพราะไม่ต้องการเห็นความวุ่นวาย ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ ยังไม่เห็นพรรคการเมืองปรับปรุงตัวช่วยบ้านเมืองให้ดีขึ้นอย่างไร พฤติกรรมยี้เดิมๆ ยังมีอยู่ ขณะที่ร้อยละ 27.7 ระบุ ควรปลดล็อคทันทีไม่เกิน 6 เดือน เพราะนักการเมืองจะเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่า รู้ใจประชาชนได้มากกว่าช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้ดีและรวดเร็วกว่า

จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ที่บอกว่านักการเมืองเข้าถึง รู้ใจและช่วยแก้ปัญหาได้ดีกว่า รวดเร็วกว่า ก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบันเข้าใจว่า บรรดาผลงานทั้งหลายที่ได้โพนทะนาไปนั้น แท้ที่จริงเป็นการแก้ที่ตรงจุดและเพื่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปากท้องของประชาชน

สิ่งที่เป็นโจทย์สำคัญสำหรับท่านผู้นำและคณะคงเป็นคำถามเรื่องที่ทุกกลุ่มต้องการให้รัฐบาลและคสช. ปฏิรูปเร่งด่วนก่อนการเลือกตั้ง ร้อยละ 46.2 ระบุปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ รองลงมาคือร้อยละ 12.1 ปฏิรูปเศรษฐกิจ ส่งเสริมธุรกิจ SME แก้ปากท้องได้ยั่งยืน ร้อยละ 11.5 ระบุปฏิรูปการเมือง ร้อยละ 10.0 ต้องการให้ปฏิรูปการศึกษา

เครื่องหมายคำถามคือเหตุใดกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดถึงต้องการให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ มันมีเหตุการณ์ใดหรือเรื่องใดที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นอย่างนั้นหรือ ทั้งๆ ที่รัฐบาลนี้โดยเฉพาะท่านผู้นำก็ยืนยันมาโดยตลอดว่าทุกอย่างต้องว่ากันตามกฎหมาย หากยึดตามกฎหมายทุกอย่างก็จบ แต่คำตอบจากกลุ่มตัวอย่างดังกล่าว สะท้อนภาพของความกังขาที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม

ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้มีอำนาจที่จะต้องไปวิเคราะห์ว่า ยังมีกระบวนการยุติธรรมจุดใดที่ยังเป็นปัญหา ตำรวจในฐานะผู้อำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น หรือ องค์กรอิสระบางแห่งที่ทำตัวให้ไม่น่าไว้วางใจ มีการเลือกปฏิบัติ เลือกพิจารณาคดีที่เห็นได้ชัดว่าเป็นกระบวนการสองมาตรฐาน หากตรงนี้ไม่ได้รับการแก้ไขและยังคงเกิดข้อกังขาอยู่ต่อไป อาจจะบอกได้ว่า การปฏิรูปของคณะรัฐประหารที่ประกาศกันมานับตั้งแต่ยึดอำนาจนั้นล้มเหลว

กระบวนการยุติธรรมที่พูดถึงตำรวจในยุครัฐบาล คสช. คงมีเครื่องหมายคำถามอยู่ไม่น้อย ความพยายามในการออกหมายจับ เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมือง คนที่เดินทางไปทุกแห่งที่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ไปปฏิบัติภารกิจเพื่อมอบนาฬิกาข้อมือให้ ด้วยเหตุผลว่ารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะได้ไม่ต้องไปเที่ยวขอยืมใครให้อับอาย

โดยการไปขอศาลอาญาออกหมายจับในครั้งนี้นำโดย พลตำรวจเอกศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟซบุ๊กของเอกชัยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายลามกอนาจาร จึงมีคำถามตามมาว่ามันเป็นคดีใหญ่โตถึงขนาดที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องเดินทางมายื่นร้องขอต่อศาลให้ออกหมายจับด้วยตนเองเลยหรือ

บางครั้งคนที่เป็นนายอาจจะไม่ได้ต้องการให้ทำอะไรประเจิดประเจ้อ แต่บังเอิญว่าผู้ใต้บังคับบัญชาอยากจะเอาใจหรือภาษาบ้านๆ คือสอพลอนั่นเอง ดีที่ว่าคดีนี้ศาลพิจารณาคำร้องแล้วเห็นควรยกคำร้องขอออกหมายจับเนื่องจากในชั้นนี้เห็นว่า ควรมีการออกหมายเรียกเอกชัยมารับทราบข้อกล่าวหาตามขั้นตอนก่อนที่จะมีการออกหมายจับ จากกรณีนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมที่ต้องปฏิรูปกระมัง การอ้างเรื่องของกฎหมายนั้น ไม่ใช่แค่การต้องปฏิบัติตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายก็อย่าใช้ไปในทางที่จะเล่นงานหรือทำลายคนหรือพวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามด้วย

Back to top button