จีน กับ ลัทธิพาณิชย์นิยมพลวัต2015

จีนเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจใหม่ล่าสุดที่เป็นประเด็นน่าติดตามอย่างมาก ว่า ลัทธิพาณิชย์นิยม หรือ Mercantilism ที่เคยถูกโจมตีและยกเลิกไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กำลังจะฟื้นกลับคืนมามีอิทธิพลอีกครั้งหรือไม่


จีนเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจใหม่ล่าสุดที่เป็นประเด็นน่าติดตามอย่างมาก ว่า ลัทธิพาณิชย์นิยม หรือ Mercantilism ที่เคยถูกโจมตีและยกเลิกไปในคริสต์ศตวรรษที่ 17 กำลังจะฟื้นกลับคืนมามีอิทธิพลอีกครั้งหรือไม่

แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพิ่งจะผ่านมติของสภาแห่งรัฐจีน โดยมีชื่อเรียกว่าแผนแม่บทระดับชาติที่มุ่งเน้นพัฒนาการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีชื่อว่า “Made in China 2025” มีระยะเวลาของแผน 10 ปี โดยช่วงเวลาของแผนแรก ตั้งเป้าไว้ว่าจะปฏิรูปและเปลี่ยนโฉมจีนจากยักษ์ใหญ่ด้านการผลิต ไปสู่การเป็นมหาอำนาจในการผลิตระดับโลก

แผนระยะเวลา 10 ปีดังกล่าว จะดำเนินตามแผนการอื่นอีก 2 แผน เพื่อพลิกโฉมจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจด้านการผลิตชั้นนำในปี 2592 (ค.ศ. 2025) ซึ่งเป็นปีครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยกำหนดภารกิจ 9 ประการที่ได้รับการระบุว่า มีความสำคัญดังนี้คือ

–          การยกระดับนวัตกรรมด้านการผลิต

–          การผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับอุตสาหกรรม

–          การเสริมความแข็งแกร่งให้เขตอุตสาหกรรม

–          การส่งเสริมแบรนด์สัญชาติจีน

–          การดำเนินการผลิตสีเขียว

–          การส่งเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม 10 ประเภท

–          การเดินหน้าปรับโครงสร้างของภาคการผลิต

–          การสนับสนุนการผลิตที่เน้นด้านบริการ และอุตสาหกรรมบริการ ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต และการผลิตในระดับนานาชาติ

นักวิเคราะห์บางคนวิจารณ์ว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ช่างละม้ายกับตำรา ”ความสามารถในการแข่งขัน” ของไมเคิล พอร์เตอร์ นักคิดเชิงกลยุทธ์ธุรกิจอเมริกันยิ่งนัก เพราะนี่คือการสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน” อย่างเฉพาะเจาะจงนั่นเอง แต่ก็มีอีกหลายคนไม่เห็นด้วย บอกว่านี่คือเวอร์ชั่นใหม่ของแผนยกระดับอุตสาหกรรมของเยอรมนี ที่เรียกว่าIndustrie 4.0 ชนิดที่เรียกว่า ก๊อปปี้มาเลยทีเดียว

ภาคอุตสาหกรรม 10 ประเภทที่ระบุเอาไว้ในแผนนี้ ประกอบด้วย เทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีการผลิตระดับสูง อุปกรณ์ทางด้านอวกาศและการบิน วิศวกรรมทางด้านสมุทรศาสตร์และการขนส่งทางเรือ ระบบขนส่งแบบรางที่ทันสมัย ธุรกิจประหยัดพลังงานและยานพาหนะประหยัดพลังงาน อุปกรณ์ด้านพลังงาน อุปกรณ์การผลิตสมัยใหม่ อุตสาหกรรมยาและไบโอเทค อุปกรณ์การแพทย์ที่ล้ำยุค และเครื่องมือจักรกลทางการเกษตร

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีนระบุว่า แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 แตกต่างในสาระจาก Industrie 4.0 ตรงที่ของเยอรมนีนั้นเป็นการร่วมมือ 3 ฝ่าย นับแต่ภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคธุรกิจเอกชนอย่างใกล้ชิดเพราะตั้งเป้าแคบกว่า โดยเน้นการยกระดับสมรรถนะของโครงการการผลิตให้เป็นโรงงานในระบบอัตโนมัติทั้งหมด แต่ของจีนตรงกันข้าม เพราะเป็นการยกระดับทั่วทั้งกระบวนการผลิตทั้งหมด

ตามแผนยุทธศาสตร์จีน จะมีการดัดแปลงความสำเร็จตามโมเดลพัฒนาอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สหรัฐ และยุโรปเข้ามาดัดแปลงเป็นโมเดลจีนโดยเฉพาะ  โดยไม่ได้เน้นเฉพาะกระบวนการผลิต แต่มุ่งขยายไปถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างทั่วด้าน

 สำหรับเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุในปี ค.ศ. 2025 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า คือการลดเวลาทำงานของพนักงานลงไป 20% จากปัจจุบัน ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่พูดถึงกันอย่างมากในหมู่นักคิดสังคมนิยมนับแต่สมัยคาร์ล มาร์กซ์ เป็นต้นมา

ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เช่นนี้ จะเห็นได้ชัดว่า ความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ไม่อาจจะแยกจากกันได้ ซึ่งเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ยุทธศาสตร์ ”รัฐกำหนด เอกชนเดินตาม” จะนำไปสู่การรื้อฟื้นแนวคิดว่าด้วยพาณิชย์นิยม ที่ครั้งหนึ่งเคยเฟื่องฟูในยุโรป และถูกโจมตีอย่างมากโดยสำนักอังกฤษยุคอาดัม สมิธ เป็นต้นมา

ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13-16 เป็นช่วงที่การค้าของยุโรปเจริญมาก เกิดมีแนวคิดที่เชื่อว่าประเทศจะเจริญมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ต้องพยายามส่งสินค้าไปขายต่างประเทศมากกว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพราะจะทำให้ทองคำและสินค้าจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศมาก ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองขึ้น เศรษฐกิจจะเจริญตาม ส่งผลให้มีการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น และเชื่อถือว่ารัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาทในการควบคุมและแทรกแซงกิจการทางเศรษฐกิจของประเทศ

ลัทธิพาณิชย์นิยมได้มอบแบบจำลองทางเศรษฐกิจให้รัฐต่างๆ ในทวีปยุโรปได้นำไปปฏิบัตินับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 มาจนถึงคริสต์สตวรรษที่ 18 ซึ่งผลข้างเคียงที่ตามมาคือ การล่าอาณานิคม เพื่อให้เป็นแหล่งหาวัตถุดิบราคาถูกๆ และเป็นตลาดจำหน่ายเครื่องอุปโภคที่มีราคาแพงๆ

ตามแนวคิดดังกล่าว รัฐบาลได้มีบทบาทสำคัญทุกด้านนับแต่ วางกฎเกณฑ์และทำการควบคุมทุกภาคของเศรษฐกิจ ค่าจ้างถูกกำหนดให้ต่ำเข้าไว้เพื่อจะให้รัฐมีกำไรเก็บเข้าคลังหลวง และกระตุ้นให้เกิดลัทธิชาตินิยม  โดยอ้างว่า เพื่อกระตุ้นให้เกิดความขยันขันแข็งในหมู่มวลชนผู้ใช้แรงงานที่เกียจคร้าน

หากถือตามนี้เคร่งครัด นโยบายทางเศรษฐกิจจะต้องอยู่ภายใต้เจตจำนงทางการเมืองของรัฐ

แนวคิดดังกล่าว ถูกสำนักคิดเสรีนิยมนำโดยอาดัม สมิธ ได้ต่อสู้และโต้แย้งว่า มีความผิดพลาด และปฏิเสธศักยภาพของปัจเจกบุคคล  รวมทั้งเป็นต้นธารของสงครามย่อยและสงครามใหญ่กันอย่างแพร่หลายจากจิตใจและวิธีคิดอันคับแคบ ”ได้มากสุด แต่ยอมเสียน้อยสุด”

ยังไม่มีใครรู้ชัดเจนว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะได้ผลมากน้อยเพียงใด แต่ที่แน่นอนก็คือ จากนี้ไป จีนยุคใหม่ ได้เปลี่ยนไปจนถึงกระบวนการขายสินค้าและบริการที่ไม่ซ้ำแบบใครมาก่อน แต่ก็ยังไม่ได้มากเพียงพอที่จะเป็นอิสระจากทุกอย่างได้

 

                                                                

 

 

Back to top button