VTE เนื้อหมูปะเนื้อช้าง
เมื่อยุคทองของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมหมดเสน่ห์ และทำให้ขาดทุน การปรับโมเดลธุรกิจหนีตายของ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE เข้าสู่ธุรกิจพลังงาน จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริหารมองว่าเป็นไปได้...ในฐานะ สิ่งที่ดีสุดในโลกที่เป็นไปได้
แฉทุกวันทันแกมหุ้น
เมื่อยุคทองของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบวิศวกรรมหมดเสน่ห์ และทำให้ขาดทุน การปรับโมเดลธุรกิจหนีตายของ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ VTE เข้าสู่ธุรกิจพลังงาน จึงเป็นทางเลือกที่ผู้บริหารมองว่าเป็นไปได้…ในฐานะ สิ่งที่ดีสุดในโลกที่เป็นไปได้
เพียงแต่อย่างที่ทราบกันดี ธุรกิจพลังงานนั้น เป็นธุรกิจที่เรียกร้องต้องการทุนมหาศาล เพราะเป็น capital intensive…ใครที่มีเงินน้อย อย่าแหยม
หากไม่นับการเพิ่มทุนทุกปี นับตั้งแต่ปี 2558-2560 จนกระทั่งทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพิ่มมากกว่าเท่าตัวจากปี 2557 ก็ถือได้ว่าโมเดลธุรกิจใหม่ที่ซึ่งผันจากผู้รับเหมา ที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ มาเป็นผู้ลงทุนที่ต้องการรายได้สม่ำเสมอ ยังคงดำเนินการไปคืบหน้าตามแผนธุรกิจ มีการเจรจาลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล-โซลาร์ ทั้งในและต่างประเทศ กำลังผลิตรวมกว่า 100 MW แม้ว่าตัวเลขการทำกำไรจะยังคงสลับกับตัวเลขขาดทุนให้ปรากฏอยู่ต่อไป เพราะโครงการใหม่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และรับรู้รายได้ช้ากว่าเงินที่ลงทุนไป
ที่สำคัญสภาพคล่องทางการเงินภายใต้โมเดลธุรกิจใหม่ก็ยังยอบแยบต่อไป…ทำให้ต้องหมุนเงินตัวเป็นเกลียว ในช่วงของการซื้อเวลาเพื่อรอโอกาสในอนาคต
ปลายปี 2560 VTE ตัดใจขายหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงบางส่วนในบริษัทย่อย บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP ให้กับพันธมิตรใหม่อย่าง ECF-QTC จนล่าสุดสัดส่วนที่ VTE ถือหุ้นลงทุนใน GEP เหลือแค่ 12% เท่านั้น ในขณะที่บริษัทย่อยของ ECF บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ถือหุ้นใน GEP มากกว่าถึง 20% และบริษัทย่อยของ QTC อย่าง บริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์ จำกัด (QTCGP) ถือหุ้นถึง 15% ส่วนที่เหลือเป็นการถือหุ้นโดยบริษัทสัญชาติสิงคโปร์อีก 53%
GEP มีใบอนุญาตทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ขนาด 220 เมกะวัตต์ ในเมียนมา โดยตั้งบนพื้นที่รวมขนาด 836 เอเคอร์ (2,115 ไร่) ซึ่งได้รับสิทธิเช่าพื้นที่จากรัฐบาลและบริษัทในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยเมื่อมีการผลิตไฟฟ้าแล้วจะขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE), กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มีระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ 0.1275 USD/kWh ซึ่งการก่อสร้างระยะที่ 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเตรียมรับรู้รายได้ภายในกลางปี 2561 นี้
โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ มินบู ในเมียนมา ถือเป็นเป้าหมายหรือหลักหมุดสำคัญ ที่พันธมิตรหลักนำโดย VTE (ที่เหลือคือ อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค (ECF), คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) และ Planet Energy Holding PTE. Ltd. (PEH)) หมายมั่นปั้นมือว่า ทันทีที่เฟสแรก 50 MW เสร็จแล้วรับรู้รายได้เมื่อใด จะผลักดันเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย เพื่อระดมทุนสร้างเฟสต่อไปทันที ไม่รอช้าให้เสียเวลา
เพียงแต่ก่อนถึงเวลานั้น ต้องหาเงินมาเร่งก่อสร้างให้ได้เสียก่อน เพราะอนาคตของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู เป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 350,000,000 kWh/ปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 217,256 ครัวเรือน สอดคล้องกับความปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้น คาดการณ์อัตราการเติบโตความต้องการการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยถึงร้อยละ 11.7 ต่อปี อีกทั้งการเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าของเมียนมา มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ณ ปี 2558 คาดว่าการพัฒนาด้านพลังงานเพื่อให้การเข้าถึงไฟฟ้าของประชาชนที่อัตราการเติบโตดังกล่าวจะทำให้การเข้าถึงการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 87 ภายในปี 2573
ถือเป็นโครงการที่เข้าข่าย “วัวให้น้ำนมทองคำ” ก็คงไม่ผิด
ปฏิบัติการโยกย้ายพอร์ตเงินลงทุน ของ VTE….จึงเข้าใจได้
ล่าสุด VTE รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายหุ้นแบบมีเงื่อนไข ในการขายหุ้นของบริษัท วี.โอ.เน็ต ไบโอดีเซล เอเซีย จำกัด (VON) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า ในสัดส่วน 99% ให้กับ บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN โดยไม่รวมบริษัท วี.โอ.โซล่าร์ จำกัด (VOS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ VON เข้าไปด้วย….จึงเท่ากับ VTE ต้องซื้อหุ้น VOS กลับมาอีก
รายละเอียดของสัญญาซื้อและขายมีดังนี้
– VTE ทำสัญญาขายหุ้นแบบมีเงื่อนไขของบริษัท VON ให้กับ SCN จำนวน 199,996 หุ้น และผู้ถือหุ้นรายอื่นของ VON ขายอีกจำนวน 1 หุ้น รวมทั้งสิ้น 199,997 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 99.99 ในราคาซื้อขายรวม 18,322,107.06 บาท และ SCN รับโอนหนี้ที่บริษัทเป็นเจ้าหนี้ VON มูลค่า 96,077,892.94 บาท รวมมูลค่าการซื้อขายทั้งสิ้นจำนวน 114,400,000 บาท
– VTE ทำการซื้อหุ้นของบริษัท VOS ที่บริษัท VON ถืออยู่จำนวน 99,997 หุ้น หรือคิดเป็น 99.99% ออกมาในราคา 1,000,000 บาทถ้วน
เงินสด 18.32 ล้านบาท VTE ระบุว่า จะนำไปใช้ในการพัฒนาก่อสร้างโครงการธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขนาด 220 MW ที่ดำเนินงานโดย PEG
พร้อมกันนั้น VTE ยังระบุว่า ได้เตรียมยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตรัฐบาลเมียนมาเพื่อเร่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟสให้เร็วขึ้นเป็นภายใน 2-3 ปี จากกำหนดเดิมที่วางไว้ภายใน 4 ปี โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 4 เฟส คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุนราว 1 หมื่นล้านบาท
ปฏิบัติการ “ตัดเนื้อหมู ปะเนื้อช้าง” แม้จะยังไม่เพียงพอ เมื่อเทียบจากความต้องการทุนสำหรับอนาคต แต่งานนี้ผู้บริหารของ VTE อย่างนาย ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการ และกรรมการบริหาร ออกมาระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2561 จะดีกว่าปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะยังมีผลขาดทุนสุทธิ หลังจากที่ปรากฏตัวเลขในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 119.97 ล้านบาท
ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปี 2561 จะมาจากการรับรู้รายได้ของงานรับเหมาก่อสร้างในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ในเมียนมา ประมาณ 2.5 พันล้านบาท/ปี และจะเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการถือหุ้น 12% ในบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้ามินบู หลังโครงการเฟสแรกขนาด 50 เมกะวัตต์ (MW) จะแล้วเสร็จ….ตามสูตร “เรือล่มในหนอง”
ความพยายามหมุนเงินเป็นระวิง ทั้งลดต้นทุนและตัดขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาชำระคืนหนี้ และเป็นทุนในการดำเนินงาน ถือเป็นวิชา “ตัวเบา” ที่ผู้บริหารของ VTE นำมาใช้อย่างสุดฤทธิ์
อย่างน้อยก็รอคอยว่า กระแสเงินสดที่มีเพียงพอจะทำให้กระเสือกกระสนรอ “ผลพวงแห่งความมั่งคั่ง” จะเกิดขึ้นตามมา
คำพูดของผู้บริหาร VTE ที่ว่า “จุดเลวร้ายที่สุดผ่านไปแล้ว” โดยเฉพาะหลังจากปี 2562-2563 จึงน่าพิจารณา…แต่ก็คงต้องถามใจนักลงทุนว่ารอไหวรึป่าว…อีกตั้ง 2-3 ปีแน่ะ
อิ อิ อิ