การตอบโต้ต่อเงินขบถ
สองสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีนี้ เราได้เห็นการแกว่งตัวแรงชนิดน่าสยดสยองของมูลค่าเงินเสมือน "บิตคอยน์" ที่เข้าข่าย "โรลเลอร์ โคสเตอร์" ไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เกิดคำถามว่า นี่คือจุดผกผันของเงินเสมือนอีเล็กทรอนิกส์ที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในปีที่ผ่านมา
พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล
สองสัปดาห์แรกของเดือนมกราคมปีนี้ เราได้เห็นการแกว่งตัวแรงชนิดน่าสยดสยองของมูลค่าเงินเสมือน “บิตคอยน์” ที่เข้าข่าย “โรลเลอร์ โคสเตอร์” ไม่ผิดเพี้ยน ทำให้เกิดคำถามว่า นี่คือจุดผกผันของเงินเสมือนอีเล็กทรอนิกส์ที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในปีที่ผ่านมา
ในเบื้องต้น ข้อสรุปว่าความปั่นป่วนของตลาดบิตคอยน์หรือเงินเสมือน อาจจะนำไปสู่จุดจบในไม่ช้า น่าจะเป็นการรวบรัดเกินไป เพราะกว่าจะพัฒนามาถึงขั้นตอนนี้ เงินเสมือนได้ผ่านการทดสอบมาหลายครั้งแล้วเช่นกัน เพียงแต่ความนิยมที่พุ่งแรงเกินขนาด ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่นำไปสู่ขั้นตอนใหม่ของ “เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้” ตามปกติเท่านั้นเอง
ปัญหาของเงินเสมือน (ที่ผู้เขียนเคยสรุปสั้นๆ ว่าเป็น “ปีศาจแห่งยุคสมัย”) อยู่ที่ว่า ปรัชญารากฐานของเงินเสมือน คือการปฏิเสธอำนาจของธนาคารกลางทุกแห่ง โดยมองว่า จุดยืนทางด้านปรัชญาของธนาคารกลางคือการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง แต่เงินเสมือนต้องการการกระจายอำนาจจากส่วนกลางอย่างถึงที่สุด
ปัญหาของเงินเสมือนในแง่ของรูปธรรมเชิงจารีต มีคำถามว่า เป็นสกุลเงินหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่แน่นอน เนื่องจากขาดหลักการสำคัญของคำว่าเงิน
โดยพื้นฐาน เงิน หมายถึง วัตถุหรือเอกสารใดๆ ที่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าและบริการ และใช้ชำระหนี้ในประเทศหนึ่งๆ หรือในบริบทสังคมเศรษฐกิจหนึ่งๆ ได้ตามกฎหมาย
นั่นหมายความว่า หากปราศจากกฎหมายมารองรับ เงินจะไม่มีความหมายอะไรเลย และไร้ค่าโดยปริยาย ไม่ว่าจะอยู่ในรูปไหน
เท่ากับเงินเกี่ยวข้องโดยตรงและยึดโยงกับอำนาจทางการเมืองของรัฐ ความพยายามใดๆ ที่จะสร้างสกุลเงินหรือเทียบเท่าเงิน อย่างที่เงินเสมือนกำลังพยายามทำอยู่ ย่อมยากกว่าปกติที่จะบรรลุเป้าหมาย เพราะการท้าทายสกุลเงิน “ตามกฎหมาย” ย่อมถูกตีความว่าคือการท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง
หน้าที่หลักโดยทั่วไปของเงิน ถูกจำแนกว่า (1) เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (2) เป็นหน่วยวัดมูลค่า (3) เป็นเครื่องเก็บรักษามูลค่า และ (4) บางครั้งในอดีต เป็นมาตรฐานการชำระหนี้ภายหน้า นั่นหมายความว่า วัตถุหรือเอกสารที่ตรวจสอบได้และปลอดภัยใดๆ ซึ่งสามารถทำหน้าที่เหล่านี้ล้วนเป็นเงินทั้งสิ้น
ประวัติศาสตร์และจารีตของเงินถือกำเนิดขึ้นใช้ในสังคมมนุษย์ นับแต่เงินที่เป็นสิ่งของ (commodity money) จนถึงเงินร่วมสมัย ที่เป็น เงินกระดาษ (fiat money) ซึ่งถูกถือว่า ปราศจากมูลค่าใช้สอยแท้จริงเฉกเช่นสินค้าทางกายภาพ และค่าของเงินกระดาษมาจากการประกาศของรัฐบาลให้เป็นเงินตราที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย นั่นคือ เงินนั้นจะต้องได้รับการยอมรับให้เป็นรูปแบบการแลกเปลี่ยนภายในอาณาเขตของประเทศ กับหนี้สินทั้งหมด ทั้งหนี้สาธารณะและเอกชน
เงินเสมือนที่รวมทั้งบิตคอยน์ (อันเป็นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในยามนี้) ปรากฏตัวในรูปดิจิทัลที่ไร้ตัวตน แต่มีมูลค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ จึงมีฐานะที่แอบอิงเข้ากับเงินทุกสกุลในโลกได้ จุดเด่นข้อนี้ ทำให้บิตคอยน์มีฐานะเทียบเคียงและอาจจะเหนือกว่าค่าดอลลาร์สหรัฐด้วยซ้ำ แต่ก็ยังต้องการการยอมรับตามกฎหมายที่เป็นอุปสรรคอย่างมากในขั้นตอนต่อไป
หัวใจหลักที่ถือเป็นจุดเด่นของบิตคอยน์ที่เปิดช่องในการทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้เงินสด สามารถกระทำได้ผ่านอุปกรณ์พกพาได้ โดยเสียค่าธรรมเนียมต่ำมาก แต่นั่นยังไม่ทำให้บิตคอยน์โด่งดังเท่ากับการที่มันสามารถนำไปเก็งกำไรกันได้ จนกระทั่งวันนี้ค่าของบิตคอยน์พุ่งกระฉูด เพราะคนแห่กันขุด (Mining) กันยกใหญ่
การท้าทายอำนาจธนาคารกลางของเงินเสมือน ทำให้ธนาคารพาณิชย์สำคัญของโลก และบรรดาร้านค้าทั้งหลาย ให้การยอมรับบิตคอยน์ในการทำธุรกรรมปกติต่ำมาก และไม่มีธนาคารไหนในโลกที่รับซื้อขายสกุลเงิน BTC โดยเปิดเผยและเป็นทางการ
ผลจากการตอบโต้ในเชิงปฏิเสธและต่อต้านจากบรรดาธนาคารกลางทั้งทางตรง (ไม่ยอมรับโดยเปิดเผย) และทางอ้อม (ไม่ยอมออกกฎหมายมารองรับ เพื่อให้มีฐานะเป็นเงินเถื่อนยาวนานสุด) ทำให้ขาขึ้นของตลาดเก็งกำไรบิตคอยน์ถูกถ่วงรั้งเอาไว้ และส่งผลต่อการดำรงอยู่ในอนาคตด้วย