พาราสาวะถี

วันนี้รอฟังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ของสนช. ต่อการแถลงผลสรุปผลการพิจารณาทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นร้อนเรื่องการแก้ไขมาตรา 2 ให้การบังคับใช้กฎหมายมีผล 90 วันหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งๆ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา


อรชุน

วันนี้รอฟังคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ของสนช. ต่อการแถลงผลสรุปผลการพิจารณาทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นร้อนเรื่องการแก้ไขมาตรา 2 ให้การบังคับใช้กฎหมายมีผล 90 วันหลังจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งๆ ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.กำหนดให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

เบื้องต้นคำอธิบายจาก ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการฯคือ ไม่ได้มีใบสั่งจากคสช. โดยอ้างว่ากรรมาธิการเห็นว่าคำสั่งของคสช.ที่ 53/2560 กำหนดกระบวนการทางธุรการของพรรคการเมืองที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับคำสั่งดังกล่าว พร้อมกับออกตัวว่า การพิจารณาของกรรมาธิการมีหน้าที่เฉพาะในเรื่องเนื้อหาของกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้พิจารณาเชื่อมโยงกับประเด็นทางการเมืองหรือความมั่นคงแต่อย่างใด

คำถามคือจะมีใครกี่คนที่เชื่อเหตุผลของกรรมาธิการคณะนี้ ไม่มีอะไรซับซ้อน เพราะเหตุผลที่ต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งก็คือการยังไม่พร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ตามคำสัญญาของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้นจะให้ท่านผู้นำออกมาประกาศปาวๆ ก็จะเป็นการกลืนน้ำลายตัวเองและผิดคำสัญญา (อีกแล้ว)

ดังนั้น การยืมมือสนช.โดยผ่านคณะกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จึงเป็นตรรกะที่ท่านผู้นำคิดว่าตัวเองไม่เสียหาย ไม่ได้เสียคำพูด เพราะนี่เป็นการดำเนินการตามอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งก็เป็นคณะที่ผู้นำรัฐประหารตั้งมากับมือ แต่อย่างน้อยก็พอจะอ้อมแอ้มอ้างกับใครที่ถามได้ว่า นายกฯไม่อาจอยู่เหนือกฎหมายได้

แม้อยากจะจัดเลือกตั้งตามสัญญาใจจะขาดแต่เมื่อสนช.เห็นเป็นอย่างนี้แล้วก็ต้องว่ากันไปตามนั้น ถ้าถามว่าเป็นการเล่นละครก็ต้องบอกว่าตีบทไม่แตก ส่วนที่โฆษกกรรมาธิการอ้างว่าต้องรอดูมติของที่ประชุมสนช.เสียก่อน ลองได้เดินเกมกันมาถึงขนาดนี้แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องไปคาดหวังว่าผลของที่ประชุมจะออกมาอย่างไร หากจะบอกว่ารัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเผด็จการรัฐสภา แล้วรัฐสภาที่มาจากเผด็จการผลของสิ่งที่ผู้มีอำนาจอยากจะได้ มันจะดีเด่ไปกว่าสภาที่มาจากตัวแทนประชาชนได้อย่างไร

สรุปคือการเคลื่อนไหวของกรรมาธิการสนช. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีอำนาจที่ไม่พร้อมจะจัดการเลือกตั้ง จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม แม้จะงัดมุกสารพัดออกมาเล่นแล้ว แต่อารมณ์ของคนส่วนใหญ่ไม่คล้อยตาม จึงต้องเดินเกมแยบยลด้วยการใช้ร่างกฎหมายที่อ้างว่ายกมือผ่านโดยสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่แต่งตั้งมาโดยอำนาจจากปลายกระบอกปืน

การดำเนินการโดยใช้เสียงของรัฐสภาเผด็จการนั้น องอาจ คล้ามไพบูลย์ มองไว้น่าสนใจ  การดำเนินการขยายเวลาของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อมีความชัดเจนว่าต้องจัดตั้งพรรคใหม่และดูดนักการเมืองจากพรรคเก่า การเคลื่อนไหวเพื่อบอนไซพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่จึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มจากการไม่ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ถึงแม้จะมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาใช้หลายเดือนแล้ว จากนั้นก็ใช้มาตรา 44 รีเซตสมาชิกพรรคการเมืองเก่าออกเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยากและขัดรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดก็มาถึงการขยายเวลาการเลือกตั้งส.ส.ยืดออกไปอีก 90 วัน ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพรรคใหม่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ

อย่างไรก็ตาม ข้อห่วงใยขององอาจที่ทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนเห็นว่าเป็นความรู้สึกที่ช้าไปสำหรับพลพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเพิ่งมาตาสว่างเห็นว่าผู้มีอำนาจไม่ได้เข้ามาเป็นกรรมการอย่างที่กล่าวอ้าง แต่กระโจนเข้าสู่สนามเป็นผู้เล่นอย่างเต็มตัว มิเช่นนั้น คงไม่ประกาศเป็นนักการเมืองเต็มตัว แบบไม่มีเหนียมกันเลยทีเดียว

เมื่อผู้มีอำนาจที่เคยแสดงตัวว่าเป็นกรรมการแล้วเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เล่นในสนามเสียเอง แถมยังใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา ไปตามอำเภอใจ ไม่ต้องพูดถึงว่าการเข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง กระบวนการที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ เพราะความเป็นจริงรูปรอยของส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง  การเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก เหล่านี้คือแผนการสืบทอดอำนาจที่วางกันไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

เหมือนที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า เป็นการสมคบคิดกันให้รัฐบาลและองคาพยพในแม่น้ำทั้ง 5 สายอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ดังที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เคยให้สัมภาษณ์หลังร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างถูกล้มไปว่า เขาต้องการอยู่ยาว และเป็นผลโดยตรงทำให้การปลดล็อคทางการเมืองของคสช.ต้องเลื่อนออกไป เพราะในคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ระบุให้คสช.พิจารณาปลดล็อคเมื่อกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้

ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการแกล้งโง่หรือถูกอำนาจที่รออยู่ข้างหน้ามันบังตา กับการที่กรรมาธิการบอกว่าการยืดเวลาออกไปครั้งนี้ ไม่มีใครได้ประโยชน์ ทั้งๆ ที่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์เต็มๆ คือสนช.นั่นเอง เนื่องจากหากจัดการเลือกตั้งตามโรดแมปหลังจากที่มีสภาชุดใหม่แล้ว เหล่าสมาชิกรัฐสภาเผด็จการจะต้องพ้นจากตำแหน่งทันที

ด้วยเหตุนี้ นิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเห็นว่า สิ่งที่กรรมาธิการดำเนินการ ผิดในเชิงผลประโยชน์ขัดกัน เพราะการขยายเวลาออกไปนานเท่าใดก็จะส่งผลให้การดำรงตำแน่งของสนช.ยืดออกไปอีก จึงอาจถูกกล่าวหาว่าหวังสร้างผลงานเพื่อให้พวกตนเองได้กลับมามีอำนาจต่อไปได้ และตนมองว่าผิดต่อคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 ที่ระบุไว้ถึงเจตนารมณ์ของคำสั่งในข้อนี้ ที่ต้องการให้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาถึงนาทีนี้คงไม่ต้องไปถามใครฝ่ายไหนในองคาพยพแห่งอำนาจ เพราะทั้งหมดจะถูกโยนมายังรัฐสภาเผด็จการ ซึ่งคนเหล่านั้นก็ไม่ได้อินังขังขอบใดๆ ต่อข้อครหา เพราะตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ปฏิบัติหน้าที่ ไม่เคยมีครั้งใดที่จะมีเสียงคัดค้านหรือการอภิปรายเพื่อกระตุกเตือนให้ฝ่ายบริหารสำนึกในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะกรณีนาฬิกาหรูที่เป็นข่าวอยู่เวลานี้ ถ้าเป็นสภาปกติคงได้เปิดซักฟอกกันไปแล้ว เมื่อมีความเป็นเผด็จการเสียแล้ว เสียงทักท้วงใดๆ จึงไม่มีความหมาย

Back to top button