ROH ตำนานใหม่ใต้ GRAND

เมื่อวานนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้านธุรกิจโรงแรมอย่าง บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะเข้าซื้อหุ้น บริษัท โรงแรม รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จากบริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รวม 68% ของหุ้นทั้งหมด  คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.37 พันล้านบาท รายละเอียดเท่าที่เปิดเผยออกมาระบุว่า


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

เมื่อวานนี้ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้านธุรกิจโรงแรมอย่าง บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAND ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า จะเข้าซื้อหุ้น บริษัท โรงแรม รอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH จากบริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI รวม 68% ของหุ้นทั้งหมด  คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.37 พันล้านบาท รายละเอียดเท่าที่เปิดเผยออกมาระบุว่า

  • เป็นการซื้อ 2 ส่วน ส่วนแรกซื้อจาก จากบริษัท สตาร์วูด โฮเต็ล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ต้องการายออกมาด้วยวิธีการเปิดประมูลจำนวน 44% ในราคาหุ้นละ 35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.44 พันล้านบาท
  • ส่วนที่สอง ซื้อจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ  THAI จำนวน 24% ที่ราคาหุ้นละ 41 บาท รวมเป็นเงิน 922.5 ล้านบาท
  • คาดว่าการรับโอนหุ้นและชำระราคาค่าหุ้นดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายหลังวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทครั้งที่ 1/2561
  • หลังจากการซื้อหุ้นจากผู้ขายทั้ง 2 รายแล้ว GRAND จะทำเทนเดอร์ฯ ROH ที่หุ้นละ 41 บาท …สูงกว่าที่ซื้อมาจากผู้ขายรายแรก แต่เท่ากับผู้ขายรายหลัง
  • เป้าหมายในการซื้อกิจการ ROH ครั้งนี้ มีคำอธิบายจาก GRAND ว่า จะช่วยขยายฐานลูกค้า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจโรงแรมกับรายอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการซื้อกิจการครั้งนี้ จะมาจาก 3 แหล่งคือ เงินทุนหมุนเวียนของ GRAND เงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน GRAND ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท และเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

การซื้อขายกิจการครั้งนี้จบลงด้วยความสมปรารถนา ทั้งของทางผู้ขายเพราะเป็นการขายได้เงินสดในยามที่ธุรกิจของ ROH ยังมีกำไรต่อเนื่อง ในขณะที่คนซื้อก็เชื่อว่าได้ของราคาถูกไปต่อยอดธุรกิจ เพราะก่อนการเข้าซื้อกิจการนี้ GRAND มีตัวเลขการดำเนินงานขาดทุนอยู่

ที่สำคัญ หนึ่งในผู้ถือหุ้นสำคัญของ GRAND คือ กลุ่ม พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ที่มีนายชายนิด อรรถญาณสกุล กุมบังเหียนบริหารงาน ก็จะสามารถต่อเติมพอร์ตสินค้าให้ครบ (โดยทั่วไปจะมี 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มอาคารสำนักงาน  และกลุ่มโรงแรม-อพาร์ตเมนต์ให้เช่า)

ในอดีต PF มีความคุ้นเคยกับการทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ (เพื่อขาย) ที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ จากการที่มีแลนด์แบงก์ค่อนข้างมากในเขตนนทบุรี แต่ต้องดิ้นรนหาธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาส

3  ปีก่อน กลุ่ม PF ของนายชายนิดตัดสินใจเปิดเกมเจาะเข้าทำธุรกิจในย่าน “ไข่แดง” ของกทม.ผ่านเกมซื้อขายกิจการ แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่น่าพึงพอใจเพราะว่า แม้จะมีโครงสร้างรายได้จากการ “ขาย” และ “เช่า” ผสมกันมากขึ้น แต่ผลตอบแทนทางการเงิน ยังไม่น่าพึงพอใจ ต้องอาศัยกำไรพิเศษมาช่วยในบางปีเพื่อแก้ขัด

การสร้างโอกาสให้บริษัทในเครือข่ายหารายได้ที่สม่ำเสมอ หรือ recurring income ในทรัพย์สินอย่าง ROH จึงมีความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม

ปัจจุบัน ROH ดำเนินธุรกิจหลักในการประกอบกิจการโรงแรมประเภทโรงแรมชั้นหนึ่ง โดยมีสินทรัพย์หลักคือโรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเต็ล แอนด์ ทาวเวอร์ โดยถือกรรมสิทธิ์บนที่ดินรวมถึงโรงแรมระดับ 4 ดาว ตั้งอยู่ในทำเลที่ตั้งเชิงกลยุทธ์ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา และมีห้องพักรับแขกทั้งสิ้น 726 ห้อง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดย ROH  ได้ทำสัญญาการดำเนินงานกับบริษัท เชอราตัน โอเวอร์ซีส์ แมนเนจเม็นท์ คอร์ปอเรชั่น แห่งสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ ROH มีเงินลงทุนในบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทย รอยัล ออคิด เรียล เอซเทท จำกัด ซึ่งมีกิจการให้เช่าที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ และบริษัท เชอราตัน รอยัล ออคิด จำกัด ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการ โดย ROH ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 99.99% และ 51% ตามลำดับ

นายชายนิด (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PF) ในฐานะกรรมการ GRAND เปิดเผยว่า เล็งเห็นโอกาสการเติบโตของธุรกิจ เพราะ ROH บริหารโรงแรมที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีทำเลจำกัด และส่วนใหญ่จะไม่มีการประกาศขายกัน  เมื่อมีการประกาศขายทำให้บริษัทดำเนินการเข้าซื้อทันที โดยมองว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดี

หลังจากธุรกรรมการซื้อขายแล้วเสร็จ จะมีการปรับปรุงโรงแรมดังกล่าว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในแง่ของรายได้จากห้องพัก ห้องอาหาร ห้องประชุม ให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีแผนนำ ROH ออกจากตลาดฯ แต่จะทำให้ GRAND มีจำนวนห้องในธุรกิจโรงแรมภายใต้การบริหารเพิ่มอีกเท่าตัว หรือเพิ่มเป็นกว่า 1,600 ห้อง จากปัจจุบันบริหารโรงแรมรวมประมาณ 655 ห้อง และ GRAND ยังมีแผนเปิด “ไฮแอท รีเจนซี่” สุขุมวิท กรุงเทพฯ อีกประมาณ 273 ห้อง

หากแผนนี้ไม่มีผิดพลาด…อนาคต รายได้จากธุรกิจโรงแรมของ GRAND จะเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากปัจจุบันที่มีรายได้มากกว่า 1,000 ล้านบาท

การเปลี่ยนมือแบบ “สมบัติผลัดกันชม” จึงเป็นมากกว่าเรื่อง วิน-วิน แบบทางใครทางมัน…ตามปกติ

อิ อิ อิ

Back to top button