ไม้อ่อน และไม้แข็งของทรัมป์

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ยังคง "แย่งซีนสำคัญ" จากชาวโลกต่อไปได้อีกครั้ง  รวมทั้งล่าสุดจากการปราศรัยในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 


พลวัตปี 2018 : วิษณุ โชลิตกุล

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ยังคง “แย่งซีนสำคัญ” จากชาวโลกต่อไปได้อีกครั้ง  รวมทั้งล่าสุดจากการปราศรัยในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ ได้โหมโรงสร้างปรากฏการณ์ก่อน เมื่อได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เขาสนับสนุนการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และเชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นอีก สวนทางกับนายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯได้กล่าวในเชิงสนับสนุนการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ก่อนหน้า และทรัมป์ยังอ้างว่า สื่อกับตลาดอาจตีความคำพูดที่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะสื่อ

ที่ดาวอส แม้คำคุยโอ่ในความสำเร็จของเขาในการฟื้นคืนการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเกินจริงจนถูกจับได้ แต่ความชัดเจนที่เขาได้ระบุว่า ไม่ต้องการสงครามการค้ากับชาวโลก เพราะคำพูดอ้อมที่ว่า “อเมริกามาก่อน ไม่ใช่อเมริกาตามลำพัง” ถือเป็นกุญแจบ่งชี้นโยบายการค้าของสหรัฐฯยุคทรัมป์ได้ชัดเจนสุด เท่าที่เคยกล่าวมา

ที่สำคัญ มันหักล้างความหวาดวิตกลงไปได้เยอะ เพราะก่อนหน้านี้ไม่นาน คำว่า “สงครามการค้า” ที่จุดมาจากปากของรัฐมนตรีพาณิชย์ของอเมริกา นายวิลเบอร์ รอสส์ เคยบอกนักข่าวว่าความจริงสงครามการค้าได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว ที่ต่างกันในอดีตก็คือว่านักรบการค้าของสหรัฐฯ เพิ่งจะเข้าประจำการอย่างเอาการเอางานเร็วๆ นี้เอง แถมยังเตือนให้ชาวโลกเตรียมตั้งรับให้ดี เพราะทรัมป์จะประกาศมาตรการใหม่ๆ เรื่องการค้าของสหรัฐฯกับประเทศอื่นๆ อีกอย่างแน่นอน หลังจากที่ประกาศเก็บภาษีเพิ่มแผงพลังงานแสงแดดหรือ solar panels และเครื่องซักผ้าเพื่อสกัดสินค้าจากต่างชาติเข้ามาแข่งขันในอเมริกา ที่มีรูปแบบลงรายละเอียดเป็นสินค้าแต่ละรายการอย่างนี้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตอบโต้จากประเทศอื่นๆ อย่างแน่นอน

ท่าทีของทรัมป์ระบุว่า สหรัฐฯต้องการการค้าที่เป็นธรรม ไม่ใช่การสร้างกำแพงการค้า อาจจะช่วยให้คลายกังวลลงไปได้มาก แต่คำถามก็ยังคงเดิมต่อไปว่า คำพูดและการกระทำขัดแย้งกันเองแค่ไหน

ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการค้าเป็นส่วนสำคัญในนโยบายหลัก ที่ทรัมป์หาเสียงไว้ว่า จะทบทวน ยกเลิกนโยบายการค้าเสรี ที่เป็นหัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯมาทุกยุคทุกสมัย หันมาให้ความสำคัญกับ การลงทุน การจ้างงาน การค้าในประเทศ เพราะการเปิดกว้าง ทลายพรมแดนทางเศรษฐกิจ ทำให้สหรัฐอเมริกา พ่ายแพ้ ต่อ จีน ญี่ปุ่น และประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

คำพูดดังกล่าว ถูกแปรเป็นการกระทำ โดยที่หลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน ทรัมป์ ประกาศให้ สหรัฐฯ ถอนตัวออกจาก ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ซึ่งประธานาธิบดีคนก่อน บารัค โอบามา เป็นผู้ผลักดันให้เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ทรัมป์และทำเนียบขาว ยังจะให้มีการเจรจา เขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA กับ แคนาดา และเม็กซิโกกันใหม่ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอย่างใด

ปีนี้ อันเป็นปีที่สองในทำเนียบขาวของทรัมป์ เขาก็ประเดิมแต่ต้นปี ด้วยการจรดปากกา ลงนามในคำสั่ง ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า เครื่องซักผ้าขนาดใหญ่ และแผงโซลาเซลล์ มีผลตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ เพื่อปกป้อง ผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา ที่ไม่สามารถแข่งขันกับเครื่องซักผ้า จากเกาหลีใต้ และแผงโซลาเซลล์ของตน ที่มีราคาถูกกว่าได้

การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการประกาศสงครามการค้ากับจีน และชาติเอเชียอื่นๆ โดยประเทศที่ตกเป็นเป้าอย่างจีน และเกาหลีใต้ ก็ตอบโต้ว่า จะฟ้ององค์การค้าโลก หรือ WTO เพราะเป็นการกีดกันการแข่งขันที่เป็นธรรม ขัดต่อกฎระเบียบขององค์การค้าโลก ที่สมาชิกต้องปฏิบัติตาม

ท่าทีที่เปลี่ยนไปมาเอาแน่ไม่ได้ของทรัมป์ อยู่บนพื้นฐานสำคัญ 2 ประการคือ ด้านหนึ่งเป็นการประกาศ “ไม้แข็ง” เพื่อจะให้คนอเมริกันเห็นว่า ทรัมป์และทีมงานกำลังจะทำสิ่งที่ได้สัญญาไว้กับชาวอเมริกัน  ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ใช้ “ไม้อ่อน” เพื่อระมัดระวังไม่ให้ชาติคู่ค้าสำคัญในเอเชียและยุโรปมองว่านี่คือการเริ่มต้นสงครามการค้า ทำให้สถานการณ์เลวลง

นโยบายหรือมาตรการ 2 หน้าทางการค้าของทรัมป์เช่นนี้ สะท้อนว่า “ไม้แข็ง” คือยุทธศาสตร์ และ “ไม้อ่อน” คือยุทธวิธี เป็นสิ่งควบคู่กันไปเช่นนี้

การที่ทรัมป์นำอเมริกา “ไม้อ่อน” มาใช้ที่ดาวอสสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อีกไม่ช้านาน มาตรการ “ไม้แข็ง” ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นมาอีก โดยที่ทรัมป์และทีมงาน จะมีคำแก้ต่างที่สมเหตุสมผลไว้ล่วงหน้าเสมอ

ยุทธศาสตร์ “ไม้แข็ง” และยุทธวิธี “ไม้อ่อน” เช่นนี้ หากคู่ค้าของอเมริการู้ทัน ก็คงไม่ปวดหัวอะไรกันมากมาย แต่สามารถหาประโยชน์จากทรัมป์และพวกได้เช่นกัน โดยไม่ต้องตกเป็นเบี้ยล่าง

Back to top button