PTTEP ราคาเท่าใด ถึงเรียกว่าแพง

งบการเงินสิ้นงวดปี 2560 ของบริษัทหลักของกลุ่ม ปตท. อย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่ประกาศเร็วเกินคาด นอกจากสร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ ให้ตลาดแล้ว......ยังทำให้เกิดคำถามตามมา 2 ข้อ 


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

งบการเงินสิ้นงวดปี 2560 ของบริษัทหลักของกลุ่ม ปตท. อย่างบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่ประกาศเร็วเกินคาด นอกจากสร้างเซอร์ไพรส์สุดๆ ให้ตลาดแล้ว……ยังทำให้เกิดคำถามตามมา 2 ข้อ 

– กำไรสุทธิปี 60 เพิ่มขึ้น 60%  ที่ระดับ 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.06 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ในไตรมาสสามมีการตั้งบันทึกการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ (impairment charges) ที่ประกาศออกมาสูงถึง 4.98 หมื่นล้านบาท หรือ 558 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้ส่งผลถึงกำไรสุทธิของบริษัทแม่อย่าง PTT มากขึ้นเท่าใด

– กำไรสุทธิต่อหุ้นที่เพิ่มจากระดับปีก่อน 2.76 บาทเป็น 5.54 บาท หรืออัตราเติบโตของกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 100% เทียบกับพี/อีระดับล่าสุดที่ 46 เท่า (ยังไม่รวมการคำนวณกับงบที่เพิ่งแจ้งใหม่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา) จะทำให้ราคาเป้าหมายของ PTTEP ต้องปรับเพิ่มไปที่เท่าใดถึงจะเป็นราคายุติธรรม

ข้อแรกคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญในที่นี้ เพราะว่ากำไรสุทธิมากขนาดนี้ อย่างไรเสียหุ้นแม่ต้องได้รับเนื้อๆ อยู่แล้ว แต่ข้อหลังนี่สิ…น่าสนใจ เพราะหากคำนวณหาค่า PEG แล้วจะพบว่า น่าจะอยู่ที่ต่ำกว่า 0.4 …เท่านั้น

หมายความว่า ตามทฤษฎี ราคาหุ้นตลาดในปัจจุบันที่ 117.00 บาท ต่ำเกินไป เป้าหมายปีนี้ของ PTTEP น่าจะอยู่ที่เกือบ 200.00 บาทด้วยซ้ำ….หากว่าค่าพี/อีล่วงหน้าของบริษัทจะต่ำกว่า 35 เท่า

แฉขนาดนี้แล้ว จะถามมาว่า ….เชียร์กันเว่อร์หวังเหวิดไปรึเปล่า….พิจารณากันตามเนื้อผ้าเอาเอง

การกลับมาทำกำไรสุดสวยของ PTTEP ปี 2560 ทั้งที่มีตัวเลขบันทึกด้อยค่าของโครงการ มาเรียนา ออยล์ แซนด์ ประเทศแคนาดาที่ทำให้ PTTEP ประกาศ “ปรับแผนลงทุน” (ใช้คำที่ดูดีกว่า “ยกเลิก” หลายเท่า และต่อท้ายว่า “การชะลอการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย” ปนเปื้อนด้วย) และต้องทำให้บันทึกการขาดทุนทางบัญชีจากการด้อยค่ามากถึง 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือโดยประมาณเท่ากับ 1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ตัวเลขขาดทุนสุทธิไตรมาสสามของบริษัทตกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท แล้วชิ่งต่อให้กำไรของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT หดหายไปมากกว่า 7.0 พันล้านบาท (เป็นส่วนหนึ่งของการ “ขาดทุนจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ”) สะท้อนถึงความสามารถทำกำไรที่แข็งแกร่งครั้งใหม่ของบริษัทที่เคยเป็น “ไข่ห่านทองคำ” มายาวนาน มีคำอธิบายน่าสนใจว่าเกิดจากหลายปัจจัยบวก ประกอบด้วย

  • มีกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 100 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3/60
  • ราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีค่าเสื่อมลดลงจำนวน 429 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากการปรับปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น ภาษีเงินได้ลดลงจำนวน 105 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยหลักจากผลกระทบของค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น และรับรู้ขาดทุนจากอนุพันธ์ทางการเงินลดลงจำนวน 90 ล้านดอลลาร์ สามารถหักกลบบันทึกด้อยค่าไตรมาสสามลงไปได้
  • ราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มมากขึ้นเป็น 39.20 ดอลลาร์/บาร์เรล เทียบกับระดับ 35.91 ดอลลาร์/บาร์เรลในปี 2559 ชดเชยการลดลงของปริมาณสินค้าที่ขาย ที่เหลือเฉลี่ยที่ 299,206 บาร์เรล/วัน ลดลงจากระดับ 319,521 บาร์เรล/วันในปีก่อน จากกรณีที่โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (มอนทารา) มีการขายน้ำมันดิบน้อยลง และโครงการสินภูฮ่อม เนื่องจากผู้ซื้อรับซื้อก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่ลดลง
  • ปัจจัยบวกดังกล่าว ผู้บริหารของ PTTEP ยืนยันว่า จะยังมีเพิ่มขึ้นในปีนี้ ด้วยเหตุปัจจัยใหม่ๆ คือ
  • แนวโน้มราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบดูไบในปี 2561 (ที่ใช้อ้างอิง) คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงพอสมควรที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ในด้านปริมาณขายปิโตรเลียม ปตท.สผ.พยายามรักษาระดับการผลิตของโครงการในประเทศไทย
  • ปริมาณการขายเฉลี่ยของไตรมาส 1/61 และทั้งปี 61 จะอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาร์เรล/วัน และ 302,000 บาร์เรล/วัน ตามลำดับ โดยที่มีต้นทุนต่อหน่วย (unit cost) ที่ 30 เหรียญ/บาร์เรล อันเป็นผลมาจากแนวโน้มที่ดีขึ้นของการขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและแนวทางการเพิ่มการผลิตคอนเดนเสทจากโครงการในอ่าวไทยและน้ำมันดิบในโครงการเอส 1
  • ยังคงเดินหน้าศึกษาธุรกิจใหม่ทั้งการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียม ,ธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจร (Gas Value Chain) และศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือก อาทิ พลังงานจากลมและแสงแดด เป็นต้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ..ตัวอย่างเช่น แหล่งอุบลภายใต้โครงการคอนแทร็ค 4, โครงการเวียดนาม บี และ 48/95 และโครงการเวียดนาม 52/97 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลของเวียดนาม, โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งตั้งอยู่บนบกทางทิศตะวันออกของแอลจีเรีย, โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ซึ่งเป็นโครงการก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของโมซัมบิก (ไม่นับรวมการเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุ)
  • ยังคงดำเนินแผนกลยุทธ์ตามแนวทาง “RESET-REFOCUS-RENEW” อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน โดย RESET เป็นการลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันภายใต้วิกฤตราคาน้ำมัน, REFOCUS เน้นขยายการลงทุนและเติบโตในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญและพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง, RENEW พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อศึกษาโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม …รวมทั้ง การบริหารการลงทุนที่สำคัญ (Portfolio Rationalization) ได้แก่ การคัดเลือก Total E&P Myanmar (TOTAL) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมทั่วโลกเข้าเป็นผู้ร่วมทุนในโครงการเมียนมา MD-7 และการคืนแปลงสำรวจของโครงการเมียนมา พีเอสซี จี และอีพี 2 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา

ภาพรวมอนาคตที่มีแต่เชิงบวกมากกว่าลบ…แต่ไม่เลื่อนลอยชนิดฝันกลางวัน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้นักวิเคราะห์หลายสำนัก ร้อนรนปรับราคาเป้าหมายใหม่ 135 บาททันที หลังราคาน้ำมันดิบดูไบมีลุ้นพุ่ง 70 ดอลลาร์

แต่…อย่างที่รู้กัน ราคาเป้าหมายที่ปรับใหม่นี้ ยังไม่ได้รวมงบไตรมาส 4/2560 และอนาคตเชิงบวกปี 2561 ที่กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง

จากนี้ไป การปรับราคาเป้าหมายใหม่ของ PTTEP น่าจะเกิดขึ้นอีก (ไม่ใช่ครั้งเดียว หรือพอเป็นพิธี)…..ให้สมฉายา “พี่เทพ”

หุ้นงบสวยระดับเทพ แต่ราคาต่ำเตี้ยเป็นมนุษย์เดินดิน…ไม่สมราคาเอาเสียเลย

อิ อิ อิ

Back to top button