ดีเกินคาดพลวัต2015

ตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น บ่งบอกว่า ความรู้สึกและข้อเท็จจริง ที่มักปนเปกันไปจนผู้คนสับสนว่า อะไรเป็นจริงหรือมายานั้น เมื่อถึงเวลา ก็แยกกันกระจ่างชัด


ตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในญี่ปุ่น บ่งบอกว่า ความรู้สึกและข้อเท็จจริง ที่มักปนเปกันไปจนผู้คนสับสนว่า อะไรเป็นจริงหรือมายานั้น  เมื่อถึงเวลา ก็แยกกันกระจ่างชัด

ข้อมูลจากไตรมาสแรก ยืนยันว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีญี่ปุ่นที่เคยคาดกันว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย กลับไม่เป็นความจริง

ตัวเลขที่เพิ่งประกาศออกมาว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีอัตราเติบโตมากถึง 0.6% มากกว่าที่นักวิเคราะห์และรัฐบาลญี่ปุ่น เคยประมาณการเอาไว้ว่าจะโตไม่เกิน 0.4% ซึ่งทำให้เมื่อถึงสิ้นปี อัตราการเติบโตจะอยู่ที่ระดับ 2.4% ดีกว่าที่เคยประเมินไว้เดิมที่ระดับ 1.5%

ข้อมูลดังกล่าว สะท้อนว่า ปริวิตกของรัฐบาลอาเบะและผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อ 3 เดือนก่อน ตอนที่จะประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE ด้วยวงเงินมากที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเดือนละ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 1 ปี เป็นความกังวลที่เกินกว่าเหตุ

ข้อมูลระบุชัดเจนว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภคของรัฐบาลเมื่อต้นปี 2557 นั้น แม้จะกระทบรุนแรงในช่วงปีแรก แต่ดูเหมือนว่าคนญี่ปุ่นเริ่มรับได้กับความยากลำบากจากการที่ต้องเสียภาษีแพงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเห็นได้จากตัวเลขการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปีนี้ 0.4% และมีการลงทุนเก็งกำไรหรือลงทุนเปิดกิจการใหม่ 0.8% ซึ่งถือว่ามากกว่าอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 4% จะต่ำกว่าประมาณการที่กำหนดไว้ค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย เพียงแค่โตช้าและมีปัญหาช่วงขาขึ้นเท่านั้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าว สะท้อนว่าการนำเอามาตรการ QE มาใช้เลียนแบบสหรัฐอเมริกาของญี่ปุ่น ด้วยคำอธิบายถึงตัวเลขเศรษฐกิจถดถอย เพื่อเพิ่มปริมาณเงินในตลาด มีวัตถุประสงค์แอบแฝงอยู่อย่างชัดเจน เพื่อหาทางเบี่ยงเบนโดยให้รัฐบาลมาแบกรับภาระทางการเงินของภาคเอกชน

สาระหลักสำคัญของมาตรการ QE คือ การที่โอนย้ายภาระหนี้การเงินของเอกชนไปเป็นหนี้สาธารณะ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ย่อยยับ เริ่มต้นตั้งแต่วิธีการที่เฟดของสหรัฐ พิมพ์ธนบัตรมหาศาลเดือนละ 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แล้วเอาเงินดังกล่าวเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงินตราสารหนี้จากธนาคารพาณิชย์ หรือธุรกิจเอกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศที่ไร้ค่าแล้วเพื่อหยุดยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามจนธุรกิจล่มสลาย

การพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาล พร้อมกับการออกพันธบัตรมาขายธนาคารกลางชาติต่างๆ ทั่วโลก เปิดช่องให้มีการไหลกลับของทุนเก็งกำไรผ่านกองทุน ETFs ในตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ในประเทศต่างๆ แล้วแพร่กระจายความมั่งคั่งจอมปลอมดังกล่าวออกไปยังประเทศอื่นๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ ส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้อย่างมีนัยสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ มาตรการนี้คือการสร้างศักยภาพใหม่ในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศที่มีคุณค่าสูง เพราะค่าเงินจะต่ำลงจากปริมาณเงินที่ท่วมตลาด

การเพิ่มปริมาณเงิน และเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ อันเป็นไปตามกรอบของเศรษฐศาสตร์เคนส์เซียนอย่างนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นเคยกระทำมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 2001-2006 ซึ่งลงเอยด้วยผลลัพธ์ใกล้เคียงกัน คือ ทำให้ค่าเงินถดถอยลงไป โดยไม่ต้องใช้นโยบายดอกเบี้ย ซึ่งทำไม่ได้อยู่แล้วอัตราดอกเบี้ยต่ำติดพื้นอยู่แล้ว

เงินเยนที่ถดถอยลง ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นมายาวนานมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น แม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ธุรกิจส่งออกของญี่ปุ่นจำนวนมาก เริ่มประสบปัญหาด้านนวัตกรรมที่เริ่มมีคู่แข่งทัดเทียมมากขึ้น ต้องอาศัยความได้เปรียบของค่าเงินมาช่วยมากขึ้นในการกระตุ้นส่วนแบ่งทางการตลาดในโลก

แม้ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เกิดจากมาตรการ QE ที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน แต่เพียงแค่เศรษฐกิจดูดีกว่าคาด ก็ทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ และทำให้บรรยากาศการซื้อขายของตลาดภายในญี่ปุ่นคึกคักมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังหันรีหันขวางกับการปรับโครงสร้างเพื่อหาธุรกิจใหม่แห่งอนาคต เพื่อพลิกฟื้นกำไรให้กลับมาแข็งแกร่ง หลังจากที่เริ่มมีปัญหาขาดทุนหรือกำไรถดถอยลงตามลำดับ

ที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลอาเบะแข็งแกร่งในเก้าอี้แห่งอำนาจมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้คนลืมเรื่องหนี้สาธารณะที่มากเกือบ 2 เท่าของจีดีพีต่อปีไปค่อนข้างมาก หากไม่เพราะมีเรื่องอื้อฉาวเข้ามาแทรกเสียก่อน

 

Back to top button