ไทยพาณิชย์
เรื่องของธนาคารไทยพาณิชย์กำลังอยู่ในความสนใจ ยุทธศาสตร์ธุรกิจออกมาใหม่ที่เรียกว่า “กลับหัวตีลังกา” กำลังถูกตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคารแห่งนี้ ที่จริงแล้ว การขยับตัวอีกครั้งของไทยพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร
เรื่องของธนาคารไทยพาณิชย์กำลังอยู่ในความสนใจ
ยุทธศาสตร์ธุรกิจออกมาใหม่ที่เรียกว่า “กลับหัวตีลังกา” กำลังถูกตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคารแห่งนี้
ที่จริงแล้ว การขยับตัวอีกครั้งของไทยพาณิชย์ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น
หากจำกันได้ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ซีอีโอของแบงก์ไทยพาณิชย์ ออกมาพูดเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อต้นปี 2560 แล้ว
และคุณอาทิตย์ กับฝ่ายบริหาร ก็มีการทำความเข้าใจกับพนักงานในเรื่องนี้เป็นขั้นตอนแล้วด้วย
ทุกคนต่างรับทราบดีว่า สาขาธนาคารจะต้องค่อยๆ ลดจำนวนลง
พนักงานที่มีอยู่กว่า 2.7 หมื่นคนนั้น
ก็ต้องปรับลดลงเหลือเพียง 1.5 หมื่นคน
พนักงานที่ลดลง ไทยพาณิชย์ไม่ได้ใช้วิธีการปลด
ทว่า กลับจะใช้วิธีเมื่อมีพนักงานลาออก ก็จะไม่ได้รับเพิ่ม หรือเข้าไปแทนคนเก่า
ส่วนพนักงานเก่าที่ทำงานอยู่ ก็จะมีการจัดให้รับผิดชอบกับงานที่เหมาะสมกับตนเองต่อไป
เราคนภายนอกฟังแล้ว ก็อาจจะดูฝุ่นตลบ
แต่เรื่องนี้คุณอาทิตย์ได้เคยอธิบายให้ฟังแล้วว่า จะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีเป้าหมายจะต้องทำให้สำเร็จในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ไม่ใช่คิดวันนี้ และพรุ่งนี้ หรือปีถัดไปจะต้องเสร็จหรือให้บรรลุผล
ว่ากันว่า “ธนาคาร” เป็นงานที่คนในอยากออก และคนนอกอยากเข้า
มีรุ่นน้องที่รู้จักกันครับ เธอทำงานอยู่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง
และเพิ่งจะเข้าไปทำงานได้เพียง 2 ปี ก็อยากจะ “ลาออก” แล้ว
เหตุผลก็คือ “น่าเบื่อ” และรายได้นั้น ไม่ได้มีรายได้ดีอย่างที่คาดหวัง หรือมองจากข้างนอกเข้าไป ทำให้มีการเทิร์นโอเวอร์ของพนักงานค่อนข้างสูง
ไทยพาณิชย์นั้น มีการปรับตัวเองมาเป็นลำดับ
นอกจากจะเป็นธนาคารแห่งแรกที่นำ “ตู้เอทีเอ็ม” มาใช้
ก็ยังมีการปรับใหญ่ให้กับตนเองในช่วงที่ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” ที่ย้ายจากยูนิลีเวอร์ เข้ามาทำงาน และขึ้นมาเป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่
เป้าหมายในขณะนั้นของไทยพาณิชย์คือ รุกสินเชื่อรายย่อยหนักขึ้น
การ “รี-แบรนดิ้ง” จึงเป็นเรื่องสำคัญ
เราจะเห็นไทยพาณิชย์ทำเรื่อง “การรับรู้แบรนด์” หรือ Brand Awareness เยอะมาก
สีสันต้องสะดุดตา การตลาดต้องสะดุดใจ มีสินค้าที่ตรงกับความต้องการลูกค้า
ในยุคของคุณกรรณิกา นอกจากเรื่องของการตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เธอยังวางเป้าหมายการเป็นธนาคารที่มีอัตราผลกำไรสุทธิมากสุด
ในยุคของคุณอาทิตย์ มองว่า การมีกำไรมากสุด อาจไม่ได้ยั่งยืนกว่าการเป็นธนาคารที่คนชื่นชมและอยากเข้าใช้มากสุด
และกำไรจะตามมาในภายหลัง
วิธีการทำงาน หรือการปรับใหญ่อีกครั้งของไทยพาณิชย์เริ่มจากการเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของธนาคาร
และหลังจากนั้นก็ทำความเข้าใจกับฝ่ายบริหาร
หัวหน้างานฝ่ายต่างๆ และกลุ่มพนักงาน
มีคำกล่าวของคุณอาทิตย์ที่พูดกับหัวหน้าฝ่ายจัดการต่างๆ กว่า 20 คนว่า “เราต้องถามตัวเองว่า จะเป็นคนที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงองค์กร หรือเป็นอุปสรรคขององค์กร”
ส่วนตัวผมชอบกับประโยคหลังนี้
เพราะทำให้มองเห็นว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือกัน
ทุกคนต่างเป็นฟันเฟืองขององค์กรนี้ จะเล็ก จะใหญ่ จะต่างกันแค่ไหน ก็ยังเป็นฟันเฟือง
ฟันเฟืองตัวใดตัวหนึ่งหยุดหมุน กลไกขององค์กรก็จะไม่สมบูรณ์
คุณอาทิตย์ บอกว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับ “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น”
เราไม่รู้ว่ารายได้จะเข้ามาเพิ่มอย่างไร แต่ต้นทุนเราจะต้องต่ำ
และหากเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองในวันนี้
วันหน้าเราก็ต้องเปลี่ยน
“เราต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ก่อนที่จะต้องถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยน” คุณอาทิตย์กล่าวไว้ครับ